บาดเจ็บทางการกีฬา และการปฐมพยาบาล

 

                  

                บาดเจ็บทางการกีฬาเกิดขึ้นได้หลายแบบ บางชนิดนักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนสามารถรักษาพยาบาลกันเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางแพทย์แต่อย่างใด บางชนิดจำเป็นต้องอาศัยแพทย์เป็นผู้บำบัดรักษาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การปฐมพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะแม้จะเป็นบาดเจ็บที่ต้องรับการรักษาจากแพทย์ แต่ถ้าได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีก่อนที่จะมีแพทย์มาดู หรือไปถึงมือแพทย์ก็จะสามารถแบ่งเบาภาระของแพทย์ทำให้การักษาง่ายขึ้น ตรงกันข้าม ถ้าได้รับการปฐมพยาบาลที่ผิดวิธี อาจทำให้บาดเจ็บน้อยกลายเป็นบาดเจ็บมากและรักษาได้ยากขึ้น ดังมีตัวอย่างเสมอในบ้านเรา ซึ่งไม่สามารถจะมีแพทย์ประจำสนามได้ทุกครั้งที่มีการฝึกซ้อมหรือแข่งขัน

                     เพื่อให้นักกีฬาและผู้ฝึกสอนสามารถให้การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องได้เองเมื่อประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ โดยที่ไม่มีแพทย์หรือพยาบาลในที่นั้น จะขอกล่าวถึงบาดเจ็บเฉพาะที่พบบ่อย ๆ และการปฐมพยาบาลเท่าที่สามารถทำได้เองเป็นข้อ ๆ ไป

1. ตะคริว เป็นบาดเจ็บไม่รุนแรงซึ่งนับได้ว่าพบบ่อยที่สุด อาการเกิดจาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากกล้ามเนื้อเองและจากสาเหตุภายนอก กล้ามเนื้อที่ได้รับการฝึกฝนมาดีและมีการเตรียมพร้อมก่อนใช้แรงเพียงพอย่อมไม่เกิดตะคริวได้ง่าย ตรงกันข้ามกล้ามเนื้อที่ฝึกฝนมา ยังไม่ดีพอและเตรียมพร้อมไม่พอจะมีการคั่งของของเสียจากการทำงานในกล้ามเนื้อและการขาดอาหาร ออกซิเจนและเกลือแร่ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดตะคริวได้ง่าย สาเหตุภายนอก ได้แก่ ดินฟ้าอากาศ, ความหนาว, ฝน, ความชื้น ซึ่งมีผลให้กล้ามเนื้ออยู่ในสภาพไม่พร้อม

การปฐมพยาบาล การหดเกร็งของกล้ามเนื้อสามารถคลายออกได้โดยการใช้กำลังยึดกล้ามเนื้อตามทิศทางการทำงานของกล้ามเนื้อ ตัวอย่างกล้ามเนื้อน่องซึ่งทำหน้าที่เหยียดปลายเท้าขณะเป็นตะคริวจะหดเกร็งและทำให้ปลายเท้าเหยียด การใช้กำลังดันปลายเท้าเข้าหาเข่า โดยค่อย ๆ เพิ่มกำลังดัน จะช่วยเหยียดกล้ามเนื้อน่องได้ การใช้ของร้อนประคบหรือถูนวดเบา ๆ จะช่วยให้เลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อคลายและมีกำลังยืดหดได้อีก ถ้าเป็นพร้อมกันหลายแห่ง สาเหตุมักเกิดจากการขาดน้ำ, อาหาร, เกลือแร่ในกล้ามเนื้อ การให้ความอบอุ่นแก่ผู้ป่วย ให้น้ำผสมเกลือแกงดื่มเป็นระยะ ๆ จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายการเกร็งได้เร็วขึ้น

2. ฟกช้ำ เกิดจากการกระทบกระแทกโดยของที่ไม่มีคมทำให้เลือดออกในชั้นใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ หรือลึกลงไปถึงชั้นเยื่อหุ้มกระดูก ระยะแรกเมื่อเลือดยังไม่ซึมออกมาก อาจไม่พบมีการเปลี่ยนสีของผิวหนังหรือบวมขึ้น แต่การปฏิบัติในทันทีที่เห็นมีการกระแทกรุนแรง จะช่วยไม่ให้มีการฟกช้ำเกิดขึ้นมากได้

การปฐมพยาบาล ใช้ของเย็นประคบบริเวณที่ถูกกระแทกอย่าเพิ่งถูนวด ถ้าเป็นบริเวณที่ติดกับกระดูก เช่น หน้าแข้ง, หนังศรีษะ อาจใช้ผ้าพันให้แน่น หลัง 24 ชั่วโมงแล้วจึงใช้ของร้อนและถูนวดเบา ๆ ได้ เพื่อให้เลือดที่คั่งกระจายและดูดซึมกลับได้เร็ว ปัจจุบันมียาเป็นครีมหลายชนิดที่ช่วยให้ฟกช้ำยุบหายได้เร็วขึ้น แต่ควรต้องขอคำแนะนำให้การใช้จากแพทย์เป็นราย ๆ ไป

