อาการปวดท้องของนักกีฬา

 

 

โดย…นพ.เรืองศักดิ์ ศิริผล

 

ท่านผู้อ่านที่เคยออกกำลังหรือเล่นกีฬา ต้องเคยมีประสบการณ์เคยปวดท้องก่อน ขณะออกกำลังกาย และหลังออก

กำลังมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาจจะไม่รุนแรง แต่บางครั้งก็อาจรุนแรงถึงขนาดต้องผ่าตัดก็มี  ผมเลยขอนำเรื่อง “ปวดท้อง” มาเล่าสู่กันฟัง

 

อาการปวดท้องอาจเป็นอาการสำคัญที่ผู้ป่วยรู้สึก ซึ่งอาจจะรุนแรงถึงกับผ่าตัดหรือเป็นเพียงแค่ความวิตกกังวลก่อน

การแข่งขัน โรคที่มีอาการปวดท้องแล้วต้องผ่าตัด เช่น ไส้ติ่งอักเสบ แผลในกระเพาะ กระเพาะอาหารทะลุ สำไส้เล็ก

หรือลำไส้ใหญ่อุดตัน ไส้เลื่อนที่มีการบิดการอักเสบของท่อน้ำดี ท้องนอกมดลูก มดลูกแตก เป็นต้น ความสำคัญ

ไม่ได้อยู่ที่อาการปวดทันทีหรือค่อย ๆ ปวด แต่สำคัญอยู่ที่ต้องผ่าตัดหรือไม่ ข้อที่ควรคำนึงอยู่เสมอ คือ นักกีฬาจะ

ทนต่ออาการปวดได้ดีจึงไปหาแพทย์เพื่อรักษาช้ากว่าคนทั่ว ๆ ไป ดังนั้น อาการปวดท้องของนักกีฬามักจะต้อง

ดูแลเป็นเป็นพิเศษ

 

การซักประวัติและตรวจร่างกายจะให้ข้อมูลสำคัญในการวินิจฉัยโรคการหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วยจะช่วยได้มาก โดยเฉพาะลักษณะทั่ว ๆ ไป ความสามารถที่จะตอบคำถาม อาการปวดหรือไม่สบายท้องที่ชัดเจน และยังเคลื่อนไหวได้หรือไม่ ในนักกีฬาที่มีความสมบูรณ์ดี จะแสดงอาการปวดน้อยกว่าปกติ ประวัติการปวดท้องเป็นข้อมูลสำคัญในการวินิจฉัยโรค ดังนี้

การเริ่มปวด ลักษณะความรุนแรงหรือการปวดมากขึ้นหรือไม่

อาการปวดที่เกิดขึ้นทันที รุนแรงเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง และปวดนานมากกว่า 6 ชั่วโมง มักจะเป็นอาการปวดของโรคที่ต้องการรับการผ่าตัด แต่อาการปวดที่ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้น เป็น ๆ หาย ๆ หรือกลับปวดขึ้นมาใหม่ อาการปวดที่น้อยลงหรือหายไปในระยะเวลาที่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง มักจะไม่ต้องผ่าตัดอาการปวดที่เกิดจากอวัยวะที่กลวงและมีลักษณะแบบท่อ อย่างเช่น ท่อปัสสาวะ ลำไส้ ทางเดินน้ำดี ท่อรังไข่ อาจจะปวดต่อเนื่องหรือปวดเป็นพักๆ ได้ ถ้ายิ่งเป็นท่อเล็ก ๆ จะยิ่งปวดมาก

 

เมื่อเริ่มปวดกำลังทำอะไร

อาการปวดท้องที่ทำให้นอนไม่หลับหรือเริ่มต้นในขณะที่ไม่ได้ทำอะไรน่าจะเป็นอาการปวดที่อาจต้องผ่าตัด อาการที่เกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังการออกกำลังหนัก ๆ หรือหลังรับประทานอาหารใหม่ ๆ ส่วนใหญ่จะไม่ถึงกับต้องผ่าตัด

 

ตำแหน่งที่ปวดครั้งแรกและมีการย้ายที่

โดยทั่ว ๆ ไปถ้าตำแหน่งที่ปวดอยู่ห่างจากสะดือ จะมีโอกาสที่ต้องรับการผ่าตัดมากขึ้น ถ้าปวดแถว ๆ ลิ้นปี่หรือท้องตอนบน จะเกิดจากกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กตอนต้น ทางเดินน้ำดี และตับอ่อน อาการปวดรอบ ๆ สะดือจะเกิดจากลำไส้เล็กตอนกลางและตอนปลายลำไส้ใหญ่ตอนต้นและไส้ติ่ง อาการปวดแถบท้องน้อยมักเกิดจากลำไส้ใหญ่ตอนปลาย อวัยวะเพศที่อยู่ภายในตัว และกระเพาะปัสสาวะ อาการปวดที่เกิดจากการอักเสบแล้วย้ายที่ไปด้านนอก อย่างเช่นไส้ติ่งอักเสบ จะเริ่มจากบริเวณรอบ ๆ สะดือ หลังจากนั้น 4-6 ชั่วโมง อาการปวดจะย้ายไปส่วนล่างด้านขวาของท้อง

