วิ่งทำไม ตอนที่3

 

โดย...พิสิษฐ์ จิรภิญโญ

 

นักวิ่งระยะทางไกลต้องวางแผน บางแผนต้องมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ เราสามารถเรียนรู้จากสัตว์ได้ มากมาย นักปรัชญาเปรียบเทียบกลยุทธ์การวิ่งระยะทางไกลเหมือนงานศิลปะเช่นการระบายสี ถึงนักวิ่งจะใช้ หลักการเดียวกัน เหมือนที่ศิลปินใช้สีและพู่กันชนิดเดียวกัน แต่จังหวะการวิ่งและน้ำหนักการตระหวัดพู่กัน จะไม่มีวันเหมือนกัน ผลลัพธ์ที่ปรากฏจึงแตกต่างกัน แต่การศึกษาจากการเคลื่อนไหวของสัตว์จะช่วยให้เรา รู้จุดแข็งและจุดอ่อน ของเราและเปิดโอกาสให้เราปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ สถิติโอลิมปิคจึงเกิดขึ้น ใหม่ทุกๆสี่ปีที่มีการแข่งขัน ในสองตอนแรกเราพยายามจะเรียนรู้จากความอดทนของสัตว์เล็กๆเช่นแมลง และเรียนรู้ว่านกย้ายถิ่นฐานเป็นระยะทาง นับพันและหมื่นกิโลเมตรด้วยร่างกายที่มีขนาดเล็กจิ๋วอย่างนั้น

 คราวนี้เราจะศึกษาความเร็วของสัตว์สี่เท้าฝีตีนเยี่ยมเช่นกวางและสัตว์ประหลาดที่อดน้ำได้หลายวันในทะเลทราย เช่นอูฐ ซึ่งล้วนเป็นคุณสมบัติที่นักวิ่งระยะทางไกลใฝ่ฝันที่ครอบครอง จากการที่นกย้ายถิ่นฐานเป็นพันกิโลเมตร โดยไม่แวะระหว่างทางทำให้ฝูงนกต้องสะสมพลังงานด้วยการกินจนน้ำหนักตัวเพิ่มเป็นสองเท่า แล้วฝูงนกก็พาร่างที่ หนักขึ้นเป็นสองเท่าบินสูงจนติดลมบนใช้เวลาบินนานถึง 5 วัน 5 คืนโดยไม่ต้องหยุดพักเติมพลังแต่อย่างใด นั่นเป็นกฏเกณฑ์ของนก ถ้าการวิ่งมาราธอนมีกฏเกณฑ์เช่นเดียวกับนกคือห้ามมีการให้น้ำและให้อาหารระหว่าง การวิ่ง 42 กิโลเมตร หรือ อัลตรามาราธอน 50 กิโลเมตร โดยบังคับให้วิ่งไปเรื่อยๆ ผู้ที่จะชนะมาราธอนได้จะต้อง เป็นคนอ้วนเพราะเขาได้สะสมพลังงานไว้มาก คนผอมบางจะไม่มีสิทธิ์ชนะมาราธอนเลยจะหมดแรงเสียก่อนเพราะ ขาดน้ำ และพลังงานที่สะสมไว้เพียงน้อยนิดจะใช้หมดไปในไม่กี่กิโลเมตรแรกๆ เมื่อไม่มีการเติมน้ำเติมพลังงานก็จะ วิ่งต่อไปไม่ได้  กฏเณฑ์การแข่งมาราธอนอนุญาตให้นักวิ่งกินน้ำและอาหารระหว่างวิ่งได้ แต่ถ้าใครที่กินเข้าไปมากๆ ก็ต้องแบกน้ำหนักนั้นไปตลอดเส้นทาง ทำให้วิ่งเร็วไม่ได้ โดยปรกติถึงแม้ว่านักวิ่งจะไม่เติมอาหารระหว่างวิ่งเลย จะมีพลังงาน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของร่างกาย 1 ถึง 6 % ซึ่งจะพานักวิ่งไปได้ไกลถึงหลายร้อยกิโลเมตรอยู่แล้ว ถ้ากล้ามเนื้อไม่เมื่อยล้าเสียก่อน ถึงจะวิ่งได้ก็จะไม่มีความเร็ว