3. เคล็ด, แพลง เป็นบาดเจ็บที่เกิดตามข้อต่าง ๆ เนื่องจากมีการยึดของเยื่อหุ้มข้อหรือเอ็นบางส่วนของข้อมากเกินไป อาการมากน้อยแล้วแต่ความรุนแรง โดยทั่วไปจะปวดมาก เคลื่อนไหวข้อไม่ได้ถูกจะเจ็บ ต่อมาจะบวม

การปฐมพยาบาล ต้องทำก่อนมีเลือดมาคั่งมากใน 24 ชั่วโมง แรกใช้ความเย็นประคบ แล้วใช้ผ้ายืดพันเพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนไหวได้มาก พยายามอย่าใช้ข้อนั้นอีก หลัง 24 ชั่วโมงไปแล้ว ใช้ความร้อนประคบได้ และนวดประกอบเบา ๆ อาจใช้ยาแบบเดียวกับฟกช้ำ เมื่อยุบบวมแล้วอนุญาตให้ใช้ข้อได้บ้าง แต่ต้องเริ่มใช้เบา ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด

การปฐมพยาบาลที่ผิดวิธและพบเสมอ คือ การใช้ความร้อนประคบและนวดรุนแรงทันที พบว่าบางครั้งทำให้มีเลือดออกมากขึ้นและคั่งในข้อจนถึงกับต้องให้แพทย์เจาะออก ในรายนี้จะรักษาหายช้ากว่าเดิมมาก

บางครั้งการแพลงอาจรุนแรงจนมีการกระชากเอากระดูกชิ้นเล็ก ๆ แตกออกมาด้วย กรณีนี้ต้องส่งให้แพทย์ทำการเอ๊กซเรย์และรักษาให้ถูกต้อง

4. กล้ามเนื้อฉีก เกิดจากยืดตัวมากเกินไปของกล้ามเนื้อเพราะออกแรงเกินกำลัง ทำให้มีการขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อมากน้อยแล้วแต่ความรุนแรง พบมากในนักวิ่งเร็ว ที่บริเวณต้นขา อาการคือ เจ็บปวดบริเวณที่มีการฉีกขาด ระยะแรกอาจพบมีรอยบุ๋มลงไปเนื่องจากกล้ามเนื้อส่วนต้นและปลายของอันที่ขาดหดตัวกลับ (เฉพาะรายที่มีการฉีกขาดมาก) ถูกบริเวณนั้นจะเจ็บมากและไม่สามารถจะใช้กล้ามเนื้อนั้นได้

การปฐมพยาบาล ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่พักกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บให้มากที่สุด ถ้ามีปลาสเตอร์ก็ใช้ติดจากส่วนบนของกล้ามเนื้อมายังส่วนล่างหลาย ๆ ชิ้น แล้วพาดขวางอีกหลาย ๆ ชิ้น แล้วใช้ผ้ายึดรัดอีกชั้นหนึ่ง การใช้ของเย็นประคบใน 24 ชั่วโมงแรก ช่วยไม่ให้มีเลือดออกมากในกล้ามเนื้อ หลังจากนั้นต้องพักการใช้กล้ามเนื้อนั้นจนไม่มีความเจ็บปวดอีก จึงเริ่มให้ออกกำลังเบา ๆ ในระดับที่ไม่มีความเจ็บปวด และค่อย ๆ เพิ่มขึ้น

5. ข้อเคลื่อนหลุด เกิดจากการที่หัวกระดูกหลุดออกจากที่เคยอยู่ อาจเนื่องจากเยื่อหุ้มข้อขาดหรือถูกยืดมากเกินไป อาการส่วนมากพอเห็นได้ คือ มีรูปข้อผิดไป เคลื่อนไหวไม่ได้ ปวดมากอาจมีบวม ขนาดของส่วนที่หลุดอาจเห็นว่ายาวหรือสั้นกว่าเดิม

การปฐมพยาบาล ถ้าเคยพบและจัดให้เข้าที่ได้ ให้ทำทันทีเพราะรอไว้จะปวดมากและทำยาก เพราะกล้ามเนื้อตึง แต่ถ้าไม่เคยทำหรือไม่แน่ใจ ให้ยืดส่วนที่หลุดไว้ในท่าที่เจ็บน้อยที่สุด และไม่ให้มีการเคลื่อนไหว แล้วนำไปหาแพทย์อย่างระมัดระวัง ในการเคลื่อนย้ายถ้าเป็นระยะทางไกลอาจใช้ยาแก้ปวด และใช้น้ำแข็งประคบเพื่อให้เจ็บน้อยลง

6. กระดูกหัก เป็นเรื่องที่ต้องส่งให้แพทย์ การปฐมพยาบาลและเคลื่อนย้ายทำแบบเดียวกับข้อหลุด แต่ถ้ามีกระดูกหักทิ่มออกมานอกเนื้อต้องระวังเป็นพิเศษ ที่บริเวณแผลอย่างให้ถูกต้องของสกปรกถ้ามีเลือดออกมากต้องรีบห้ามเลือดก่อน โดยใช้ชะเนาะรัดเหนือบริเวณที่มีเลือดออก

