สรุปความเคลื่อนไหววงการไตรกีฬาไทยและไตรกีฬาโลก ประจำปี พ.ศ. 2544
ตอนที่
( 2 )

กรกฎาคม


เดือนนี้สายตาของคนในวงการไตรกีฬา โดยเฉพาะระยะ Olympic Distance ต่างจับจ้องไปที่การแข่งขัน World Championship ที่เมือง Edmonton ประเทศ Canada นักไตรกีฬา ชาย – หญิงที่ดีที่สุดในโลก 129 คนไปรวมกันอยู่ที่นั่นโดยแยกเป็นชาย 74 คน และหญิง 55 คน 
การแข่งมีขึ้นในวันที่ 21-22 กรกฏาคม โดยประเภทมืออาชีพทั้งชายและหญิงนั้นจะแข่งกันในวันที่ 22 กรกฎาคม ซึ่งการแข่งประเภทหญิงจะเริ่มแข่งเวลา 11 นาฬิกา ส่วนฝ่ายชายจะเริ่มแข่งเวลา 14 นาฬิกา 
เวลาการเริ่มการแข่งของผู้หญิงต้องเลื่อนไปประมาณ 15 นาที เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยแต่แล้ว....
หลังจากเริ่มออกสตาร์ทการว่ายน้ำไป Barb Linquist และ Shiela Tormina สองสาวอเมริกันก็ขึ้นนำ แต่สุดท้าย Taormina อดีตนักว่ายน้ำ เหรียญทอง แอตแลนต้าเกมส์ 1996 ทีมชาติสหรัฐอเมริกา ก็ขึ้นจากน้ำเป็นคนแรก ตามด้วยสองสาวออสซี่ Loretta Harrop แชมป์โลก ปี1999 และ Nicole Hackett แชมป์โลกปี 2000 แต่พอขึ้นช่วงการขี่จักรยาน เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อ Hackett จักรยานลื่นล้มทำให้เธอต้องถอนตัวจากการแข่งทันที และแล้วกลุ่มนำก็ถูกไล่ทันโดยกลุ่มตามซึ่งนำโดย Michellie Jones จาก ออสเตรเลีย และ Siri Lindley จาก อเมริกา และพอถึงช่วงการวิ่ง Siri ก็ขึ้นนำและในที่สุดใครจะคิดว่า…
Siri Elisabeth Lindley อเมริกันเชื้อสายนอร์เวย์ วัย 32 ปี ที่เริ่มเล่นไตรกีฬาเมื่ออายุ 22 ปีโดยเพื่อนของเธอชักชวน แล้วเทริ์นโปร เมื่ออายุ 27 ปี หลังจากนั้น 5 ปี ให้หลังเธอกลายเป็นผู้หญิงที่เล่นไตรกีฬาเก่งที่สุดในโลกในปีนี้ Lindley เข้าเส้นชัยด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 58 นาที กับอีก 51 วินาที ตามมาด้วย Jones จากออสเตรเลีย และอเมริกันอีกคนคือ Joanna Zeiger 

การออกสตาร์ทของประเภทชาย

 