 กวางพรองฮอร์นเป็นสัตว์สี่เท้าที่วิ่งได้เร็วที่สุดในโลก คือวิ่งได้ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วกว่าม้าแข่งถึงสองเท่า แถมกวางพรองฮอร์นยังเป็นนักวิ่งระยะทางไกลอีกด้วย อะไรคือความแตกต่างระหว่างคนเรากับกวางพรองฮอร์น กวางพรองฮอร์นมีประวัติย้อนหลังนานกว่า 4 ล้านปีมาแล้ว การที่มันยังคงมีชีวิตให้เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้คือ ความสามารถพิเศษในการวิ่งหนีสัตว์นักล่านั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเสือ สิงห์ หมาป่า ต้องชิดซ้ายไปเมื่อคิดจะไล่ล่ากวาง พรองฮอร์น จนสัตว์นักล่าหมดแรงยกเลิกการไล่ล่าไปเอง จึงได้มีการศึกษาความสามารถพิเศษของนักวิ่งเหนือชั้น อย่างกวางพรองฮอร์น พบว่าการสะสมออกซิเจนของกวางพรองฮอร์น เหนือกว่าสัตว์นักล่าอื่น โดยไม่ก่อให้เกิด กรดแลคติคอันเป็นต้นเหตุทำให้กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย กวางพรองฮอร์นสามารถเพิ่มปริมาณออกซิเจนในเลือดได้อย่าง มีประสิทธิภาพโดยไม่ต้อง ใช้ออกซิเจนส่วนเกินอย่างที่มีในสัตว์นักล่า

 หันมาดูแพะที่มีสรีระคล้ายกวางแต่เหตุใดจึงเชื่องช้ากว่ากวาง คำตอบคือแพะกินอาหารไม่เลือก ร่างกายจึงไม่แข็งแรง เท่ากวางที่มีขนาดเดียวกัน โดยแพะจะมีเนื้อหนังหนาแน่นกว่า กวางจะเลือกกินอาหารที่ไปเพิ่มความแกร่งของ กล้ามเนื้อและกินในปริมาณที่น้อยกว่าแพะ กวางเลือกกินแต่ใบไม้ใบโตซึ่งให้สารเพิ่มพลังมากกว่าใบหญ้าทั่วไป ใบไม้ที่กวางเลือกกินจะอุดมด้วยโปรตีนและ แร่ธาตุ โดยที่กินแต่ละครั้งจะกินในปริมาณไม่มากนัก จึงทำให้กวาง หิวเร็ว ร่างกายผอมแห้งเหมือนนักวิ่งมาราธอนทั้งหลาย  อย่างไรก็ตาม การที่ร่างกายซูบผอมจะให้โทษเมื่อเผชิญกับ ความหนาว ในฤดูหนาวของปี 1986 ในรัฐ เซาธ์ดาโกตา พบว่ากวางเกือบครึ่งแสนตัวต้องตายเพราะลมหนาวที่ กระหน่ำลงมาใน ปีนั้น

 ยังไม่เคยมีใครวัดกันจริงจังว่าคนและกวางใครจะวิ่งเร็วและทนกว่ากัน เคยมีการจัดให้คนวิ่งแข่งกับม้าในประเทศ อังกฤษ โดยตั้งรางวัลให้ผู้ที่ชนะม้าได้เงิน 30000 ดอลล่าร์ จัดอยู่หลายปีก็ยังไม่เคยมีใครชนะม้าได้ในระยะทาง เพียง 33 กิโลเมตร สักวันหนึ่งจะต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นชัดเสียทีว่า ถ้าให้คนวิ่งแข่งกับกวางพรองฮอร์น หรือม้า ในระยะทาง 42 กิโลเมตรโดยให้วิ่งในเงื่อนไขเดียวกัน ดูซิว่าใครคือจ้าวแห่งความเร็วที่แท้จริง

