ผู้เยี่ยมชมตั้งแต่วันที่ 11ม.ค.50

คลิกยางรองส้นเท้า NCR
 เจ็บส้นเท้า ปวดเข่า
และ เหมาะสำหรับนักกีฬาวิ่ง เทนนิส ฟุตบอล

 

 

รองเท้าวิ่ง 7

ภาพประกอบ รองเท้าของคุณหมอ-=Jfk=-

 

โดย   กฤตย์   ทองคง

 

               เมื่อผู้เขียนเห็นพวกเราบางคนเลือกซื้อรองเท้าวิ่งแล้ว ก็ออกจะเป็นห่วงที่บางคนเชื่ออะไรก็มักจะฝังหัวไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ที่ดันไปรู้เข้าก็เพราะได้ยินได้ฟังจากที่เขาเอ่ยนั่นเอง

                “คู่นี้ ไม่มีระบบ (รองรับแรงกระแทก) อะไรทั้งสิ้นเลย”          ในความหมายที่บอกว่าไม่ดี

               “คู่นี้อย่าใช้เป็นอันขาดเลยนะ  แข็งกระด้าง ขนาดผมวิ่งไปแค่สิบโล ยังสะเทือนเกือบตาย  ถ้าใครเอาไปลงมาราธอนมีหวังเข่าพังแน่”       ที่เป็นคำแนะนำให้กับเพื่อนๆด้วยความหวังดี

                หลายกรณีที่ผู้เขียนสังเกตดู พวกเรามักเลือกซื้อรองเท้าวิ่งในยี่ห้อและรุ่นตามเพื่อนๆที่เคยใช้แล้วบอกว่าดี  แต่ไม่ได้ดูตามสภาพความเป็นจริงของความแตกต่างระหว่างบุคคลเอาเสียเลย

                แต่ความเป็นจริงก็คือ ในบรรดายี่ห้อรองเท้าดังๆนั้น ก็ดีทุกยี่ห้อแหละครับ (นี่ขอนับดีแมคกับแวปเข้าไปด้วยนะ) แต่ที่กล่าวอย่างนี้มิได้หมายความว่า รองเท้าทุกคู่จะเหมาะกับทุกคน หรือเหมาะกับนักวิ่งทุกราย  แต่ที่มันแตกต่างกันก็เพราะมันแต่ละรุ่นถูกออกแบบและผลิตขึ้นมาเพื่อรับใช้เป้าประสงค์ที่แตกต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิประเทศหรือระดับความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อขา กระทั่งความไม่สมดุลทางชีวกลศาสตร์ (Biomechanism)  ของนักวิ่งในแต่ละรายที่ไม่เหมือนกัน 

               โปรดเข้าใจด้วยว่า รถเก๋งสปอร์ตราคาแพงนั้นเขาผลิตมันขึ้นมาเพื่อความเร็ว และความเร็วนั้นอยู่ในลิ้นชักของความบันเทิง ไม่ใช่ความเร่งรีบที่แตกต่างจากรถปิ๊กอัพที่ถูกออกแบบมาเพื่อบรรทุกสินค้าที่เน้นความประหยัดและปลอดภัยมากกว่าความบันเทิง  ด้วยเพราะเหตุนี้เราจึงบอกไม่ได้ว่า รถชนิดใดดีกว่าอีกคัน ให้ลองนึกภาพดู เอาเฟอร์รารี่ไปขนมะพร้าวจากทับสะแกไปส่งแถวชายแดนอีสานดูสิครับ มันเป็นอย่างนั้นแหละ

                เราจะอธิบายว่าอย่างไร เมื่อ มีเพื่อนนักวิ่งจำนวนมากที่ใช้รองเท้าวิ่งแบบปราศจากรองรับแรงกระแทกใดๆเลย และพบว่า “นี่แหละใช่เลย”

                ที่กล่าวเช่นนี้ก็มิได้หมายความว่า จะให้นักวิ่งผู้มีน้ำหนักมากมาใช้รองเท้าบางอย่างนักแข่งแต่อย่างใด