ส่วนฝ่ายชายนั้น Simon Whitfield เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกที่ Sydney 2000 ชาวแคนาดา ก็ลงประชันฝีมือกับเหล่านักกีฬาจากทั่วโลก การแข่งเริ่มขึ้นในช่วงบ่าย ของวันที่ 22 กรกฎคม หลังจากผ่านการว่ายน้ำแล้ว Stephane Poulat จากฝรั่งเศส ก็ขึ้นนำพร้อมกับทีมของเขาคือ Frank Bignet และ Frederic Belaubre ตามด้วยทีม New Zealand คือ Craig Watson ,Matt Reed และ Hamish Carter แต่พอผ่านพ้นรอบแรกของการขี่จักรยานไปนั้น Chris Mccormack อดีตแชมป์โลกปี 1997 ก็ขึ้นนำพร้อมกับเพื่อนชาวออสซี่ของเขา 3 คน ได้แก่ Peter Robertson , Chris Hill และ Miles Stewart และในที่สุด Mccormack หรือ Macca ก็ตัดสินใจบุกเดี่ยว และมันก็เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด Macca โถมแรงลงบนจักรยานมากเกินไป บวกกับถนนที่ลื่นเนื่องจากฝนที่เพิ่งจะหยุดตก ทำให้เขาสูญเสียการทรงตัวและล้มลง จนต้องออกจากการแข่ง พอถึงช่วงการวิ่ง 10 กม. Robertson ขึ้นนำ ตามมาด้วย Hill , Watson และ Ivan Rana จาก สเปน และ Robertson ก็ไม่ปล่อยโอกาสทองให้หลุดมือไป เขาสามารถคว้าแชมป์โลกเป็นครั้งแรกในชีวิต และ เป็นเวลา 4 ปีแล้วที่พลพรรค ออสซี่ ไม่ได้ชื่นชมแชมป์โลกชายนับแต่ที่ Mccormack ได้ในปี 1997 
Robertson เข้าเส้นชัยด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 48 นาที 1 วินาที โดยใช้เวลาว่ายน้ำ 18:25 นาที ขี่จักรยาน 56:25 นาที และวิ่ง 31:55 วินาที เฉือน Chris Hill เพื่อนร่วมชาติไป 11 วินาที ส่วน อันดับที่ 3 นั้น เป็นของ Watson จากนิวซีแลนด์


Robertson และ Lindley ขณะกำลังฉลองชัยชนะ 

 

Robertson “Robbo” กับ แชมป์โลก ครั้งแรกของเขา 


มีเว็บไซต์ของนักกีฬาต่างประเทศมาแนะนำด้วยครับ 
1. Chris Mccormack แชมป์โลกปี 97( www.chrismccormack.com.au ) 
2. Peter Robertson แชมป์โลกปี 2001( www.peterrobertson.com.au )

หันกลับมาที่การแข่งในบ้านเรากันบ้าง “คนเหล็ก หัวหิน-ชะอำ ครั้งที่ 6” มีการจัดแข่งในวันที่ 
21 กรกฎาคม โดยการแข่งนั้นจะเริ่มว่ายน้ำที่บริเวณ สวนสนประดิพัทธ์ หัวหิน และไปเข้าเส้นชัยกันที่ ชายหาด ชะอำ จังหวัด เพชรบุรี
มาเลเซีย นำโดย Razzani แชมป์นครพนม และ Chan Wai Yong แชมป์แห่งชาติชาวมาเลเซียปี 2000 และผลการแข่งก็เป็นไปตามคาดเมื่อ อันดับที่ 1 และ 2 ก็ตกไปอยู่ในมือของทั้ง 2 คน ส่วนคนไทยที่ดีที่สุดคือ ศุภชัย อุนาสิงห์ โดยได้อันดับที่ 3 ส่วนฝ่ายหญิงนั้น ทรงศิริ โพธิ์เจริญ จากโรงเรียนกีฬา สุพรรณบุรีสามารถคว้าแชมป์ได้เป็นครั้งแรกของเธอ

สิงหาคม


สมาคมไตรกีฬาแห่งประเทศไทย จัดการแข่งอุบลราชธานี ไตรกีฬานานาชาติขึ้นในวันที่ 12 สิงหาคม โดยครั้งนี้นับเป็นการจัดการแข่งครั้งแรกที่ จังหวัดอุบลราชธานีด้วย และยังมีการเชิญนักกีฬาชาวไต้หวันมาด้วย การแข่งแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ Half Ironman , Olympic Distance , Sprint Distance , Short Sprint Distance ส่วนผลการแข่งติดตามได้ใน บทความสรุปผลการแข่งก่อนหน้านี้ครับ
สำหรับ World Cup นั้น ในเดือนนี้มีทั้งหมด 3 สนาม คือ ที่เมือง ยามากูชิ ประเทศญี่ปุ่น และอีกสองสนามทางฝั่ง ยุโรป คือ ที่ฮังการีและสวิตเซอร์แลนด์ ที่ญี่ปุ่น Chris Hill และ สาว แคนาเดียน Carol Montgomery คว้าแชมป์ไป ส่วนที่ฮังการีนั้นหนุ่มชาวเช็ก Martin Krnavek และ Siri Lindley ได้ไป และสนามสุดท้ายของเดือนที่ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิส นั้น หนุ่มเจ้าถิ่น Reto Hug และ Lindley คว้าแชมป์ไป