 วิวัฒนาการของสัตว์โลกล้วนแต่นำไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกันคือการมีชีวิตอยู่ ไม่จำเป็นเสมอไปที่สัตว์ต้องวิ่งเร็ว เพื่อหนีภัยหรือไล่ล่า สัตว์อย่างเต่าก็สร้างกระดองมาคุ้มกันชีวิต สกั๊งก์พ่นสารเคมีในตัวมาขับไล่ศัตรู สัตว์เช่นอูฐก็มี คุณสมบัติพิเศษในการอดน้ำได้หลายๆวัน

 อูฐไม่ใช่นักวิ่งแต่มีคุณสมบัติที่นักวิ่งอยากได้มาก แม้ว่าความเร็วสูงสุดของอูฐคือ 16 กม/ชม แต่มันสามารถเดินทาง 300 กม. โดยไม่ต้องแวะดื่มน้ำเลยแม้แต่หยดเดียว เคยมีการแข่งวิ่งระหว่างม้าและอูฐเส้นทาง 176 กม. โดยไม่มีการ หยุดพักกินน้ำ  ปรากฏว่าม้าชนะแต่ล้มลงขาดใจตายที่เส้นชัย ไหนๆเขียนถึงเรื่องแข่งพิศดารก็ขอเติมเรื่องราวของ เอียนนิส คูรอส ชาวกรีกที่อยู่ในออสเตรเลีย โดยทำสถิติโลกไว้ในการวิ่ง 1600 กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งสิ้น 10.4 วัน เฉลี่ยแล้วเขา วิ่งวันละ 153 กิโลเมตร คนกับอูฐเทียบกันไม่ได้เพราะคนวิ่งไปกินไป มีการนอนพักระหว่างทางอีกด้วย ส่วนอูฐนั้นไม่ดื่มน้ำไม่กินอาหารเลย แต่ให้ข้อคิดกับเราได้ว่า ช้าๆแต่สม่ำเสมอจะนำไปสู่ความสำเร็จ

 ความมหัศจรรย์ของอูฐในการเดินทางไกลโดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำเป็นที่สังเกตของคนมาหลายพันปีแล้ว แต่เดิมเชื่อกันว่า อูฐมีกระเพาะพิเศษกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามฉุกเฉินได้ จนถึงปี 1950 ก็ได้พิสูจน์กันว่ากระเพาะอาหารของอูฐมิได้แตก ต่างจากสัตว์ประเภทวัวเลยซึ่งจะต้องดื่มน้ำทุกๆวัน แต่ไขมันที่เก็บไว้ในโหนกหลังอูฐต่างหากที่ช่วยให้เกิดความ สมดุลย์ของน้ำในร่างกาย ทำหน้าที่เหมือนเพาเวอร์บาร์ที่นักวิ่งมาราธอนกินระหว่างวิ่ง เพราะอูฐสะสมไขมันที่เข้มข้น ไว้ในโหนก ระหว่างการเดินทางข้ามทะเลทรายที่แดดจ้าเผาผลายทุกอณูของไอน้ำ อูฐจะใช้ไขมันนี้ในการเผาให้เป็น พลังงาน และปริมาณของน้ำที่เกิดจากการสันดาปจะถูกนำมาใช้ลดความร้อนส่วนเกินโดยขับออกมาเป็นเหงื่อ ในอูฐเม็ดเลือดแดงจะเป็น 16% ของน้ำในร่างกาย เมื่อเดินทางไกลจนสูญเสียน้ำ ความเข้มข้นของเม็ดเลือดจะเพิ่มขึ้น 1% ในขณะที่ในตัวคนเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 3% การที่เลือดเข้มข้นขึ้นก็หมายความว่าสัดส่วนของน้ำได้ลดลง ทำให้การ หมุนเวียนของเลือดไปสู่หัวใจได้ยากขึ้น อาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายกับหัวใจได้ อูฐมีไตที่ยอดเยี่ยมสามารถผลิตน้ำ ปัสสาวะที่เข้มข้นเป็นสองเท่าของคนได้ เป็นเหตุเสียน้ำน้อยมากในขณะใช้พลังงานขับเคลื่อน ความสามารถพิเศษ อีกอย่างหนึ่งของอูฐคือร่างกายปรับอุณหภูมิให้สูงตามความร้อนภายนอกได้ดี โดยมิต้องขับน้ำในร่างกายออกมามาก และเมื่อถึงเวลากลางคืนอูฐจะปรับอุณหภูมิภายในตัวให้ลดลงช่วยลดการสูญเสียพลังงานได้

