<% Set FileObject = Server.CreateObject("Scripting.FileSystemObject") Dir = Request.ServerVariables("SCRIPT_NAME") Dir = StrReverse(Dir) Dir = Mid(Dir, InStr(1, Dir, "/")) Dir = StrReverse(Dir) HitsFile = Server.MapPath(Dir) & "\hitcounter\hits_surge.txt" On Error Resume Next Set InStream= FileObject.OpenTextFile (HitsFile, 1, false ) OldHits = Trim(InStream.ReadLine) NewHits = OldHits + 1 Set OutStream= FileObject.CreateTextFile (HitsFile, True) OutStream.WriteLine(NewHits) %> SURGE เซอร์จ แปลว่า เคลื่อนไหวเป็นคลื่นขึ้นๆลงๆ

ผู้เยี่ยมชมตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค 48 <% L=Len(NewHits) i = 1 For i = i to L num = Mid(NewHits,i,1) Display = Display & "" Next Response.Write Display %>

SURGE


......โดย กฤตย์ ทองคง

 

อ่านว่า “เซอร์จ” แปลว่า เคลื่อนไหวเป็นคลื่นขึ้นๆลงๆ แปรเปลี่ยนกลับไปกลับมา แต่ความหมาย ในวงการวิ่งระยะไกล หมายถึง เป็นการเร่งจังหวะวิ่งให้เร็วขึ้นกว่าเดิมหรือเร็วกว่าเพซ (Pace) ปกติเล็กน้อย เพื่อผลที่ดีกับตัวผู้วิ่งเอง หรือเพื่อคุณประโยชน์ต่อผลการแข่งขัน

อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า โดยปกติการวิ่งระยะไกลของนักวิ่งทั้งหลาย เราจะวิ่งตาม Pace ของตัวเอง ที่ไม่เร็วเกินระดับความสามารถของตน ซึ่งนักวิ่งทุกคนจะทราบดีว่าระดับของเขาอยู่แค่ไหน จะทำให้เขาสามารถวิ่งได้ครบระยะทางในความเร็วที่ดีที่สุด การที่วิ่งด้วยความเร็วที่เกินระดับของตนเองจะทำให้เกิดมีอาการเป็นอื่นก่อนถึงเส้นชัย จึงเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ย่อมต้องมีข้อยกเว้นเสมอ การเร่งขึ้นเล็กน้อย อย่างรู้จังหวะจะโคนว่าเมื่อไรควรเร่ง หรือเมื่อไรควรไปเรื่อยๆ ถ้านักวิ่งเลือกกระทำได้ถูกจังหวะก็จะทำให้สามารถทำความเร็วได้ดีในผลการแข่งขันอย่างน่ามหัศจรรย์

การเร่งความเร็วตรงนี้ เราเรียกว่า Surge หรือเรียกเต็มๆว่า Surging Strategies ณ ที่นี้ผู้เขียนสมัครใจจะเรียก Surge อย่างตรงๆอย่างนี้ ไม่เรียกเป็นภาษาไทยว่า “เร่ง” หรือคำอื่นๆ เพราะยังให้ความหมายได้ไม่ตรงทีเดียวนัก

ท่ามกลางการแข่งขัน เมื่อเรา Surge ขึ้นไปสักระยะหนึ่งจนจบการ Surge เราจะต้องกลับมาวิ่งที่ Pace เดิมได้ Pace เดิมที่เป็นตัวเป็นตนของเรา ไม่ใช่ Surge ขึ้นไปแล้วหมดแรงไปแฟ่บแบนแต๋ดแต๋ตกเร็ววูบ อย่างนี้ไม่ใช่ Surge และเมื่อนักวิ่งวิ่งต่อที่ Pace เดิมไปอีกพักใหญ่พักหนึ่ง เขาก็น่าที่จะสามารถ Surge ขึ้นไปได้อีก