แชมป์ อีกครั้งของ Lindley มาดดีใจ ของ นาย Reto hug

กันยายน


ไตรกีฬาเอเชียนคัพสนามที่ 6 มีขึ้นที่ มาเก๊า ในวันที่ 2 กันยายน จิรชัย หมื่นฤทธิ์ , ทรงศิริ โพธิ์เจริญ และ คุณ ธเนศ กิตติกรพานิช ( ผู้จัดการทีม )คือชื่อของ 3 ชีวิตชาวไทยที่ไปร่วมงานนี้โดยผ่านทางสมาคมไตรกีฬาแห่งประเทศไทย ผลการแข่งของทั้ง 2 คนนั้น จิรชัย เข้าที่ 21 จาก 23คนในประเภทเยาวชนชาย โดยทำเวลาได้ 2 ชั่วโมง 28 นาที ทรงศิริ นั้นได้ที่ 5 ใน 7 คนที่แข่งในรุ่นเยาวชนหญิง ส่วนแชมป์ในประเภทมืออาชีพชายของการแข่งครั้งนี้ คือ เจ้าเก่า Daniel Chi Wo Lee จาก ฮ่องกงซึ่งถ้านับแชมป์ในครั้งนี้นี่เป็นแชมป์เอเชียนคัพครั้งที่ 5 แล้วในปีนี้ หลังจากเคยได้ที่ ไต้หวัน , ฟิลิปปินส์ , จีน และที่ เกาหลีใต้ ส่วนประเภทมืออาชีพหญิง สาวจากเมืองอาทิตย์อุทัยคือ Yukako Inoue ก็เก็บแชมป์ไปเป็นสนามที่ 3 แล้วในปีนี้ 

ตุลาคม


เดือนนี้ของทุกปีคนในวงการไตรกีฬา โดยเฉพาะระยะ Ironman ต่างรู้กันว่า ในวันพระจันทร์เต็มดวง การแข่งขันไตรกีฬาระยะ Ironman ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกจะมีขึ้นที่ มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา 
6 ตุลาคม คือวันที่การแข่งของปีนี้มีขึ้น เหล่าคนเหล็กจากทั่วทุกมุมโลกจะมารวมกันเพื่อ ฝ่าฟันการว่ายน้ำ 3.8 กิโลเมตร ต่อด้วยปั่นจักรยาน 180 กิโลเมตร และปิดท้ายด้วยการวิ่งมาราธอน ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร โดยการแข่งนั้นจะเริ่มขึ้นเวลา 7 โมงเช้าและให้เวลาผู้เข้าแข่ง 17 ชั่วโมงในการไปให้ถึงเส้นชัยนั่นคือ เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนนักกีฬาทุกคนที่ยังไม่เข้าเส้นชัยจะถูกตัดสิทธิ์ทันที
สำหรับในด้านของนักกีฬานั้น ปีนี้เป็นอีกปีที่ โปรจากทั่วโลกเข้าแข่งขันกันอย่างครบครัน โดยในประเภทชายนั้น Luc Van Lierde จากเบลเยียม เจ้าของสถิติของการแข่งและแชมป์ 2 สมัยในปี 96 และ 99 ก็ลงแข่ง พร้อมด้วย Peter Reid จาก แคนาดา และเคยเป็นแชมป์ในปี 98 และ 2000 ก็มาด้วย รวมถึง 3 สิงห์ จากเยอรมัน คือ Lothar Leder , Normann Stadler และ แชมป์ปี 97 Thomas Hellriegel รวมทั้ง Dave Scott ตำนาน Ironman วัย 47 ปีก็ลงแข่งในประเภทมืออาชีพด้วย ส่วนในประเภทหญิงนั้น ยังคงเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง Natascha Badmaan จาก สวิส และ Lori Bowdenจากแคนาดา ทั้งนี้ต้องไม่ลืม ราชินีของการแข่ง Ironman อย่าง Paula Newby-Fraser ด้วย และในที่สุด...

