สรุปความเคลื่อนไหววงการไตรกีฬาไทย และไตรกีฬาโลก ประจำปี พ.ศ.2544 (1)

 

2544 นับเป็นพุทธศักราชที่ไตรกีฬาไทยโตขึ้นเป็นอย่างมากในด้านการมีส่วนร่วมกับเวทีนานาชาติในระดับเอเชีย เห็นได้จากการ เข้าร่วมในการแข่งขันไตรกีฬา เอเชียนคัพ 5 ใน 9 สนามได้แก่ รายการ 2001 Asian triathlon championship ที่เมือง โกตากินนาบารู รัฐ ซาบาห์ ประเทศ

มาเลเซีย ในเดือน เมษายน ต่อด้วย รายการ Xushou asian cup ที่เมือง ซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน และต่ออีก 3 รายการปลายปี คือ Macau Asian Cup ,Hong Kong International Triathlon และ Singapore asian cupในเดือนกันยายนและตุลาคม แต่ถึงแม้ว่าเราจะเริ่มก้าวไปนอกบ้านแล้วแต่จะเห็นได้ว่า การแข่งไตรกีฬาในประเทศ นั้นยังมีนักกีฬาไม่มากนัก

ส่วนวงการไตรกีฬาโลก นั้นยังคงคึกคักเช่นเคย แชมป์โลกชาย-หญิง ของระยะ Olympic distance ยังคงไม่มีใครผูกขาดไว้ได้ โดยประเภทชายปีนี้ หนุ่มออสซี่ Peter Robertson คว้าตำแหน่งไป ส่วนผู้หญิงนั้น Siri Lindley สาวอเมริกันเชื้อสายนอร์เวย์ ได้ไป จากการแข่งขันที่ เมือง Edmonton ประเทศ Canada ในเดือน มิถุนายน

สำหรับวงการ Ironman นั้น ปีนี้ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนแม้กระทั่ง มาเลเชียเพื่อนบ้านของเราก็สามารถจัด Ironman ที่มีมาตรฐานจนกระทั่ง World Triathlon Corporation ยอมรับและให้ ลิขสิทธ์ ตรา Ironman มาใช้ ส่วนแชมป์ Ironman Triathlon World Championship ที่ Hawaii นั้น Tim Deboom และ Natacha Badmann คว้าแชมป์ไปครอง Tim นั้น เป็นหนุ่มอเมริกันคนแรกที่สามารถเก็บแชมป์ในประเภท Pro ได้ นับตั้งแต่ปี 1995 ที่ Mark Allen ทำไว้ ส่วน Natacha นั้นนี่เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ที่เธอทำได้หลังจากเคยเป็นแชมป์มาแล้วในปี 1998 และ 2000

 

ต่อไปนี้ จะเป็นการสรุป แบบเดือนต่อเดือนเลยนะครับ

มกราคม

เปิดศักราชในปีนี้ด้วย Ironman Langkawi ที่เกาะลังกาวี ประเทศ มาเลเซีย งานนี้ในประเภท มืออาชีพหญิงนั้น Belinda Cheney สาวออสซี่ม้ามืดงัดฟอร์มเก่งขึ้นมาจนพลิกชนะ Natacha Badmann แชมป์ฮาวายปี 2000 ไปได้ ส่วนประเภทชายก็เข้มข้นไม่แพ้กัน เมี่อ Bryan Rhode หนุ่มจากแดนกีวี นิวซีแลนด์ก็สามารถเฉือนเอาชนะ ตัวเต็งอย่าง Lothar Leder จาก เยอรมันไปได้อย่างเฉียดฉิวเพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น Rhodes ทำเวลาได้ 8 ชั่วโมง 43 นาที ขณะที่ Leder เข้าเส้นชัยเวลา 8 ชั่วโมง 47 นาที โดยชัยชนะครั้งนี้นั้นนับเป็นครั้งแรกของหนุ่มจากแดนกีวีคนนี้ที่สามารถคว้าแชมป์ Ironman ได้และยังเป็นการฉลองวันเกิดปีที่ 28 ของตัวเขาเองด้วย โดย Rhodes กล่าวหลังการแข่งขันว่า “ ผมพยายามจะเร่งตัวเองให้เร็วขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ผ่อนแรงลง”

ส่วนทางด้าน Australia รายการ triathlon formula 1 ก็กำลังขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น Chris Mccormack , Chris hill , Peter Robertson ,Nicole Hackett , Barb Linquist , Michellie Jones และ Loretta Harrop คือชื่อของนักกีฬาที่ร่วมแข่งและทำให้คุณรู้ว่านี่คือ โอลิมปิกย่อมๆนี่เอง