               ว่ากันว่า รองเท้าวิ่งที่ดีนั้นก็คือ รองเท้าที่ผู้วิ่งสามารถใส่วิ่งได้อย่างลืมเท้า  คือถ้าหากว่าวิ่งไปๆ แต่ใจยังอยู่ที่เท้าแม้มันจะไม่ได้ทำให้รู้สึกเจ็บใดๆก็ตาม ก็ถือว่า ไม่ดีแล้วครับ

                และถ้าขณะที่ใส่วิ่งคุณสามารถจดจ่อโฟกัสกับสิ่งอื่นได้ และอุปสรรคที่ทำให้วิ่งไม่ได้เท่าที่ต้องการ   มิได้เกิดจากรองเท้า คู่นั้นแหละครับคือรองเท้าที่ดี

                ผู้เขียนเคยได้ยินบ่อยไปที่เพื่อนนักวิ่งบอกต่อผู้อื่นว่า จงอย่าใช้ยี่ห้อนี้  เขาเคยใช้แล้ว ไม่เหมาะกับเท้าของเขาเอง ยี่ห้อนี้จึงไม่ดี แล้วจะไม่ซื้ออีกต่อไป

 

โถน่าสงสารแบรนด์นี้จัง ซวยโดยไม่ผิด

 

               อยากจะบอกกล่าวกับพวกเขาว่า อย่าเพิ่งด่วนเชื่อผู้อื่น  เราจงทำความรู้จักชนิดชีวกลศาสตร์ของเท้าและขาตัวเราเองนั้นให้เป็นประการแรก และทำความรู้จักรองเท้าแต่ละรุ่น (ไม่ใช่แต่ละยี่ห้อ) ที่คาดหวังว่าจะซื้อว่ารุ่นนั้นๆเขาผลิตขึ้นมาตรงสเป็คกับเราที่สุดหรือไม่   เป็นใช้ได้ เป็นประการต่อมา

                ถ้าการได้ใส่วิ่งทดสอบดูได้ ก็จงลองและระบุว่ามันดีมีค่าแก่การซื้อหาหรือไม่ ด้วยความรู้สึกของเราเองที่เท้าและรองเท้าตอบสนองมีปฏิกิริยาต่อกันไปในทางที่ดี อย่าเพิ่งเชื่อว่า เจลดีกว่าแอร์,ช็อคดีกว่าเวฟ หรือของเกาหลีดีกว่าของจีน ฯลฯ ไม่จริงครับ  ถ้าเช่นนั้นเขาจะมี QC ไว้เพื่ออะไรกัน  การที่เราบังเอิญใช้ “ไนกี้”มาแล้วห้าคู่ พบว่า ดีหมดทุกคู่ แต่ก็มิได้หมายความว่าคู่ที่หกจะเป็นเช่นนั้นแน่นอนเสมอไป

                ทั้งหมดที่กล่าวมา เพราะเราท่านทั้งหลายมีความกังวลกับสุขภาพของเท้า,เข่าและขานั่นเองว่าถ้าเลือกไปได้ไม่ดีจะบาดเจ็บ ซึ่งจากความเป็นจริง สาเหตุของการบาดเจ็บมีตั้งหลายสาเหตุที่มิใช่แต่เรื่องของรองเท้าเท่านั้น  การที่ระบุไปอย่างผิดๆนั้นว่า ยี่ห้อนั้นไม่ดี ไม่ใช่จะมีผลเพียงแค่บริษัทซวยนั้นรับกรรมเท่านั้น  อันตัวเรานั่นแหละจะพลาดโอกาสที่จะทบทวนและตระหนักถึงสาเหตุที่แท้จริงของการบาดเจ็บที่ตัวเรามีส่วนทำให้เกิดขึ้นเอง จึงมิได้มีความพยายามพอเพียงที่จะหลีกเลี่ยง ก็เลยฝึกต่อเนื่องกันอย่างผิดนั้นๆต่อไป ยังไงๆบริษัทเขาไม่เจ๊งเพราะเราไม่ซื้อเพียงคนเดียวหรอกครับ  การที่จะจัดการให้หายบาดเจ็บได้ ต้องรู้ก่อน รู้ให้ถูกต้องตรงจุดจะได้แก้ได้ถูก ถ้าระบุผิด ก็ไม่มีทาง

