บาดเจ็บบริเวณเชิงกราน

 

             นักวิ่งทุกคนกลัวการบาดเจ็บ เพราะจะต้องทำให้หยุดพักการวิ่งไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ยิ่งเป็นบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณเชิงกรานด้วยแล้ว ยิ่งน่าหวาดเสียวต่อนักวิ่งยิ่งนัก ความจริงบาดเจ็บบริเวณนี้พบได้ไม่บ่อยนักแต่ก็ควรระวังไว้ และเพื่อป้องกันคนอื่นเข้าใจผิดเป็นอย่างอื่นด้วย บาดเจ็บที่พบจากการวิ่งบริเวณนี้ มีดังนี้

1. บาดเจ็บบริเวณกระดูกหัวเหน่า ( Osteitis pubis )

มีอาการเจ็บปวดบริเวณกระดูกหัวเหน่า อาจเป็นด้านใดด้านหนึ่งหรือตรงกลางหรือทั้งสองข้าง เกิดการเสียดสีซ้ำ ๆ ซาก ๆ ของกระดูกเชิงกรานที่มาประกอบเป็นกระดูกหัวเหน่า พบในนักวิ่งที่เพิ่มระยะทางเร็วเกินไป สปีดทันที หรือเร่งสปีดความเร็วเป็นช่วง ๆ บ่อย ๆ ในขณะที่กำลังวิ่งระยะไกล ทำให้เกิดการเจ็บปวดอักเสบของตรงกลางกระดูกหัวเหน่าหรือเกิดจากการวิ่งบนพื้นวิ่งที่เอียง ขณะวิ่งจะมีการเอียงของกระดูกเชิงกรานเกิดแรงดึงของกล้ามเนื้อที่เกาะบริเวณด้านข้างของกระดูกหัวเหน่า ทำให้เกิดการเจ็บบริเวณนี้ได้ เพราะมีการฉีกขาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเอ็นที่เกาะของกล้ามเนื้อนี้ หรือในรายที่เป็นมาก ๆ มีการดึงรั้งกระตุก ทำให้การร้าวของกระดูกหัวเหน่าที่ด้านหลังเกิดการเจ็บปวดได้ เราสามารถตรวจสอบได้โดยจะกดเจ็บและให้นักวิ่งหุบขาเข้าขณะที่กางขาโดยมีแรงต้านไว้ จะมีอาการเจ็บปวดอย่างมาก

การปฐมพยาบาลและการรักษา

เมื่อมีการเจ็บปวดในขณะวิ่ง ให้หยุดวิ่งและพัก ประคบด้วยน้ำแข้งบริเวณหัวเหน่าและต้นขาบริเวณขาหนีบ 15 – 20 นาที ให้ยาแก้ปวด ถ้าเป็นไม่มากอาการจะหายภายใน 3 วัน ถ้ามีอาการมาก ให้ยาต้านการอักเสบร่วมด้วย 3 สัปดาห์ และให้การรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น ประคบน้ำร้อน เคลื่อนไหวในน้ำ เพื่อให้เกิดความแข็งแรง ไม่ควรฉีดยาต้านการอักเสบสเตียรอยด์ เฉพาะที่บริเวณนี้ หลังจากหายแล้วให้บริหารกล้ามเนื้อ บริเวณนี้ให้แข็งแรงทั้งการยืดและการทำให้แข็งแรงโดยการนอนตะแคง ขาเหยียดตรง ยกขาด้านนั้นกางและหุบ โดยมีน้ำหนักถ่วงที่ปลายเท้า 1 กิโลกรัม ค่อย ๆ เพิ่มจะได้ 5 – 6 กิโลกรัม ให้ทำ 10 ครั้ง ในตอนเช้าและเย็น

การป้องกัน

  1. หลีกเลี่ยงการวิ่งบนพื้นที่เอียง หรือพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ

  2. ขณะวิ่งไม่ควรเร่งความเร็วโดยทันที ควรค่อย ๆ เพิ่มทีละน้อยและไม่ควรเพิ่มความเร็วบ่อยครั้งในการวิ่งระยะไกล

  3. บริหารกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหุบขาให้แข็งแรงอยู่เสมอ

  4. บริหารเพื่อยืดกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหุบขาก่อนการวิ่งทุกครั้ง

  1. บาดเจ็บที่ปุ่มกระดูกเชิงกรานตอนบนด้านหน้า (Iliac crest upins)

พบในเด็ก มีการเจ็บที่บริเวณปุ่มกระดูกเชิงกราน ด้านหน้าอาจจะเป็นข้างเดียวหรือสองข้าง สาเหตุเกิดคือ มีการกระตุกหรือกระชากของกล้ามเนื้อที่เกาะกระดูกบริเวณนี้ ทำให้มีอาการเจ็บปวด บวม จะพบในนักวิ่ง เด็ก หรือในวัยที่ก่อนจะมีการเจริญเติบโตเต็มที่ สาเหตุนั้นเกิดจากการวิ่งที่ไม่ถูกต้องคือ เหวี่ยงมือไขว้ไปข้างหน้าด้านตรงข้ามขณะวิ่ง และการวิ่งขึ้นลงที่สูง ทำให้มีแรงกระตุกกระชากปุ่มกระดูกบริเวณนี้ ทำให้เกิดการอักเสบเจ็บปวดขึ้น ในรายที่เป็นมาก ๆ อาจมีการร้าวของกระดูกได้

การปฐมพยาบาลและการรักษา

เมื่อมีการเจ็บปวดขณะวิ่ง ให้หยุดวิ่งทันที พักประคบด้วยน้ำแข็ง 15 – 20 นาที ให้ยาแก้ปวด ถ้าอาการไม่มากจะหายไปใน 3 วัน ถ้ามีอาการมากให้พักการวิ่ง 4 – 6 สัปดาห์ หลังจากนั้นค่อยกลับมาวิ่งในท่าที่ถูกต้อง คือ หลังตรงและเหวี่ยงมือไปตรง ๆ ไม่ให้มีการไขว้กัน และค่อย ๆ เพิ่มระยะทางทีละน้อย

การป้องกัน

  1. วิ่งบนพื้นราบ ไม่ควรวิ่งขึ้นหรือลงจากที่สูง

  2. วิ่งตัวตรงและเหวี่ยงมือตรงไปทางด้านหน้า ไม่ควรวิ่งโดยไขว้มือหันลำตัวไปอีก

( จากหนังสือบาดเจ็บจากการวิ่ง   รศ.นพ.ธีวัฒน์  กุลทนันทน์  )

 

 

พลังแอโรบิก

ประวัติกรีฑา

ถ้าคุณอยากเป็นนักวิ่งมาราธอน