 

กุมภาพันธ์

หลังจาก Ironman langkawi จบลงแล้ว สนามการแข่งที่เป็นการคัดนักกีฬาเข้าแข่ง ที่ฮาวายที่เหลืออยู่ก็คือ

    1. Ironman New Zealand triathlon 3 มีนาคม
    2. Izusu Ironman South Africa Triathlon 31 มีนาคม
    3. Ironman Australia Triathlon 8 เมษายน
    4. St.croix Half Ironman ( U. S Virgin Island ) 6 พฤษภาคม
    5. Izusu Ironman California Triathlon 19 พฤษภาคม
    6. Lanzarote Canarias Ironman triathlon ( Spain ) 26 พฤษภาคม
    7. Ironman Brazil Triathlon 26 พฤษภาคม
    8. Keauhou Kona Triathlon 27 พฤษภาคม
    9. Blackwater Eagleman Triathlon (Maryland ,USA ) 3 มิถุนายน
    10. Ironman Asia Triathlon ( Jeju Island, Korea ) 10 มิถุนายน
    11. Buffalo spring Lake Triathlon ( Texas, USA ) 24 มิถุนายน
    12. Half Vineman Triathlon ( California , USA ) 8 กรกฏาคม
    13. Quelle Ironman Europe Triathlon ( Germany) 8 กรกฏาคม
    14. Ironman Austria Triathlon 15 กรกฏาคม
    15. Ironman Japan Triathlon 22 กรกฏาคม
    16. Izusu Ironman USA Lake Placid Triathlon 29 กรกฏาคม
    17. Ironman Switzerland Triathlon 5 สิงหาคม
    18. Subaru Ironman Triathlon 26 สิงหาคม
    19. UK Half Ironman Triathlon 9 กันยายน
    20. Ironman Florida Triathlon 10 พฤศจิกายน

ถ้าอยากรู้รายละเอียดมากกว่านี้ก็เข้าไปดูกันได้ที่ www.ironmanlive.com นะครับ

มีนาคม

กลับมาดูที่บ้านเรากันบ้าง Mekong Triathlon หรือคนเหล็กลุ่มน้ำโขง มีการจัดการแข่งขึ้นที่ จังหวัดนครพนมโดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นสปอนเซอร์หลัก

ด้วยระยะทางคือ ว่ายน้ำ 1.7 กม./จักรยาน 42 กม./วิ่ง 12 กม. มาเลเซียยกทัพมากวาดแชมป์ทั้ง ประเภท หญิงและชายไปได้ โดย หญิงนั้น Elizabeth Yeo ได้ไป ส่วนผู้ชายนั้น Mohammad Razzani คว้าไป สำหรับคนไทยที่ได้ลำดับดีที่สุดคือ ศุภชัย อุนาสิงห์ และพัชรินทร์ คะนะพล และการแข่งที่นครพนมนี้ยังเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเว็บไซต์ของการแข่งคือ www.mekongtriathlon.com

เมษายน

สหพันธ์ไตรกีฬานานาชาติ ( ITU : International Triathlon union ) ได้ประกาศ โปรแกรมการแข่ง World cup ออกมา 11 สนามดังนี้

    1. Gamagori World Cup , Japan 15 เมษายน
    2. Ishigaki World Cup , Japan 22 เมษายน
    3. St. Anthony World Cup , USA 28 เมษายน
    4. Rennes World Cup , France 13 พฤษภาคม
    5. Toronto World Cup , Canada 7 กรกฏาคม
    6. Edmonton Triathlon World Championship , Canada 21-22 กรกฏาคม
    7. Cornerbrook World Cup , Canada 29 กรกฏาคม
    8. Yamaguchi World Cup , Japan 12 สิงหาคม
    9. Tiszaujvaros World Cup , Hungary 18 สิงหาคม
    10. Lausanne World Cup , Switzerland 25 สิงหาคม
    11. Cancun World Cup , Mexico 4 พฤศจิกายน

ส่วนสนามแรกที่ ญี่ปุ่น นั้น Chris Mccormack จาก ออสเตรเลีย และ Laura Reback จาก

อเมริกา คว้าแชมป์ไป

Mcca และ Reback

 

ส่วนเอเชียนคัพสนามแรกของปีนี้ไต้หวันนั้น หนุ่มจากฮ่องกงคือ Daniel Chi Wo Lee คว้าแชมป์ไปด้วยเวลา 2:00:07 ชั่วโมง ประเภทหญิง Yukako Inoue ได้ที่ 1 โดยทำเวลาได้ 2:14:20 ชั่วโมง