โดยธรรมชาติ การ Surge ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้บ่อยๆ นัก เพราะความเร็วที่นักวิ่งทำได้ ไม่ใช่ของที่ประทานจากสวรรค์มาเปล่าๆ หากมาแต่ต้นทุนราคาแพงในรูปกลัยโคเจน เชื้อเพลิงที่นักวิ่งหวงนักหวงหนา ทุกครั้งที่เปิดวาล์วหัวเชื้อเพลิงพิเศษนี้ นั่นหมายถึงเราเอาปริมาณกลัยโคเจนไปแลกมันมา ดังนั้นถ้าเกินระดับเร็วไปหรือบ่อยเที่ยวไปมันจะชนกำแพงน่ะซิครับ

และนักวิ่งผู้มีประสบการณ์ย่อมต้องรู้จักผ่อน Surge นั้นลง ปิดวาล์ว ลดพลังเทอร์โบลงสลับมาเป็นเครื่องธรรมดาก่อนที่มันจะหมดแรงจริงๆ เพราะจะรอให้หมดเสียก่อนไม่ได้ มันคือ “ความบันยะบันยัง” นั่นเอง เพื่อที่ว่าการลดลงมานั้นเป็นการลดลงมาโดยที่ยังไปต่อได้เหมือนเดิม ใน Pace ที่คุณเคยวิ่ง ไม่ใช่การจ็อกที่ช้าลงเหมือนตอนคุณลงคอร์ท

ต่อไปนี้ คือแนวทางคร่าวๆที่ผู้เขียนให้ไว้เพื่อพวกเราจะได้ทำความรู้จัก ,ใช้ประโยชน์ และหลีกเลี่ยงพิษภัยจากมันได้

โดยทั่วๆไป นักวิ่งจะใช้ Surging Strategies ในสถานการณ์ ต่อไปนี้

ตอนแรกออกตัว

พวกเราใช้ข้อนี้กันมากจนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักวิ่งแนวหน้า และมือรางวัล คือ พอเสียงฆ้องปล่อยตัวลั่นก็พุ่งปราดออกไปเลย เพื่อหลีกหนีม็อบเกณฑ์และเด็กๆเล็กๆที่มักจะเกะกะ บ้างพุ่ง Surge ออกไป 1 โลบ้าง 3 โลบ้าง แล้วแต่ความสามารถของใครของมัน จากนั้นพวกเราก็จะตบความเร็วลงมาที่ Pace ปกติ เท่ากับความเร็วของพวกแนวกลางที่กำลังตามมาห่างๆ แต่พวกเขาก็แน่ใจว่า พวกกลุ่มที่ตามมา ไม่มีทางตามเขาทัน ใช่หรือไม่ครับว่า ด้วยความเร็วที่เท่ากัน ย่อมไม่มีทางที่จะทันกันได้โดยเด็ดขาด

ดังนั้น นักวิ่งพวกนี้ มีความเชื่อว่า ยุทธวิธีแบบ Surge ตอนออกตัวตอนแรก จะเท่ากับเป็นการทนเหนื่อยแป็บเดียวเอง แล้วอีกราว 90 % ของระยะทางแข่งขันที่เหลือ เขาก็จะใช้ความพยายามวิ่งเท่ากับความเร็วของกลุ่มทั่วๆไป ซึ่งถ้าเขาเลี้ยงสภาพเช่นนี้ได้ตลอดการแข่งขัน ก็จะชนะได้ถ้วยรางวัลแล้ว

แม้หากจะมีนักวิ่งใดตามมาทัน ก็ย่อมจะมาในรูปทันแบบหอบแฮ่กๆแล้ว นั่นเขาจะต้องเท่ากับ Surge อีกครั้งเพื่อหนีทำระยะให้ห่าง ซึ่งมีความน่าจะเป็นไปได้ ด้วยว่าผู้มาใหม่ย่อมจะหมดแรงหรือเปลี้ยลงกว่าเขาที่ผ่านการเกาะ Pace ปกติอยู่

แต่มันมีข้อแม้อยู่ประการหนึ่ง ซึ่งนั่นก็คือ สิ่งที่เขาทำนั้นจะต้องเป็น Surge ที่กลับมาทำความเร็วเป็นปกติได้ ไม่น้อยกว่าผู้อื่น

