<% Set FileObject = Server.CreateObject("Scripting.FileSystemObject") Dir = Request.ServerVariables("SCRIPT_NAME") Dir = StrReverse(Dir) Dir = Mid(Dir, InStr(1, Dir, "/")) Dir = StrReverse(Dir) HitsFile = Server.MapPath(Dir) & "\hitcounter\hits_the_golden_days.txt" On Error Resume Next Set InStream= FileObject.OpenTextFile (HitsFile, 1, false ) OldHits = Trim(InStream.ReadLine) NewHits = OldHits + 1 Set OutStream= FileObject.CreateTextFile (HitsFile, True) OutStream.WriteLine(NewHits) %> วันทองคำ_กฤตย์

ผู้เยี่ยมชมตั้งแต่วันที่17ต.ค.49<% L=Len(NewHits) i = 1 For i = i to L num = Mid(NewHits,i,1) Display = Display & "" Next Response.Write Display %>

 

วันทองคำ

The golden days

 

โดย   กฤตย์  ทองคง

 

               ให้ระลึกไว้เสมอว่า   “การไม่วิ่ง”   เป็นส่วนสำคัญในแผนฝึกวิ่งมากๆพอๆกับการฝึกวิ่งเอง   ฟังแล้วออกจะขัดหูพวกเราหากไม่เคยชิน   แต่มันเป็นความจริงแท้  ร้อยเปอร์เซนต์ครับ

 

               นอกจาก   “ไม่วิ่ง”   จะหมายถึงวันหยุดประจำสัปดาห์ที่ร่างไว้ในตารางวิ่งแล้ว   การไม่วิ่ง  ย่อมหมายความกว้างไปถึง  การหยุดวิ่งเพิ่มเติมจากที่ใส่เข้าไปในโปรแกรมฝึกเมื่อร่างกายเกิดอาการล้ามากกว่าปกติ   โดยเราไม่ควรต้องไปเสียเวลาหาเหตุผลว่า  ทำไมถึงล้ามากเช่นนั้น   เพราะไม่ว่ามันจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม   เราก็ต้องทำให้มันฟื้นกลับคืนให้ดีดังเดิมด้วยการ หยุดพักใช้งาน(วิ่ง)นั่นเอง

 

               เป็นไปได้เสมอที่แผนวิ่งที่ผ่านการร่างมาอย่างดีที่สุดสำหรับผู้นั้นแล้ว ยังอาจเกิดความล้าหรือเครียดจากการฝึกซ้อม จนกระทั่งวันหยุดและวันฝึกเบา   ตามที่กำหนดรับมือไม่ไหว  จำต้องใช้การหยุดเสริมพิเศษเข้าไป

 

               การหยุดเสริมพิเศษนี้   ไม่มีทางที่จะเขียนลงไปในตารางวิ่งได้   เพราะเราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่า  เราจะพบมันที่ตรงไหน   ต้องให้เกิดเหตุการณ์เป็นคราวๆไป  จึงจะจัดการได้อย่างเหมาะสม

 

               ผู้เขียนสังเกตพวกเรา   ถ้าจะหยุดเสริมขึ้นมา   ดูให้ทรมานใจและไม่สามารถทำใจรับได้   เสมือนถูกบังคับให้ต้องทำบาปกรรมอะไรสักอย่าง   ทั้งๆที่ภาพของมันจริงๆก็คือ  ตรงกันข้าม   การที่ยังฝืนตะบี้ตะบันวิ่ง , ซ้อม , และฝึก   ไปอย่างที่เนื้อตัวเรารู้สึกอยู่ทนโท่นั้น   มันเป็นอาการที่เหมือนผ่าไฟแดง  ที่นั่นแหละอันตราย   เป็นบาปกรรมที่ตนเองมีหน้าที่จะต้องไปชดใช้ภายหน้า

 

               จึงขอบอกมายังเพื่อนรักทั้งหลาย   จงปรับเปลี่ยนความคิดความเข้าใจเสียใหม่   อย่าลังเลเมื่อจะหยุดวิ่งเสริม  เมื่อความรู้สึกมันฟ้อง   อย่าเร่งรัดให้ตัวเองกรอบ  แล้วสุดท้ายก็จะไปกล่าวโทษ  somethings  ที่บังเอิญโคจรมาสัมผัสเพียงแผ่วเบา   แล้วเกิดอาการแตกหักขึ้นทั้งๆที่ถากแค่ผิว  อย่างที่เป็นใครก็น่าจะทนได้   แต่ที่เรารับไม่ได้  เพราะขาดการยืดหยุ่นตัวแล้วนั่นเอง

 

               อันที่จริงความผิดพลาดทั้งหลายแหล่มิได้เกิดจาก  somethings  นั้นด้วยตัวของมันเอง  แต่เพราะเป็นตัวของเรา   ที่กระเถิบไปยืนหมิ่นเหม่ที่ปากขอบเหว อย่าน่าเสียวไส้  มาเป็นระยะหนึ่งอย่างไม่เชื่อฟังคำเตือนต่างๆ

 

               จงหมั่นถามตัวเองว่า   “การวิ่ง”   นั้นสำคัญกับเราขนาดไหน   การที่ต้องพักวิ่งเป็นเรื่องใหญ่ของเราใช่หรือไม่   ยิ่งการอดวิ่งนานๆ   ยิ่งเป็นอะไรที่ทนไม่ได้   ดังนั้นเราจำต้องพยายบามทำความเข้าใจหลักการข้อนี้ให้แจ่มชัด  และยอมสูญเสียวันวิ่งที่เป็นส่วนน้อย   Extra days off  ไปวันสองวันเพื่อรักษาความเป็นไปส่วนใหญ่   วันสองวันนี้ผู้เขียนเรียกมันว่า  “วันทองคำ”   The golden days  มันอาจมีความหมายเทียบเท่ากับระยะเวลาวิ่งเป็นเดือนๆที่จะหายไปจากความบาดเจ็บหากชะตากรรมเกิดเล่นตลก   และอาจเป็นปีหากดื้อรั้น   สำหรับรายที่ดื้อรั้นเป็นพิเศษ อาจถูกธรรมชาติริบเอาความเป็นนักวิ่งตลอดไป   มีมาเสียนักแล้วจะบอกให้