7. หมดสติเพราะศีรษะกระแทก อันตรายเกิดจากสมองได้รับการกระทบกระเทือนมากน้อยแล้วแต่ความรุนแรง และตำแหน่งที่ถูกกระแทก อาจมากถึงเลือดออกในสมองจนเป็นอันตรายถึงชีวิต

การปฐมพยาบาล ถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวเลย ให้จับนอนราบ หรือครึ่งนั่งครึ่งนอน ตะแคงศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง ห้ามเขย่าหรือสั่นศีรษะผู้ป่วยเป็นอันขาด ถ้าลิ้นตกไปอุดหลอดลม ผู้ป่ายจะหายใจไม่สะดวก ให้ใช้ผ้าจับลิ้นดึงออกมา ถ้าผู้ป่วยฟื้นได้เองและรู้สึกตัวดีอย่าให้เล่นต่อ แต่ให้นอนพักและใช้น้ำแข็งประคบศีรษะไว้ ถ้าผู้ป่วยไม่ฟื้นเอง หรือความจำเลอะเลือน เมื่อฟื้นแล้วให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยให้กระทบกระเทือนน้อยที่สุด

8. เป็นลม นักกีฬาที่แข็งแรงย่อยไม่เป็นลมได้ง่ายถ้าไม่เล่นหักโหมเกินกว่าที่เคยฝึกซ้อม ในกีฬาที่ใช้กำลังสูงสุดในเวลาอันสั้น นักกีฬาอาจเป็นลมเพราะใช้กำลังมากเกินไป อาการที่เกิด คือ ใจสั่น หน้ามืด คลื่นไส้ ตัวเย็น เหงื่อซึม หายใจเร็วไม่สม่ำเสมอ ในกีฬาที่ออกกำลังนาน ๆ ติดต่อกัน นักกีฬาอาจเป็นลมเพราะเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไป ในกรณีนี้อาการจะคล้ายกัน แต่ผู้ป่วยจะตัวแห้งและอาจมีไข้สูง

การปฐมพยาบาล ให้ผู้ป่ายนอนราบ ไม่ต้องหนุนศีรษะ อาจช่วยยกเท้าให้สูงขึ้น คลายเสื้อผ้าออก อย่าให้คนมุงมาก เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับอากาศบริสุทธิ์ การพยายามนวดเฟ้นเขย่าศีรษะ บังคับให้ลืมตา หรือประคองให้เดินทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำได้ดังที่เราเคยเห็นกันในสนามนั้น ไม่ช่วยอะไรผู้ป่วยเลย แต่อาจเป็นอันตรายด้วยซ้ำ ในกรณีที่เกิดการออกกำลังนาน ๆ ผู้ป่วยตัวแห้ง ไข้สูงต้องถอดเสื้อผ้าออก อาจใช้น้ำเย็นประคบศีรษะและเช็ดตามตัวถ้าป่วยกระหายน้ำให้ดื่มประสมเกลือทีละน้อย อย่าให้ครั้งเดียวมาก ๆ เพราะอาจทำให้อาเจียน เมื่อผู้ป่วยหายจากอาการหน้ามืดใจสั่นแล้วจึงยอกให้ลุกขึ้นนั่งหรือเดินช้า ๆ ได้

9. ถูกกระแทกบริเวณท้อง อาการขึ้นกับความรุนแรงและตำแหน่งที่ถูกกระแทก ถ้าไม่มีอันตรายต่ออวัยวะภายใน อาจมีแค่อาการจุก ซึ่งเกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อกระบังลมและกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งทำให้หายใจไม่ออก การผายปอดจะช่วยได้ทันที ถ้ามีอันตรายต่ออวัยวะภายใน อาการจะแตกต่างกันไปแล้วแต่อวัยวะที่ได้รับอันตราย อาการทั่วไป คือ ปวด และกดเจ็บบริเวณกระแทกแม้พักผ่อนแล้วก็ไม่หายไป ถ้ามีการกระแทกของอวัยวะภายในอาการปวดจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาจมีอาการช็อคเพราะเลือดตกในหรือมีไข้ขึ้น เนื่องจากเยื่อบุช่องท้องอักเสบ

การปฐมพยาบาล ถ้าสงสัยมีอันตรายต่ออวัยวะภายใน เช่น กระเพาะ ลำไส้ ให้รีบน้ำส่งโรงพยาบาลในท่าที่ผู้ป่วยเจ็บน้อยที่สุด ห้ามนวดเฟ้นเป็นอันขาด อย่าให้อาหารและน้ำทางปากก่อนไปถึงโรงพยาบาล

 

10 ท่า เหยียดร่างกาย

ข้อแนะนำการวิ่ง10 กิโลเมตร

ครั้งแรก ในชีวิตกับ 21 กืโลเมตร

พลังแอโรบิก