ขณะจุดกลับตัวหรือเลี้ยว

มันเป็นธรรมชาติที่นักวิ่งจะต้องเบาความเร็วลง เมื่อถึงจุดกลับตัวก่อนเลี้ยวเพื่อการทรงตัว และชดเชยความเร็วที่เสียไป จำต้องออกแรง Surge ขึ้นไปในสักช่วงหลังผ่านโค้งนั้นไปแล้ว
ตรงข้าม หากนักวิ่งไม่พยายามลดความเร็ว จะเท่ากับ เขาเปิดช่องว่างให้นักวิ่งคู่แข่งขันที่ตีประกบมาด้านหลังเสียบเข้าช่องโค้งด้านใน ซึ่งมันเป็นระยะที่สั้นกว่า แซงไปอย่างไม่ยาก

 

Surge ขณะขึ้นเขาหรือทางชัน

หากนักวิ่งเริ่ม Surge ทันทีตั้งแต่ตีนเขา เขาย่อมจะหมดแรงบนยอด และไม่อาจรักษาความเร็วและตำแหน่งไว้ได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุด เขาควร Surge เมื่อระยะทาง 2 ใน 3 ของทางชันนั้นผ่านไปแล้ว เพื่อที่ร่างกายยังไม่ถึงกับหมดฟอร์มบนยอดเขา และที่มีแรงอาจจะได้ Surge ขาลงเพื่อสร้างระยะตีหนีห่างคู่แข่งขันได้อีกด้วย กลับกันหากนักวิ่งหมดแรง แม้แต่การลงเขาที่มีแรงดึงดูดโลกช่วย ก็อาจถูกผู้ที่มีฝีเท้าด้อยกว่าแต่สดกว่า แซงเอาได้ครับ เห็นบ่อยๆไป

ณ จุดเมื่อเกิดความเมื่อยล้า

เอ..จะเป็นไปได้อย่างไร นี่เธอจะแนะนำให้ฉันเร่งเร็วเมื่อตอนที่ฉันกำลังจะเริ่มแย่กระนั้นหรือครับ..ถ้าในระยะมาราธอน ที่กลางเส้นทางหรือครึ่งหลัง ที่วิ่ง Pace เดิมมานาน นักวิ่งจะเมื่อยล้า จะเป็นความฉลาดมากหากจะลองเปลี่ยนความเร็วมาเป็น Surge ชั่วขณะ เพราะการ Surge จะช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนกลุ่มกล้ามเนื้อใช้งานจากเดิม ที่เคยใช้กล้ามเนื้อ Slow-Twitch Muscle Fibers มาเป็นกล้ามเนื้อกลุ่ม Fast-Twitch Muscle Fibers และ พักใช้งานกลุ่มกล้ามเนื้อเดิมให้น้อยลง เมื่อกลับเข้ามา Pace เดิมก็จะรู้สึก “สด” ขึ้น เล็กน้อย อีกทิ้งระยะคู่ประกบเมื่อครู่นี้ให้ห่างออกไป นี่คือกำไร 2 ต่อ

ณ เมื่อคิดจะลากคู่ต่อสู้ให้บอบช้ำ

เป็นยุทธวิธีเช่นเดียวกับนักมวยที่ตบซัดลำตัวคู่ต่อสู้ให้น่วมอ่อนย้วยสิ้นเรียวแรงเสียก่อนที่จะออกหมัดชุดฟ้าบันดาลให้เห็นดาวน็อคเอ้าท์ สำหรับสมรภูมิวิ่ง ณ กลางสนามที่ซึ่งกำลังประกบกันอยู่ก้าวต่อก้าว อาจจะแกะคู่แข่งขันไม่ออก ถ้าวิ่ง ณ Pace เดิม ความพยายามของเราที่จะรักษา Pace เดิมไม่ให้ตกนั้น มันจะเท่ากับเป็นการลากให้คู่ประกบเข้าเส้นชัยไปได้ ระยะที่ใกล้เส้นชัยเข้าไปทุกทีเช่นนั้น จึงเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ อันดับการแข่งขันอาจถูกคู่ประกบ ตบสลับกลับอันดับได้เสมอในเฮือกสุดท้าย มันเสี่ยงเกินไป ดังนั้นการฉีกตัวหนีออกไปด้วยการ Surge ที่กลางเส้นแข่งขันอาจแกะเขาออกได้สำเร็จ และเป็นไปได้เหมือนกันที่คู่ประกบอาจเกิดความลังเลว่า จะปล่อยคุณไปดีหรือจ้องเกาะตามติด ถ้าเขาตัดสินใจที่จะปล่อยไป คุณก็ Bingo แต่ถ้าเขายังตามเกาะคุณติดแจ ก็เท่ากับคุณยึดกุมสถานการณ์ที่เป็นผู้กำหนดจังหวะความเร็วว่าเมื่อไรจะออก Surge ในช่วงที่เป็นประโยชน์กับเรา และไม่เอื้อกับเขา