                ก็กล้ามเนื้อเรายังอ่อนแอ นิ่มไปนิ่มมา  กระดูกก็ยังไม่แกร่งเข้าฝัก  แช่เย็นแผนฝึกได้ไม่นานพอได้แค่ 2-3 หนเองก็เขยิบเพิ่มดีกรี  ลงโปรแกรมหนักต่อหนักแทนที่จะเบาสลับ  ผู้จัดเจ้ากรรมก็ดันจัดมาราธอนมาอัดติดๆกันหลายสนามในเดือนสองเดือน แต่ละสนามก็ดีๆทั้งนั้น ไม่ไปก็เสียดาย  ประธานชมรมนั้นก็โทรมาร้องขอช่วยไปลงให้หน่อย ไม่อยากจะขัดไมตรี  ซ้อมที่ได้ยาวสุดแค่สิบกว่าโลเอง ก็จะซ้อมให้ถึงได้ไง  งานเยอะจะตายยังหาลูกน้องที่ไว้ใจไม่ได้ ต้องตามลงไปดูทุกขั้นตอน

 

 แ  ต่  ก  ลั  บ  ไ  ป  โ  ท  ษ  ร  อ  ง  เ  ท้  า

อ  นิ  จ  จ  า

 

               ผู้เขียนมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ  นักวิ่งมักจะนิยมชมชอบรองเท้าที่มีความนิ่มกันไปเสียทั้งสิ้น

ก็ใช่หรือเปล่าครับว่า ที่เคยแต่ได้ยินว่า “ดีครับ คู่นี้นิ่มดี” แต่ไม่เคยได้ยินว่า  “ดีครับ คู่นี้แข็งดี” ไม่เคยเลย

                อย่าเข้าใจว่า “ยิ่งนิ่ม ยิ่งดี”  “ยิ่งแข็ง ยิ่งร้าย”  นี่ก็เป็นมายาคติอีกเช่นกัน

               อนึ่ง เรื่องความนิ่มความแข็งของพื้นรองเท้า มันเป็นเรื่องที่ดีไปประการหนึ่งแต่ก็เสียไปอีกประการหนึ่ง ที่เราไม่สามารถเลือกความดีได้ทั้งสองมุมพร้อมๆกัน

                ความนิ่ม (Cushioning)  มันปกป้องเท้าและขาจากแรงกระแทก  แต่ความนิ่มก็ทำให้เราสูญเสียความเสถียร (Stabality) คือมันจะทำให้ส้นเท้าเพิ่มดีกรีของความโยกคลอนมากเกินปกติตามธรรมชาติเสมือนคุณวิ่งบนพื้นทรายแห้งหรือบนเตียงน้ำ ซึ่งหากเราวิ่งบนพื้นนี้อยู่สักระยะหนึ่งจะเมื่อยและวิ่งไม่ได้ดังใจและทำความเร็วไม่ได้ มันได้ความดีสถานเดียวคือมีแรงกระแทกน้อยเท่านั้น

                ขณะเดียวกัน พื้นที่สมมุติที่ผู้เขียนอยากจะชวนเราจินตนาการยกต่อไปก็คือ การวิ่งบนพื้นราบโดยถอดรองเท้า เราจะพบว่า มันวิ่งได้ถนัดถนี่ดีมากกว่ารองเท้าคู่ใดทั้งสิ้น  สามารถทำความเร็วได้ดังใจ เพราะพื้นมันไม่เอียงลงไปตามแรงกด มันทำให้เรากำหนดสถานการณ์ต่างๆได้ดี เหมือนกับการสนเข็มโดยปราศจากถุงมือ และยิ่งถุงมือที่หนาเท่าไร เรายิ่งสนเข็มได้ยากเท่านั้น

                ประเด็นก็คือ พวกนักวิ่งแนวหน้า เขาไม่ต้องการอะไรมาทำให้เขาช้าลง  ฝึกมาเท่าไร ความแข็งแกร่งมีเท่าไร ก็เอาออกปฏิบัติการให้หมด นั่นคือรองเท้าที่ไม่ทำให้รู้สึกเทอะทะ สามารถวิ่งได้ถนัดดีนั่นเอง พวกเขาฝึกมาจนเจนจัด ข้อเท้าทั้งแข็งทั้งเหนียว ไม่ใช่อย่างนักวิ่งเพื่อสุขภาพทั่วไป  ดังนั้นความจำเป็นเรื่องการรองรับแรงกระแทกก็ลดน้อยลงตามส่วน