 กบเป็นสัตว์ที่น่าทึ่งไม่น้อย ที่เมืองคาราเวรัส ของเอนเจลสแคมป์ มีประเพณีแข่งกระโดดกบ สถิติระยะทางไกลที่สุด ที่กบกระโดดได้คือ 6 เมตรครึ่งแม้ว่าจะสู้สถิติโอลิมปิคที่ บ๊อบ บีแมนทำไว้ 8.8 เมตรไม่ได้ แต่สำหรับกบตัวเล็กขนาด นั้นนับว่าน่าประทับใจมาก ที่พาดพิงถึงกบเพราะอยากจะบรรยายถึงคุณสมบัติพิเศษอีกอย่างหนึ่งที่นักวิ่งควรจะรู้ กบมีขาที่ออกแบบไว้ให้ก้าวกระโดดได้ในช่วงเวลาอันสั้น เป็นการจุดระเบิดของพลังงานที่กล้ามเนื้อขา กบที่กระโดด ได้ไกล จะหมดแรงในการกระโดดก้าวที่ 4 และก้าวกระโดดจะสั้นลงๆในก้าวต่อๆไป กบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่ง น้ำที่หายใจในน้ำไม่เป็น ระบบหายใจจึงสับสนเมื่ออยู่บนบก และกบก็เหมือนสัตว์อื่นๆที่อ่อนเพลียลงทันทีที่เกิดกรด แลคติคในกล้ามเนื้อ การเร่งฝีเท้าในระหว่างทางไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เลยเพราะทำให้เมื่อยล้าก่อน นักวิ่งระยะ ทางไกลจะออมแรงไว้ สปริ๊นท์ตอนจะถึงเส้นชัย ใครที่เริ่มสปริ๊นท์ตั้งแต่ต้นก็จงรู้ชะตากรรมด้วยว่าจะต้องไปแผ่ว กลางทางอย่างแน่นอน