โศกนาฏกรรมฉากนี้ เซียนอาวุโสจอมวรยุทธ ได้สอนมวยลากเอาหนุ่มฝีเท้าจัดดาวรุ่งให้ร่วงมาเสียมิรู้ต่อกี่ศพแล้ว ด้วยจอมเก๋าเขารู้จักตัวเอง และเดาใจหนุ่มห้าวออก แต่หนุ่มเรากลับไม่รู้ขีดจำกัดตัวเอง เอาแต่ใจเข้าแลกว่า “สู้โว้ย” ต้องให้ได้ เลยกลายเป็นนกกระจิบคอพับในที่สุด

ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายใด เป็นหนุ่มหรือเซียนเก๋า สิ่งที่คุณจะต้องทำก็คือ ต้องรู้จักตัวเองว่าระยะที่คุณจะ Surge นั้น จะได้ด้วยความยาวเพียงใด และความเร็วของ Surge จะเป็นแค่ไหนที่จะทำให้คุณไม่เพลี้ยงพล้ำเมื่อเสร็จการ Surge

ณ เมื่อใกล้เส้นชัย

โปรดตระหนักว่า การเลือก Surge ช่วงนี้เป็นช่วงที่น่าเสี่ยงที่สุดกว่าระยะอื่นใด เพราะร่างกายได้สะสมกรดแลคติคอันเป็นของเสียจากกระบวนการวิ่งและสะสมความเมื่อยล้าเอามาตั้งแต่ต้นแล้ว การ Surge ระยะนี้อาจทำให้เกิดตะคิวหรือบาดเจ็บอื่นๆได้ ด้วยเหตุนี้ ถ้าปราศจากตัวประกบที่เข้มงวดแหลมคมชิงได้ชิงเสียจึงไม่ควร Surge โดยไม่จำเป็น

การ Surge ณ จุดนี้ คุณควรเตรียม Surge ที่นานและไกลที่สุด โดยทั่วๆไปน่าจะเป็นระยะ Surge ตั้งแต่ 800 เมตรถึง 1 ก.ม.ก่อนเข้าเส้นชัย และค่อยๆ Surge ขึ้นไปอีกจากที่ Surge ไว้แล้ว ระยะ Surge ที่สองที่ขึ้นไปอีกนี้อาจจะไม่จัดเป็นการ Surge แล้วก็ได้แล้วแต่จะเรียก (บ้างก็เรียกว่าก็อกสอง) ให้ยาวไปจนเข้าเส้น แม้มันจะเกินระดับก็ไม่ต้องไปสนใจมัน ด้วยคงเหลือระยะวิ่งอีกไม่กี่ร้อยเมตรแล้ว

แต่ต้องแน่ใจว่าคุณสามารถทำมันได้โดยตลอดกับระยะที่เหลือ ถ้าคุณไม่แน่ใจอย่าทำเป็นอันขาด ถ้ากะผิด โดนแซงกลับมา ก็ถือเป็นประสบการณ์ซื้อบทเรียนไป และวิธีที่ดีที่สุดคือให้ทำขณะซ้อม ที่ก่อนจบการฝึกของทุกวัน คุณควร Surge ในกิโลสุดท้าย เร่งขึ้นและเร่งขึ้น อย่างที่บรรยายไปตอนต้น