 

               เพราะรู้ว่าพวกเราคิดอย่างไรกับการอดวิ่งไง  จึงเตือนมา   Doug  Kurtis  นักวิ่งฝรั่ง อดีตแชมป์กรุงเทพมาราธอนหลายปีก่อน  กล่าวว่า  “Don’t be afraid to take days off. “

 

ในหนังสือ   Lore of runnig.  โดย นายแพทย์  Timothy  Noakes  M.D.  ได้ศึกษาแบบแผนการฝึกของนักวิ่งแนวหน้าต่างๆจำนวนมาก   โดยมุ่งพิจารณาว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้สำเร็จและล้มเหลวในชีวิตวิ่งของพวกเขาเหล่านั้น   พบว่า  ในบรรดานักวิ่งที่ล้มเหลวมักมีแนวโน้มเป็นคนที่เชื่อมั่นกับการฝึกอย่างหนักว่าการฝึกเช่นนั้นจะเอื้อผลที่ดียิ่งขึ้น  (More is better)  และจะไม่พึงใจหากจะต้องพักวิ่งเสริมแม้จะเป็นจำนวนเล็กน้อย   ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างจาก  Jim  Peters  ที่ล้มลงกลางการแข่งขันทั้งๆที่เห็นเส้นชัยแล้ว ใน  Commonwealth Games  1954  แล้วก็เลิกวิ่งเลยหลังจากนั้น   ที่นายแพทย์  Noakes  กล่าวว่า ถ้าหากปีเตอร์เพียงแต่เลิกนิสัยซ้อมวิ่งจนวันสุดท้าย (ไม่มี Taper)  จัดแผนฝึกตัวเองใหม่  ไม่ให้มีหนักล้วนๆ  โดยให้เป็นหนักสลับเบา   ถ้าทำได้ดังนี้เชื่อว่า  ปีเตอร์น่าจะไปกับอนาคตวิ่งที่ไกลกว่านี้

 

               ตัวอย่างแบบนี้มีมาให้ชมอยู่เรื่อยๆในหน้าประวัติศาสตร์การวิ่งไม่ห่างหายให้ลืมเลือน   เดี๋ยวๆก็มีอีก   ด้วยฤทธิ์เดชของการลุ่มหลงมนต์เสน่ห์ของเอนโดฟินส์  จนมิอาจควบคุมตัวตน  และถูกเวทย์มนต์แห่งความปรารถนาความสำเร็จมาหลอกหลอนให้ก้าวไปผิดทาง   ด้วยการมีทัศนคติที่ต้องฝึกให้หนักเข้าไป  หนักเข้าไป   ยิ่งหนักเท่าใด  ความสำเร็จก็ยิ่งใกล้เข้ามาขนาดนั้น

อ นิ จ จ า ........

               ถ้าเพียงเราจะฝึกวิ่งอยู่คนเดียวในจักรวาล   โดยปราศจากสรรพความรู้รอบกาย  ไม่มีหนังสือ , ไร้อินเตอร์เน็ต และปราศจากประสบการณ์นักวิ่งในอดีต   เราก็อาจต้องขับเคลื่อนพัฒนาการวิ่งด้วยการลองผิด-ลองถูกล้วนๆ   ซึ่งอย่างแน่นอน ผิดย่อมจะต้องมากกว่าถูกอย่างท่วมท้น   กว่าพวกเราจะจับหลักการได้สักข้อหนึ่ง กว่าจะลงมือทำ และจดจาร  บอกต่อ  หัวก็คงหงอก  แก่หมดเรี่ยวหมดแรงวิ่ง

 

               เพราะโลกเราสามารถยังประโยชน์  สานต่อองค์ความรู้เวชศาสตร์การกีฬาที่บรรพบุรุษทั้งในคราบนักวิ่งและในคราบนักวิทยาศาสตร์วิจัยกันมาเป็นร้อยๆปี  จะทำให้เราไปทางลัดได้  ก็ควรไป  ไม่จำเป็นจะต้องมานับหนึ่งกันใหม่ทุกครั้งที่มาวิ่ง  มันคือ  อารยธรรมที่สัตว์อื่นๆไม่มีเหมือนเผ่าพันธุ์มนุษย์

 

               “การเกาะติดแผนวิ่ง”  มิได้หมายความว่าติดหนับเปลี่ยนแปลงไม่ได้   เพราะร่างกายเราเปลี่ยนชิ้นอะไหล่ไม่ได้เหมือนเครื่องยนต์   จึงต้องใช้มันอย่างทนุถนอมไปพร้อมๆกับการลงแส้เป็นพักๆ

 

               แปลกนะคนเรา   เมื่อไม่วิ่ง ก็ไม่วิ่ง   ไม่ยอมออกกำลังกายใดๆเลย  ชวนเท่าไรก็ไม่เอา  ล้วนมีข้ออ้างเต็มไปหมด   แต่พอติดวิ่งก็วิ่งกันเตลิดเปิดเปิงหยุดไม่ได้

 

 

04:00  น.

11  ตุลาคม  2549

วันที่ฝนหนักและน้ำท่วม