                การเปรียบเทียบระหว่างความนิ่มความแข็งอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนเทียบเคียงกับการวิ่งได้ก็คือ  การสูบลมยางรถที่ ถ้ายางนิ่ม เราจะได้ความนิ่มนวล ไม่สะท้านสะเทือนขณะขับขี่ แต่จะทำให้เกิดความอืดกินแรงมากขึ้น และการสูบยางให้ล้อแข็ง เราจะได้ความรวดเร็วแคล่วคล่องดังใจ ประหยัดน้ำมัน,ประหยัดกลัยโคเจน แต่รถสะเทือนง่าย 

               โดยธรรมชาติ มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเลือกความนิ่มพร้อมกับความแข็ง เราจำต้องเลือกเอาอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้น หรือเพื่อให้ได้อีกอย่าง โดยไม่เสียอีกอย่าง เราก็ต้องลดทอนทั้งสองอย่างลง คือ ลมยางที่พอดี ไม่แข็งและไม่อ่อนไป

                ที่เขียนยาวไป อย่าเพิ่งเบื่อครับ ผู้เขียนกำลังจะพาเราเข้าประเด็น ที่ให้รู้เท่าทันบริษัทโฆษณารองเท้าวิ่งว่า  มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่รองเท้าวิ่งที่เขาขายไม่ว่าจะแสนแพงแสนดีขนาดไหนก็ตามที่จะมีระบบรองรับแรงกระแทก (Cushioning) ได้พร้อมๆกับเสถียรภาพวิ่ง (Stabality)  และควบคุมการเคลื่อนไหว (Motion control) ไปทั้งหมด เป็นรองเท้าครอบจักรวาล ไม่มีในโลกครับ ทั้งมืดและสว่างไปพร้อมๆกันมันเป็นไปไม่ได้ครับ  แต่ความจริงที่เราควรได้ยินจากคำโฆษณาก็คือ  เราลดประสิทธิภาพรองรับแรงกระแทกลง ,เราลดความเสถียรของรองเท้าลง และเราก็ยังได้ลดความสามารถรองเท้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวเท้าลง อย่างละเล็กละน้อย จนเราได้ส่วนผสมที่ลงตัวละนิดละหน่อยที่กลางๆพอดีๆ ไม่อ่อนไม่แข็ง ไม่มืดไม่สว่าง  กำลังสลัวๆให้คุณในราคาแพงนั่นเอง

               และรองเท้าซ้อมก็คือ เป็นรองเท้าที่หรี่ความเสถียรลงและเพิ่มดีกรีของ Cushioning ให้มากขึ้นหน่อย และรองเท้าแข่งก็คือ หรี่ Cushioning ลงและเพิ่มดีกรีของ Stabality เข้าไปอีก ก็เท่านั้นแหละครับ แต่สุ้มเสียงสำเนียงเวลาเขาพูดถึงสินค้าเขานั้น ดีไปหมด  มุสาทั้งนั้น อย่ามาใช้สำนวนของพวกครีเอทีฟกับผู้เขียนว่า พูดถูกแต่พูดไม่หมด คลื่นไส้ และไม่ว่าเขาจะโฆษณาอย่างไร สิ่งชัวร์ที่บริษัทได้ไปก็คือ เขาได้เงินเราไปจำนวนมากแสนแพง  วิ่งมาหลายปี ประสบการณ์บอกกับผู้เขียนว่า เพียงแค่ฝึกวิ่งอย่างเดียวหาเพียงพอไม่ แต่ต้องพัฒนาความรู้เท่าทันด้วย (Awareness)

 