 กบตัวผู้เมื่อถึงฤดูเกี้ยวสาวจะแข่งขันกันร้องอ๊อบๆแทนที่จะกระโดดก้าวไกลแข่งกัน ตัวที่ชนะจะได้ได้ครอบครอง หัวใจของกบสาว กบตัวที่ตะเบ็งร้องได้เสียงดังที่สุด และร้องทนได้นานที่สุดจะเป็นผู้ชนะ กบที่เสียงแหบแห้งและ เหนื่อยอ่อนจนต้องหลบหน้าไปคือผู้แพ้  กบตัวเมียชื่นชมกบตัวผู้ที่ส่งเสียงดังที่สุดและร้องได้นานที่สุด แต่ในความมืด กบตัวผู้จะไม่รู้ว่าตัวเมียอยู่ใกล้หรือไกลเพียงใด เขามีหน้าที่ตะเบ็งให้สุดเสียง แต่มีน้อยตัวมากที่จะส่งเสียงดังสุดๆ อย่างนั้นได้เป็นเวลานาน แม้ว่าจะมีวิวัฒนาการมาหลายชั่วอายุกบแล้วก็ตาม พฤติกรรมของกบตัวผู้ก็ยังคงเหมือนกบ รุ่นก่อน กบตัวผู้ต่างตะเบ็งแข่งกันเพื่ออวดกบสาวว่าตนเหนือกว่ากบหนุ่มตัวอื่นๆ บางครั้งฝูงกบต้องตะเบ็งแข่งกัน ตั้งแต่ตอนตกดึกจนเกือบสว่าง ยังกะวิ่งมาราธอนก็ไม่ปาน ในห้องทดลองของมหาวิทยาลัยคอนเนกติกัต พบว่าการ ตะเบ็งเสียงแต่ละครั้งของกบตัวผู้จะสิ้นเปลืองพลังงานเท่าไร ยิ่งมีเสียงดังแถมยังลากยาวอย่างโหยหวนนั้นจะ สิ้นเปลืองพลังงานมากเป็นเท่าตัวของเสียงร้องปรกติ กบที่ร้อง 600 ครั้งต่อชั่วโมงในช่วงแรก ไปเพิ่มความถี่ใน การร้องเป็น 700-800 ครั้งต่อชั่วโมงในอีกสองชั่วโมงต่อมา พอใกล้สว่างก็ลดความถี่ลงเมื่อเสียงคู่แข่งค่อยๆจางหายไป แต่กบตัวเมียชอบเสียงร้องที่ดังและลากเสียงได้ยาว เป็นเงื่อนไขที่กบตัวผู้ต้องระมัดระวังมิให้เสียงร้องนั้นแผ่วและ ห้วนๆ แม้จะอยู่ทนเป็นตัวสุดท้ายก็อาจจะไม่เป็นผู้ชนะได้ แต่ผลลัพธ์จากห้องทดลองบ่งชัดว่าการเร่งส่งเสียงดังตั้ง แต่ต้นทำให้กบตัวผู้หมดกำลัง จึงต้องออมพลังงานไว้ร้องให้เสียงดังตอนท้ายจะได้เป็นผู้ชนะ

 หันมาเปรียบเทียบกับการวิ่งมาราธอนของคน การก้าวเท้าแบบก้าวยาวๆจะใช้พลังงานมากกว่าการก้าวสั้นๆด้วยเหตุผล เดียวกัน ก้าวยาวได้ระยะทางแต่ทำให้นักวิ่งเหนื่อยเร็วขึ้น แต่ข้อมูลเกี่ยวกับคนยังมีน้อยมากจนกว่าจะมีการวิจัยกัน อย่างถี่ถ้วนเหมือนอย่างที่ทดลองกับสัตว์อื่นๆ แต่เควิน เซทเนส แชมป์วิ่งและเดินทางไกลผู้ทำสถิติ เดินและวิ่ง ได้ 256 กม. ภายใน 24 ชั่วโมงกล่าวไว้ว่า กลยุทธ์ของเขาคือใช้วิธีก้าวสั้นๆไม่ว่าจะวิ่งหรือเดิน เพราะได้อ่านเรื่องราวของกบ มาก่อน อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำสำหรับนักวิ่งมาราธอนคือก้าวเท้าให้สั้นแต่ให้ก้าวถี่ๆ ห้ามเดินอย่างเด็ดขาด เพราะมาราธอนแข่งกันที่วิ่ง ไม่ไม่ใช่การแข่งเดิน (ยังมีต่อ)

 

หมายเหตุ ผู้เขียนเป็นนักวิ่งมาหลายสิบปีและพยายามค้นหาคำตอบว่า ทำไมจึงมาวิ่ง และมีโอกาสอ่าน หนังสือของนักเขียนมากมายหลายเล่มเกี่ยวกับการวิ่งมาราธอน (ได้ทำรายชื่อหนังสือที่ใช้อ้างอิงไว้ ตอนท้ายของตอนจบของบทความนี้) จึงรวบรวมมาเรียบเรียงให้เพื่อน นักวิ่งได้อ่าน โดยหวังว่าจะเป็น ประโยชน์กับเพื่อนนักวิ่งที่กำลังฝึกซ้อมร่างกายเพื่อเตรียมจะลงแข่ง กรุงเทพฯมาราธอน 2002 ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2545 นี้