 

อาการเสริม

อาการปวดอาจร่วมไปกับการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร มีไข้ หนาวสั่น ท้องผูก หรือท้องเสียได้ ในรายที่ต้องผ่าตัด จะมีอาการปวดแล้วตามด้วยคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร แต่ถ้าไม่ต้องถึงกับผ่าตัดจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารก่อนปวด สำหรับคนอ้วน ถ้ามีอาเจียนร่วมด้วย อาจมีความผิดปกติรุนแรงได้ สำหรับในนักกีฬาไม่ค่อยพบอาการเบื่ออาหาร อาการมีไข้ มักพบบ่อยร่วมไปกับอาการปวดท้อง แต่อาการไข้หนาวสั่น มักจะไม่รุนแรงถึงกับต้องผ่าตัด อาการท้องผูกมักพบได้บ่อยในคนที่ไม่สบาย แต่ถ้ามีทั้งท้องผูกและไม่ผายลม บ่งชี้ว่า อาจเป็นโรคที่ต้องผ่าตัด เช่น มีการอุดตันของลำไส้ ท้องเสีย เป็นอาการของกระเพาะอาหารสำไส้อักเสบ หรือโรคอื่นที่ไม่ต้องผ่าตัด

 

สิ่งที่ทำให้อาการปวดมากขึ้น

ควรสังเกตว่าทำอย่างไรแล้วทำให้อาการปวดมากขึ้น (ในทางตรงกันข้าม ทำอย่างไรทำให้ปวดน้อยลง) การไอ จาม เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว การเดินโดยเฉพาะเวลาเดินลงบันได จะทำให้มีการระคายเคืองเยื่อบุช่องท้องภายในทำให้ปวดท้องมากขึ้น

 

ประวัติการมีประจำเดือนและสภาพการเจริญพันธุ์

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ปวดท้องจะอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เพศหญิงจะมีโอกาสปวดท้องได้มากกว่าเพศชายในอายุเท่า ๆ กันเป็น 2 เท่า (แต่เพศชายมีโอกาสได้รับการผ่าตัดมากกว่า) ทั้งนี้เพศหญิงมีโอกาสปวดท้องจากอวัยวะภายในท้องน้อยมากกว่า จากการติดเชื้อของมดลูกและปีกมดลูก ปวดประจำเดือน การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

 

การใช้ยาและสารต่าง ๆ

ยาแก้ปวดแอสไพริน ยาต้านการอักเสบจากการบาดเจ็บ ยาอีริโธรมัยชิน สารโปแตสเซียม และเกลือเม็ด อาจจะระคายเคืองต่อเยื่อบุภายในกระเพาะ ทำให้เกิดปวดท้องได้

 

แพทย์อาจใช้การตรวจหลาย ๆ อย่างประกอบกัน การตรวจภายนอก (ดู) การฟัง การสัมผัสอย่างเบา ๆ การคลำ การเคาะแม้กระทั่งการตรวจทางทวารหนักหรือช่องคลอด เพื่อหาสาเหตุของการปวดท้อง และทำให้ทราบวิธีการรักษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องผ่าตัดหรือไม่ หากไม่จำเป็นต้องผ่าตัด หรือเป็นโรคที่รักษาได้ด้วยการให้ยา ถ้าอาการไม่มากหรือการรักษาได้ผลก็อาจกลับไปเล่นกีฬาใหม่ได้ แต่ถ้าการตรวจแล้วยังมีอาการไม่ชัดเจน อาจรอซัก 2-3 ชั่วโมง แล้วตรวจซ้ำดูอาการใหม่ ถ้าดีขึ้นก็อาจเล่นกีฬาต่อได้ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ต้องงดเล่นกีฬาก่อนครับ ส่วนกรณีที่ต้องรับ

การผ่าตัด คงไม่ต้องมาถามว่าจะเล่นกีฬาต่อได้หรือไม่ รักษาให้หายดีก่อน แล้วค่อยว่ากันใหม่ครับ

 

นิตยสารเพื่อชีวิตที่ดีกว่า RUNNING