ไปได้เลย ! เหล่า Ironman

เวลาประมาณ 6.56 นาฬิกา นักกีฬา 1470 ชีวิตก็เริ่มการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ของตน โดยเริ่มจากการว่ายน้ำ 3.8 กม. เวลาผ่านไป 48 นาที กับอีก 51 วินาที Jan Sibberman นักกีฬา age Group ชาวเยอรมัน วัย 26 ปี ก็ขึ้นจากน้ำเป็น คนแรก ตามด้วยแพ็คนักกีฬา จากนิวซีแลนด์ คือ Stephen Sheldrake , James Bonney และ Bryan Rhodes ส่วนในประเภทหญิง Jill Savage จากแคนาดา นำมาเป็นคนแรก 
ต่อมาไม่นาน เหล่าตัวเต็งทั้งในประเภทหญิงและชายก็ไล่คนนำทันและขึ้นนำในการขี่จักรยานในประเภทชายนั้น นำโดย Andreas Neidrig จาก เยอรมัน, Tim Deboom จาก อเมริกา และ Lothar Leder ส่วนในประเภทหญิงนั้น Joanna Zieger ทีมชาติโอลิมปิกของประเทศสหรัฐอเมริกา ตามด้วย Nina Kraft จากเยอรมัน และอเมริกัน 2 คนคือ Beth Zinkand และ Paula Newby-Fraser 
เวลา 12.00 น. Steve Larsen อดีตนักจักรยานอาชีพทีม Motorola จากอเมริกาก็ขึ้นนำ จากการขี่จักรยานที่ยอดเยี่ยมของเขา ตามมาด้วย Stadler , Reid และ Deboom และมีข่าวร้ายคือ แชมป์ ปี96 Luc Van Lierde โปรชาวเยอรมัน วัย 32 และ Dave Scott ได้ถอนตัวจากการแข่งแล้ว ส่วนประเภทหญิงนั้น Kraft และ Badmaan ยังนำอยู่ตามด้วยแชมป์ปี 99 Lori Bowden


Steve Larsen ม้ามืดจากอเมริกา
พอถึงช่วงเริ่มการวิ่ง Larsen ก็ขึ้นนำพร้อมกับเวลาการขี่จักรยานที่เร็วที่สุด คือ 4:33:32 ชั่วโมง ตามด้วย Deboom และ Reid หลังจากนั้นสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อ Reid ถอนตัวจากการแข่ง จึงทำให้ขณะนี้กลุ่มนำประกอบด้วย Deboom , Larsen , Stadler และ Hellreigel ที่เร่งขึ้นมา ขณะที่ฝ่ายหญิง Badmaan ก็ขึ้นเป็นผู้นำในการวิ่ง ตามด้วย Kraft ซึ่งต้องแบกความกดดันจากกลุ่มตัวเต็งที่ตามมาอย่างกระชั้นชิด ได้แก่ Karen Smyers แชมป์ปี 95 ร่วมด้วย Newby-Fraser และ Bowden 
และในที่สุด เมื่อนาฬิกาของการแข่งขึ้นตัวเลขแสดงเวลา 8 ชั่วโมง 31 นาที ความฝันของชาวอเมริกันที่รอคอยมา 5 ปีก็เป็นจริง เมื่อ Tim Deboom โปรจากอเมริกา วัย 30 ปีก็เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกของการแข่งขันและนับเป็นชัยชนะที่ขาดลอยเกือบ 15 นาที ต่ออันดับที่ 2 คือ Cameron Brown จาก นิวซีแลนด์ แชมป์ Ironman New Zealand เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่วนอันดับ 3 นั้น อดีตแชมป์ปี 97 Thomans Hellriegel จากเยอรมันได้ไปโดยทำเวลาได้ 8:47:40 ชั่วโมง ขณะที่ในประเภทหญิง Natascha Badmaan ก็เก็บแชมป์ไปได้เป็นครั้งที่ 3 ด้วยเวลา 9 ชั่วโมง 28 นาที 37 วินาที ตามด้วย Lori Bowden และ Nina Kraft และหลังจากที่ Badmaan ได้แชมป์ไปนั้น เธอบอกกับนักข่าวที่รอสัมภาษณ์ว่า “ตอนแรกฉันคิดว่าวันนี้ ลมจะไม่แรงนักในช่วงการขี่จักรยาน แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นลมแรงกว่าที่คิดไว้เยอะ ฉันจึงบอกกับตัวเองว่าถ้าลมแรงๆพัดมา ฉันก็จะกางปีกออกแล้วก็บินไปกับมันเท่านั้นเอง....”