พูดไปเช่นนี้แล้ว คงจะมีผู้ให้ความเห็นว่า ผู้เขียนเอาอะไรมาพูด เพราะทำแล้วมันเหนื่อย หลัง Surge แล้ว ความเร็วมันจะตก ทำไปก็เสียเปล่า นอกจากจะโดนแซงคืนแล้ว ยังถูกแซงแบบทิ้งให้ห่างออกไปจากเดิมเสียอีก เราจะช้าลงด้วยความเหนื่อยจากการ Surge นี่เอง

ถูกต้องเลยครับ นักวิ่งในระดับของพวกเรา คงไม่ง่ายที่จู่ๆจะลุกขึ้นมา Surge แต่อย่าลืมว่า แชมป์ก็มิใช่ผู้ที่สามารถ Surge ได้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เขามาฝึกเอาที่ภายหลังทั้งสิ้น ก็อย่างที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้กับความเห็นเรื่องการฝึก Speed Work ว่าใครๆก็ฝึกคอร์ทได้ทั้งนั้นในทุกระดับฝีเท้าและความสามารถ ครั้งนี้ก็เช่นกัน ก็อยากจะกล่าวอีกว่า ใครๆก็ฝึกเพื่อสร้างความคล่องตัวในการ Surge ได้ทั้งนั้นเช่นกัน

การจะ Surge ได้ดี จะเกิดขึ้นอย่างไม่ยากนัก

ในรายที่ฝึกฝนสิ่งต่อไปนี้ได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

ประการแรกคุณจะต้องรู้จักฝึกควบคุมการจ็อคสลับในการลงคอร์ท (Interval Training) อย่างเคร่งครัด

จริงอยู่ คนไม่ลงคอร์ทก็สามารถ Surge ได้ แต่จะไม่นานและไม่ทน จะเหนื่อยง่ายกว่าในรายที่ฝึกคอร์ทมา ถ้าจะให้กล่าวอย่างจำเพาะเจาะจงลงไป เพื่อจะเอาไปลงมือทำว่า คอร์ทเพื่อการฝึก Surge นี้จะควรเป็นระยะทางกี่เมตร , คอร์ทกี่เที่ยวและเที่ยวละกี่วินาที ก็จะบอกว่า ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ตรงนั้นครับ คุณจะทำกี่เมตรกี่เที่ยวกี่วินาทีก็ได้ แต่การพักจ็อกนี่ซิ คุณควรฝึกหัดควบคุมให้พักจ็อก(ให้น้อย)เท่ากันทุกเที่ยว อย่ามัวแต่ฝอย , โม้ และพูดคุย ขณะฝึกคุณต้องมีระดับความใส่ใจกับการบ้านให้มากพอ ประเด็นสำคัญก็คืออย่าพักจ็อกจนหายเหนื่อยสิ้นเชิง แต่แค่พอหายจากความทรมานที่เป็นหนี้ออกซิเจนแล้วให้ออกตัวอีกได้เลย หัวกะทิมันอยู่ตรงนี้ เช่น

ถ้าวิ่งคอร์ทที่ระยะ ควรพัก หรือจ็อก
200 เมตร 1 นาที 200 เมตร
400 เมตร 2 นาที 400 เมตร
800 เมตร 3-4 นาที 800 เมตร
เท่ากันทุกเที่ยว

                    

แล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคล และความเป็นไปได้จริงจากการปฏิบัติ และถ้าฟิตขึ้นมาตามกาลเวลาที่ผ่านไป มันจะรู้สึกเหนื่อยน้อยลง ก็ให้ลดเวลาจ็อกลง จนคุณยังรู้สึกเหนื่อยเหมือนเดิมก่อนออกตัวเที่ยวต่อไป อย่าให้สบายดี มันนานไปครับ จากนั้นก็ให้คุณปิดฝาหม้อ ราไฟลง ตุ๋นต่อไปให้นานๆ เป็นเดือนๆเป็นหลายๆเดือน อย่าเพิ่งซ่ำแซะ เปิดฝาหม้อออกชิม ใส่อะไรอีก ระยะเวลาที่ผ่านไป รสชาติมันจะกลมกล่อมเอง การไปชิมก่อนเวลา มันจะไม่อร่อยเลย อย่าเพิ่งติเรือทั้งโกลนว่า “ฉันเชื่อคุณกฤตย์แล้วไม่เห็นผลเลิกดีกว่า” ใจต้องเย็นต้องหล่อเลี้ยงและรอคอยให้เป็น ให้เกาะตามที่แนะนำไป อย่างมั่นคงแจ่มชัด เดี๋ยวมันอร่อยเอง