พฤษภาคม

ไฮไลท์ของเดือนนี้คงหนีไม่พ้นการแข่งขันไตรกีฬาชิงแชมป์เอเชีย ที่เมือง โกตากินนาบารู รัฐ ซาบาห์ ประเทศ มาเลเซีย และงานนี้ไทยเราก็ส่งนักกีฬาเข้าแข่งด้วย แม้ว่าจะเกิดความขัดแย้งกันบ้างแต่สุดท้ายแล้ว ก็ลงเอยด้วยดี

ญี่ปุ่นยังคงครองความยิ่งใหญ่ในเอเชียไว้ได้ทั้งในรุ่นมืออาชีพ และ เยาวชน แต่ในระดับโลกนั้นพวกเขายังคงต้องการเวลาอีกสักระยะ

4 คนแรกของผู้ชายคือ คนญี่ปุ่น ได้แก่ Hiroyuki Nishiuchi , Junnichi Yamamoto , Ryosuke Yamamoto และ Teppei Takeuchi โดย Nishiuchi นั้นเข้าเส้นชัย ด้วยเวลา 1:56:32 ชั่วโมง

โดยเขาใช้เวลาในแต่ละประเภทคือ ว่ายน้ำ 1.5 กม. = 17:42 นาที , จักรยาน 40 กม. = 1:03:18 ชั่วโมง , วิ่ง 10 กม. = 35:32 นาที

ประเภทหญิงนั้น Machiko Nakanishi ได้แชมป์ไปโดยทำเวลารวมคือ 2:08:32 ชั่วโมง ส่วนคนไทยที่ทำเวลาดีที่สุด คือ ศุภชัย อุนาสิงห์ ทำเวลาได้ 2 ชั่วโมง 17 นาที เป็นอันดับที่ 28 จากทั้งหมด 35คน และ ประเภทหญิงนั้น พัชรินทร์ คะนะพล ก็เป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่เข้าเส้นชัย โดยทำเวลาได้ 2 ชั่วโมง 40 นาที ได้อันดับ 14 จาก 19 คน

และหลังจาก การแข่งที่มาเลเซียแล้ว เอเชียนคัพที่เหลืออยู่ก็มีดังนี้ คือ

  1. Subic Bay , Philippines 3 มิถุนายน
  2. Xushou , China 10 มิถุนายน
  3. Sokcho , Korea 8 กรกฎาคม
  4. Taipa , Macau 2 กันยายน
  5. Plover cove , Hong Kong 14 ตุลาคม
  6. Sentosa , Singapore 20 ตุลาคม
  7. Chennai , India 16 ธันวาคม

ถ้าเพื่อนๆนักกีฬา อยากรู้ความเป็นไปของไตรกีฬาในประเทศต่างๆในเอเชียก็เข้าไปดูได้ตามนี้นะครับ

India ( www.triathlonindia.com ) ,
Singapore ( www.triathlonsingapore.org ) ,
Hong Kong (www.triathlon.com.hk )

 

มิถุนายน

Ironman Asia จัดขึ้นที่เกาะ เจจู ประเทศ เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ชาวเอเชียสามารถคว้าแชมป์ได้นั่นคือ Yoshinori Tamura โดยเอาชนะ Bryan Rhodes ชาวนิวซีแลนด์เจ้าของแชมป์ Ironman Malaysia ไปได้ ส่วนฝ่ายหญิงนั้น สาวออสซี่คว้าทั้งอันดับ 1 และ 2 ไป ได้แก่ Belinda Granger และ Raeleigh Tennant

ทางด้านการแข่ง Asian Cup นั้น สนามที่ 4 ที่ Xushou สาธารณรัฐ ประชาชนจีน นั้น Daniel Chi Wo Lee ฮ่องกง ยังคงรักษาฟอร์มเก่งไว้ได้โดยสามารถคว้าแชมป์เป็นสนามที่ 3 ของปีนี้เฉือน Lu Chundi จากจีน ไปไม่ถึง 1 นาที ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เพียง 6 วันเขาพึ่งคว้าที่ 1 ใน Asian Cup ที่ ประเทศ ฟิลิปปินส์มา ส่วนประเภทหญิงนั้น Xing Lin คว้าแชมป์ไป และในการแข่งครั้งนี้ มีนักกีฬาไทยเดินทางไปร่วมแข่งด้วย 2 คน คือ กิตติศักดิ์ คะสุดใจ และ สันฐิติ อันทะบาล โดยได้อันดับที่ 20

 

 นำข่าวมาฝากโดย...ธนากร