Badmaan (คนขวา) แชมป์โลก Ironman
กับ Bowden แสดงความยินดีซึ่งกันและกัน
ถ้าอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ Lori Bowden มากขึ้นก็เข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ www.loribowden.com ได้เลยครับ
กลับมาที่วงการไตรกีฬาไทยกันบ้าง เดือนนี้วงการไตรกีฬาไทยได้มีโอกาสไปแข่งต่างประเทศถึง 2 รายการนั่นคือ รายการแรก Hong Kong Asian Cup ในวันที่ 14 ตุลาคม และอีกรายการหนึ่งคือ Singapore Asian Cup วันที่ 21 ตุลาคม ส่วนเรื่องราวการแข่งที่ฮ่องกงสามารถอ่านได้ใน Triathlon Diary : Hong Kong 2001 ส่วนที่ สิงคโปร์นั้นหนุ่มไทย 4 คนที่ไปแข่ง ได้แก่ 
สุพจน์ หนองใหญ่ , ภาไดย พุ่มประพันธ์ , ทินกร อภิชาติอำมฤต และ พิชานันท์ รตานนท์ โดย 2 คนแรกนั้นลงแข่งในประเภท มืออาชีพ ส่วนสองคนหลังลงแข่งในประเภทเยาวชน แชมป์รายการนี้นั้นตกเป็นของ Dimitry Gaag จาก คาซัคสถาน อดีตแชมป์โลกปี 1999 ส่วนคนไทยเรานั้นภาไดย ภุ่มประพันธ์ ได้อันดับที่ 7 จาก12 คน และพิชานันท์นั้นได้อันดับที่ 10 ส่วนทินกรนั้นต้องออกจากการแข่งเพราะ ยางแตกระหว่างการแข่งจักรยานและ สุพจน์นั้นต้องเดินทางกลับเมืองไทยอย่างกระทันหันเพราะปัสสาวะเป็นเลือด และรายการแข่งที่สิงคโปร์นี้ ยังเป็นการรวมตัวกันครั้งแรกของ 6 ชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ ไทย , อินโดนีเซีย , ฟิลิปปินส์ , สิงค์โปร์ ,มาเลเซีย และ เวียดนาม เพื่อตกลงในการบรรจุไตรกีฬาให้เป็นหนึ่งในกีฬาที่จะบรรจุในการแข่งขัน ซีเกมส์ เดือนหน้ามาดูกันว่าจะเป็นอย่างไรถ้าการแข่งไตรกีฬาจะมีที่ ถนนสีลม! 