               กลับมาเรื่องความนิ่มความแข็งที่อาจมีผลกระทบกับนักวิ่งว่า  เคยมีการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เมื่อปี 1992 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Medicine and Science in Sports and Exercise  โดยมี Dr Joseph Hamill จากห้องแหลบ Biomechanics แห่งมหาวิทยาลัยแมสซาจูเซท มีเนื้อหาที่ศึกษาเปรียบเทียบ ผลกระทบที่พื้นรองเท้าวิ่ง (Midsole) ที่มีต่อสุขภาพนักวิ่ง พบความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่สูงขึ้นไปถึงเข่าถึงการทำงานที่ต้องประสานสอดคล้องกันระหว่าง Subtalar (ใต้ข้อเข่า) กับข้อต่อเข่า Knee Joints ว่าเกิดผิดปกติทำงานไม่สอดรับกัน ด้วยเหตุเคลื่อนไหวทางชีวกลศาสตร์ที่ไม่ถูกต้องเพราะการเคลื่อนของส้นเท้าที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ได้โยงไปถึงรองเท้าว่านิ่มเกินไป เรื่องมันก็คือ เดิมคิดว่ายิ่งนิ่มยิ่งดี จึงพัฒนาให้นิ่มเข้าไปอีก เห็นอะไรดีก็จับยัดลงไป แม้การศึกษานี้จะมีประโยชน์ แต่การทดลองนี้ก็ยังต้องการวิจัยซ้ำ เพราะทดลองในกลุ่มตัวอย่างน้อยรายเกินไป หา Subjects ที่บาดเจ็บมายินยอมเข้าร่วมโครงการทดลองในฐานะกลุ่มควบคุมไม่ได้เท่าที่ต้องการ

                แต่ความเป็นจริงอีกประการหนึ่งก็คือ การที่กล้ามเนื้อขาและเส้นเอ็นข้อต่อที่แข็งแรงก็ช่วยไม่ให้เกิดการเอียงองศามากนักของแรงภายนอกที่กระทำต่อเท้าซึ่งจะลดโอกาสการบาดเจ็บลง ก็เท่ากับโอกาสที่เท้าจะพึ่งพารองเท้าน้อยลงเช่นนี้ ผู้วิ่งจะต้องมีประสบการณ์วิ่งมากและทั้งวิ่งมาหลายปีและโปรแกรมวิ่งที่มีคุณภาพ จึงจะสามารถมีกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่แข็งแรงเช่นนั้นได้ 

               แต่การที่จะแสวงหาสถานการณ์เพิ่มอายุวิ่งและโปรแกรมคุณภาพต่างๆก็ยังต้องการรองเท้าที่ไว้ใจได้เหมาะกับเท้านักวิ่งมาเป็นเครื่องมือเพื่อให้ถึงเป้าประสงค์นั้น มันจึงกลายเป็นเรื่องที่วนมาที่เดิมอีก

                ดังนั้น รองเท้าวิ่งที่ดี คือรองเท้าวิ่งที่เหมาะกับสรีระของเท้าเราที่สุด ไม่ใช่รองเท้าที่เหมือนผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นบอกว่าดี นั่นเอง

 

หมายเหตุ ลุงกฤตย์เมล์อธิบายบทความรองเท้าตอนที่7-8เมื่อ10ม.ค.50
 

บทความรองเท้าวิ่งเขียนมามากตอนและเขียนไว้นานแล้ว
ตอนที่หนึ่ง  จำไม่ได้ว่าอยู่ในหนังสือจ็อกแอนด์จอย   หรือ   รันนิ่งส์ที่ปิด
ตัวไปแล้ว
กระทั่งตอนที่ 7  และ  8  นี้ก็แต่งมาตั้ง  2-3 ปีแล้ว
แต่ยังใช้ได้   เนื้อความไม่ต่อเนื่อง   อ่านเอาตอนหลังนี้ก็ได้เรื่องราวมีความ
สมบูรณ์ในตัว
 

ตอนนี้จำได้รู้สึกว่าเขียนตอนที่ 9 ไปแล้ว  ว่าด้วยรองเท้าโรงเกลือครับ
คาดว่าคงมีไปเรื่อยๆ  ตราบใดที่ยังใส่รองเท้าวิ่งอยู่
 

 

คลิกยางรองส้นเท้า NCR

เหมาะสำหรับนักกีฬาวิ่ง เทนนิสฯลฯ
 และปวดเข่า เจ็บส้นเท้า

 

คลิกชมเวปไซต์คุณหมอ=Jfk=-

http://www.2jfk.com/jfkrun.htm