ปวดนิ้วเท้าจากการวิ่ง
 



"ผมอายุ 35 ปี ชอบวิ่งออกกำลังกายเป็นอย่างมาก วิ่งเกือบทุกวัน มาเกือบ 10 ปี มาระยะหลังเริ่มรู้สึกปวดบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้าด้านขวา ตรงใกล้ๆ กับข้อต่อครับ ยังทำงานได้ตามปกติ แต่พอตอนวิ่งได้ซัก 1-2 กิโลเมตร ก็เริ่มปวดขึ้นมา แต่ผมก็ยังพยายามฝืนไป จนบางครั้งก็รู้สึกว่ามันมีอาการบวมขึ้นมาตรงที่ปวดด้วย อาการเป็นมาเกือบ 2 เดือนแล้ว ไม่ทราบว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร"

ผมขอเชิญ อจ.นพ.พิสิฏฐ์ เลิศวานิช แพทย์ประจำสาขาเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตอบดังนี้ครับ

จากตำแหน่งที่มีอาการปวด น่าจะเป็นตำแหน่งของ กระดูกเซซามอยด์ ซึ่งเป็นกระดูกขนาดเล็กคู่หนึ่งที่ฝังตัวอยู่ในเอ็นของนิ้วหัวแม่เท้า อยู่ในจุดรับน้ำหนักของฝ่าเท้าทางด้านหน้า ลักษณะการบาดเจ็บเป็นการบาดเจ็บจากการใช้งานมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดการบาดเจ็บ อาจเป็นการอักเสบเฉพาะที่หรือในรายที่รุนแรงอาจมีการแตกหักของกระดูกนี้ได้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการบาดเจ็บมีได้ทั้งจากการเปลี่ยนระยะทางวิ่งในระยะทางที่มากขึ้นในเวลาอันสั้น ทำให้เนื้อเยื่อของฝ่าเท้าที่รับน้ำหนักปรับตัวไม่ทัน การเปลี่ยนสถานที่วิ่งมาวิ่งในที่ซึ่งมีสภาพพื้นผิวที่แข็งขึ้นจากเดิมมาก การที่วิ่งโดยใช้รองเท้าที่เสื่อมสภาพ หรือการใช้รองเท้าโดยมีการเสริมบริเวณส้นเท้ามากเกินไป ก็จะทำให้เกิดแรงกระแทกบริเวณเท้าส่วนหน้าในระหว่างการวิ่งมากขึ้น

การรักษาเริ่มจากการงดการใช้งานลง ถ้าอาการยังปวดไม่มากอาจลดระยะทางที่วิ่งลง ใส่รองเท้าที่มีพื้นรองที่รับแรงกระแทกได้ดี ในรายที่มีอาการปวดมาก อาจต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรมชั่วคราว อาจใช้การว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายทดแทน เพื่อรักษาความฟิตของร่างกายไว้ ในรายที่ปวดอยู่มากอาจขุดพื้นรองเท้าบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้าในจุดที่มีอาการปวดให้เป็นหลุม เพื่อกระจายจุดรับน้ำหนักไปยังส่วนอื่นแทน เมื่ออาการทุเลาลงจึงค่อยๆ เพิ่มระยะทางในการวิ่ง

หวังว่าคงพอเข้าใจนะครับ ถ้ามีข้อสงสัยหรือคำถามประการใดเกี่ยวกับการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬากรุณาส่งไปที่สาขาเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ฯ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ E-mail address
sisportsmed@hotmail.com สวัสดีครับ



จากมติชน 27ก.พ.50


คอลัมน์ หมอสนาม
คำถามจาก คุณจำนงค์ ถามมาว่า

โดย นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ และคณะ

 

ผู้เยี่ยมชมตั้งแต่วันที่ 28ก.พ.50