ผู้เยี่ยมชมตั้งแต่วันที่21พ.ค.50

 

จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ

จากโดมิโนถึงการฝึกวิ่ง

โดย   กฤตย์  ทองคง

 

               คำถามยอดนิยมที่ผู้เขียนได้รับจากพวกเราก็คือ  จะฝึกพัฒนาความเร็วกันอย่างไรดี  บางรายอาจมีคำถามพ่วงมาอีกด้วยว่า  เจ็บตรงนั้น  เจ็บตรงนี้  ทำอย่างจะหายดี  และสามารถวิ่งได้อย่างปกติ  ล้วนเป็นคำถามที่หนักใจผู้ตอบ  เพราะคงจะไม่สามารถตอบได้อย่างถูกใจผู้ถาม  การปฏิบัติตัวที่ดีกับคำถามหนึ่ง  ก็จะไม่ได้เป็นข้อปฏิบัติตัวกับอีกคำถามหนึ่งก็ได้

                ถ้าเจ็บก็ต้องหยุดพัก  และเมื่อหยุดพัก  ก็ชะงักงันการฝึกเป็นธรรมดาจนกว่าจะหาย  ผู้เขียนเคยเขียนไว้มากในบทความต่างๆถึงการพัฒนาความเร็ว  สมควรไปตามอ่านกันให้ดี  กลับมาเขียนอีกที มันนึกไม่ออก  ตอนนี้อยากจะเขียนอะไรที่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด  เพื่อจะได้แง่มุมที่หลากหลายเอาไว้

                จะว่าไป  เคล็ดลับการพัฒนาความเร็วของผู้เขียนก็มีอยู่  แต่ไม่ค่อยเหมือนของผู้ใด  ตัวเองรู้สึกว่า  มันท่าจะดี  ซึ่งการจะเข้าถึงต้องอาศัยพื้นฐานความคิดความเชื่ออยู่ชุดหนึ่งที่จะเอื้ออำนวยให้การปฏิบัติเป็นไปได้จริงๆ

               บอกไปก็ตาโตกัน ว่าสิ่งที่ผู้เขียนทำเอง  ไม่เป็นไปอย่างที่เขียนไว้ ไม่ใช่  10%  ต่อสัปดาห์    อ้าว..อย่างนี้ก็แหกตากันล่ะซิ  ทำไมไม่เอาอย่างที่ตัวเองทำออกมาเขียน

                เข้าเรื่องเลยดีกว่า  จากตำราฝึกวิ่งขนานต่างๆ  ที่ว่าด้วยเรื่องอัตราการเพิ่มความเข้มแผนฝึก ว่าไว้ว่า  ไม่ควรจัดสรรให้เพิ่มความเข้มมากกว่า 10% ต่อสัปดาห์  เพราะหากมากกว่านั้น  อาจทำให้ร่างกายบาดเจ็บได้  จำต้องใช้เวลาให้ร่างกายปรับเพื่อเรียนรู้  ตัวผู้เขียนเพิ่มความเข้มที่น้อยกว่านั้น  สักแค่ 3-4% กระมัง  บางครั้งแค่ 2% ท่านั้นด้วยซ้ำ

                แล้วในส่วนที่ว่าด้วยเรื่องการฝึกกระทำซ้ำ  ที่มีภาษาที่ตัวเองเรียกว่า    แช่เย็น   ที่ตำรากำหนดให้ไม่น้อยกว่า 4-6 ครั้ง ก่อนที่ผู้ฝึกจะเพิ่มเข้าไปอีก  ผู้เขียนเลือกที่จะแช่เย็นการฝึกของตัวเองนานเป็นหลายเดือนเลยครับ  มากกว่าเกณฑ์ตั้งเยอะ

               ทั้งสองอย่างนี้  ผู้เขียนถือหลัก อุ่นใจไว้ก่อน  ไม่ผลักไสให้ตัวเองไปเสี่ยงยืนอยู่ขอบเหวที่เราอาจลื่นไถลลงไปสู่ความบาดเจ็บ  การเผื่อสายป่านไว้ให้มาก  นับเป็นความฉลาดที่เราไม่ควรประมาท

                ถ้าเป็นอย่างนี้  แผนฝึกวิ่งของผู้เขียนก็คงจะพัฒนาช้ามากล่ะซิ  คงใช่ หากพิจารณาทางทฤษฎี  แต่ในทางปฏิบัติ  กลับกลายเป็นพัฒนาได้เร็วมาก เมื่อเทียบกับผู้อื่น

 

               ที่มันเร็วและมันช้า  เพราะอย่างนี้ครับ

                อยากจะเปรียบเทียบการฝึกวิ่งเพื่อการพัฒนาความเร็วนี้  เหมือนกับการเล่นตัวต่อโดมิโน  ที่ล้มทับกันเป็นทอดๆ  ยาวตราบเท่าที่เราต่อ  ควรจัดวางตัวต่อโดมิโนแต่ละตัวอย่างช้าๆรอบคอบและไม่ประมาท  ผู้ที่ต่อได้เร็วอาจทำพลาดล้ม  ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่  ครั้งแล้วครั้งเล่า  ความที่ไม่รู้จักสรุปบทเรียน  จึงเท่ากับเป็นการย่ำเท้าอยู่กับที่  ผิดซ้ำซาก  มันจึงก้าวหน้าช้า  ส่วนรายที่ต่อตัวโดมิโนอย่างช้ารอบคอบ  ก็ไม่ต้องมาเริ่มใหม่  จึงก้าวหน้าได้เร็วกว่า  ที่อาจมีเทคนิคตัดขวางการล้มทับ  เพื่อไม่ให้เสียหายมากได้  ที่ต้องเรียนรู้และฝึกเพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญ

                การฝึกวิ่งก็เหมือนกัน  ความก้าวหน้าในบันไดความเข้มแต่ละขั้นที่น้อยเปอร์เซนต์  ก็ถือว่าเป็นการไปข้างหน้าเหมือนกัน  แต่เราใช้ความช้านั้นไปแลกเปลี่ยนกับการไม่ลงแรงเครียดให้ร่างกายบอบช้ำมาก  แทนที่จะถึง 10% อย่างที่เวชศาสตร์อนุญาต  ทั้งนี้ กลับไปเน้นที่การต่อเนื่องแผนฝึกให้ได้  อย่างขาดซ้อมมากนัก

                ส่วนการแช่เย็นกระทำซ้ำก็เหมือนกัน  อย่าดูแคลนว่า  การแช่เย็น เป็นกิริยาอาการที่น่าเบื่อซ้ำซากเป็นช่วงแห่งการรอคอย  แต่สิ่งนี้แหละที่ทำให้ร่างกายเราเข้าฝักโดยไม่รู้ตัว  ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานเพิ่มระดับความเข้มขั้นต่อไป

                นักวิ่งส่วนใหญ่  มีฝีเท้าเมื่อปีที่แล้วอย่างไร  ปีนี้ก็เท่านั้น  ต่อให้อีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วยซ้ำ     ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  เพราะพวกเขาไม่ตรองเป้าหมายให้ชัด ดังนั้นการเข้าแผนฝึกวิ่งจึงเป็นไปตามกระแส  เพื่อนๆเขากำลังฮิต  ชวนพากันไปก็ไป  หาได้เกิดจากตัวที่เราต้องการจริงๆไม่  พอกระแสซาลง  ไม่มีใครมาต่อคอร์ทเป็นเพื่อนอีกแล้ว  ก็วิ่งอย่างเหงาหงอย  พาลเลิกไปอีกราย  ของมันเหนื่อยนะ 

                การเกาะแผนฝึกที่ไปแบบช้า แต่แน่นอนนี้  ทำให้ขวบปีข้างหน้ามีอนาคตอย่างแน่นอน  ขอเพียงแต่ตั้งใจให้แน่วแน่  เกาะแผนให้ติดหนึบเลย  พวกเรามักจะเห่อฝึกกันไม่กี่สัปดาห์ ไม่กี่เดือน  คงไม่มีโปรแกรมใดสามารถพัฒนาได้มากหรอก กับเวลาเพียงไม่กี่เดือนนี้

                อยากให้พวกเราฝันให้ไกลและไปให้ถึง  ตัดสนามแข่งให้น้อยลง  เอาเวลาไปจดจ่อกับการซ้อม  ไม่ต้องสาละวนกับการตะกายขึ้นตะกายลง  เดี๋ยว Taper  เดี๋ยว Recovery  ที่ทำให้ไม่สามารถต่อเนื่องการซ้อมอย่างเป็นกระบวน  ลองตรองให้ชัด  ทำอย่างนี้สักปีสองปี  ผู้เขียนรับประกันได้ถึงความพอใจ  ใครๆเขาฝึกกัน  2-3  เดือนเราฝึกกันเป็นปี  ระยะเวลาที่ต่างกัน  การแช่เย็นมันทำให้หนาแน่นผิดกัน  แม้ตัวขั้นบันได ก็มากขั้นกว่า  ผลลัพธ์มันจึงต่างกัน

                จึงขอฝากมายังพวกเราที่รักจะฝึกความเร็ว  ให้ถามตัวเองว่า  เราต้องการฝีเท้าจริงๆหรือเปล่า  จะเอามันไปเพื่ออะไร  เมื่อเร็วไปแล้วใช่ว่าจะประหยัดเงินทองก็ไม่ใช่  ไม่ว่าแชมป์หรือแนวหลัง  ก็ต้องจ่ายค่าสมัครเท่ากัน  สุขภาพที่เป็นภูมิต้านทานโรคก็ไม่ต่างกันมาก  เอาถ้วยไปแลกเป็นเงินก็ไม่ได้  และเพื่อที่จะได้มันมา  เราต้องอดทนเกาะแผนเป็นปีๆ จะทำได้หรือเปล่า  จะเอาเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นและวินัยมาจากไหน  ทั้ง  Body Strengh  และ  Mental toughness 

                ถ้าตรองตกแล้ว  จะเอาก็เอา  แม้จะล้มเหลวครั้งที่ร้อยเราก็จะไม่หวั่นไหว  ขอสักสองร้อยสามร้อยครั้งก็ยังได้  ถ้าอย่างนั้น  ลองปักหลักแลกหมัดกับมันสักระยะ  ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว  รับรองคุ้มค่าขอบอก  ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร

  

00:03  น.

27  ธ.ค.  2548