ประการที่สอง คุณต้องฝึกวิ่ง N.S. (Negative Split)

อยากให้ผู้อ่านกลับไปตามบทความเรื่องเนกาทีฟ สปริท ของผู้เขียน เพื่อให้เข้าใจได้แจ่มแจ้ง เพราะได้เขียนไว้ละเอียดดีแล้ว ที่กล่าวโดยย่อก็คือ

ทุกแผนการฝึก ที่ไม่ว่าคุณจะฝึกสปริ้นท์ความเร็ว , คอร์ท , วิ่งยาว , หรือเทมโปใดๆทั้งสิ้น คุณควร วิ่งให้ครึ่งหลังของระยะทางเร็วกว่าครึ่งแรกอยู่เล็กน้อย จะเป็นไปได้อย่างนั้น สิ่งที่คุณต้องกำหนดออกมาให้ได้เป็นสิ่งแรกคือ ระดับความสามารถของตนเองควรจะวิ่งได้ที่ ณ ความเร็วใด แล้วเอามาจัดแบ่งสรร โดยวิ่งครึ่งแรกให้เผื่อแรงไว้ อย่าเพิ่งด่วนเทแรงมากเกินไป ถ้ายังทำไม่ได้(ซึ่งเป็นธรรมดา)ก็ให้กลับไปทำใหม่ โดยครั้งนี้เผื่อแรงของเผื่อแรงอีก ถ้ายังทำไม่ได้อีก ก็ให้กลับไปทำอีกให้ได้ เพราะไม่ได้กำหนดเวลาครี่งแรกและเวลารวมว่าขั้นต่ำจะต้องเป็นเท่าไร ประเด็นมันอยู่ที่สัดส่วนครับ

อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้เห็นว่ายาก ถ้ามองว่ายาก มันจะยากเลย ไม่ง่าย จากประสบการณ์ของผู้เขียนตลอดชีวิตวิ่ง พบความแตกต่างระหว่างแชมป์กับผู้ที่ไม่ใช่แชมป์ก็คือ แชมป์จะเป็นพวกที่มีแนวโน้มเพียรพยายามแก้ไขความล้มเหลวให้ดีขึ้นอีกให้ได้ ครั้งแล้วครั้งเล่า อย่างไม่ท้อถอย หาใช่พรสวรรค์หรือช้างเผือกที่ไหนไม่

และเช่นกัน อย่างเมนูที่แล้ว คุณต้องตุ๋นมาต่อ ให้เวลากับมัน ไม่ใช่พอยังไม่เห็นผล ก็โวยวาย พอถามว่าตุ๋นมานานเท่าไร ตอบมาแค่ 2-3 สัปดาห์ อย่างนี้ก็นิมนต์กลับไปทำต่อครับ แชมป์เขาลงคอร์ทกันตลอดไป ไม่ใช่มาถามไถ่กันให้วุ่นวายราวกับว่า เมื่อมีฝีเท้าดีขึ้นแล้วจะเลิกลงคอร์ทกระนั้น
ต่อเมื่อคุณได้ลงมือทำ ได้ตุ๋นให้นานพอ โดยอุทิศเวลาและความใส่ใจอย่างพอเพียง ผู้เขียนรับประกันผลครับ ไม่มีที่จะ Surge ไม่ได้ หนุ่มห้าวอย่างคุณจะผันผายตัวเองเป็นสุภาพบุรุษหน้าหยก ลากวรยุทธจอมเก๋าที่ประมาทให้หัวทิ่มหัวตำได้ไม่ยากเลย

09:16 น. 5 พ.ย. 2547 แนวทางจาก Make a Break for It โดย Ed Eyestone นักวิ่งโอลิมปิค 2 สมัย และโค้ชวิ่งครอสคันทรี่ มหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง ปริญญาโทพลศึกษา R.W. Sep 2002 P.34