พฤศจิกายน


คุณเคยคิดไหมว่า ณ ถนนใจกลางเมืองย่านธุรกิจ รถราวิ่งกันขวักไขว่อย่าง “ถนน สีลม” จะมีการแข่งไตรกีฬาเกิดขึ้น! 
การแข่งครั้งนี้มีขึ้นในช่วงการปิดถนน สีลม ในโครงการ “ 7 สิ่งมหัศจรรย์ ที่ ถนน สีลม” โดยไตรกีฬาถูกจัดให้มีการแข่งขันในสัปดาห์แรก คือ วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นสัปดาห์เกี่ยวกับกีฬา การแข่งนั้นเริ่มด้วยการว่ายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วมาเข้าเส้นชัยที่ บริเวณหน้าตึก ซี.พี. ทาวเวอร์ ถนนสีลม และที่เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจของชาวไตรกีฬาคือ รุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์รายวันที่มีคนอ่านมากที่สุดในประเทศอย่าง “ไทยรัฐ” ลงรูปการแข่งครั้งนี้ในหน้ากีฬาหน้า 1!!
ส่วนการแข่งอีกรายการในเดือนนี้ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันก็ คือ “ลากูน่า ภูเก็ต ไตรกีฬา” ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนโดยระยะทางในการแข่งนั้นจะเริ่มด้วยการว่ายน้ำ 1.8 กิโลเมตร ต่อด้วยปั่นจักรยาน 55 กิโลเมตร และปิดท้ายด้วยการวิ่ง 12 กิโลเมตร และเป็นประจำทุกปีที่จะมีการเชิญนักไตรกีฬาระดับโลกมาแข่งขันกัน ในปีนี้ก็เช่นกัน Courtney Atkinson แชมป์เยาวชนโลกของ ITU ปี1999 , Craig Walton กับ Miles Stewart ทีมชาติออสเตรเลียในการแข่งโอลิมปิกปี 2000 และ Normaan Stadler อันดับที่ 4 ในการแข่ง ฮาวายไอออนแมน เป็นรายชื่อที่ได้รับการเชิญมาในปีนี้ ส่วนในประเภทหญิงนั้น Joanne King แชมป์โลก ITU ปี 1998 และ Heather Fuhr แชมป์ฮาวาย ปี 1997ได้รับเชิญมา แชมป์ในประเภทชายนั้นตกเป็นของ Courtney Atkinson ส่วน Craig Walton แชมป์ปีที่แล้วได้อันดับที่ 4 เนื่องมีอาการบาดเจ็บขณะวิ่ง และประเภทหญิงนั้น Joanne King ได้แชมป์ไป ส่วนที่ 2 และ 3 เป็นของ Belinda Granger จากออสเตรเลีย และ Heather Fuhr จากแคนาดา สำหรับคนไทยที่ดีที่สุด ชาย-หญิง ได้แก่ ศุภชัย อุนาสิงห์ และ พีรนุช เอมสุวรรณ


Courtney กับแชมป์ ภูเก็ตครั้งแรก King กับทิวทัศน์ของจังหวัด ภูเก็ต

ธันวาคม


Asian Cup สนามสุดท้ายของปีนี้มีขึ้น ณ เมือง Chennai ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม และผลกระทบจาก เหตุการณ์ ตึกเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ ที่ทำให้ประเทศ อัฟกานิสถานและปากีสถานซึ่งอเมริกาคิดว่า โอซามา บิน ลาเดน ผู้บงการก่อการร้ายครั้งนี้พำนักอยู่ และทำให้อินเดียซึ่งมีพรมแดนติดกับปากีสถานได้รับผลกระทบครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไมได้ โดยทำให้มีนักกีฬาต่างประเทศที่เดินทางไปแข่งรายการนี้เพียง 1 คนเท่านั้นคือ Nicole Rayson จาฮ่องกง ส่วนผลการแข่งนั้น Kaptan Singh ชาวอินเดีย วัย 32 ได้แชมป์ของประเภทชาย โดยทำเวลาได้ 2 ชั่วโมง 15 นาที 20 วินาที และประเภทหญิง Nicole Rayson คว้าแชมป์ไปด้วยเวลา 2:19:22 ชั่วโมง 




แชมป์แต่ละประเภทในการแข่งที่ อินเดีย 
Kaptan Singh ยืนทางซ้ายสุดคู่กับ Nicole Rayson



ส่วนรายการแข่งในประเทศในเดือนนี้นั้น มี 1 รายการคือ “ แหลมแม่พิมพ์ ไตรกีฬาชิงแชมป์ประเทศไทย ” จัดโดย สมาคมไตรกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งแชมป์ในประเภทชาย-หญิงของระยะ Olympic Distance ตกเป็นของ ภาไดย ภุ่มประพันธ์ และทรงศิริ โพธิ์เจริญ