บาดเจ็บบริเวณขา

 

" หนูไม่อยากวิ่งแล้ว   เพราะน่องหนูโต "  เป็นคำกล่าวของนักวิ่งหญิงผู้หนึ่งกับข้าพเจ้า  ก็ทำไมจะไม่ล่ะครับ  เพราะเธอเป็นนักวิ่งที่วิ่งขึ้นเขาลงเนินที่ต่างจังหวัดเป็นประจำ  ทำให้เอ็นร้อยหวายอักเสบเรื้อรัง  บวมอยู่ตลอดเวลา  ทำให้ดูเหมือนน่องโต  ตรวจดูลักษณะโครงสร้างของร่างกาย  เท้า  ก็ดูปกติดี  แต่เมื่อถามถึงรองเท้าที่สวมใส่ขณะวิ่ง ก็พบว่าไม่ถูกต้อง    พื้นรองเท้าแข็ง  ไม่มีความยืดหยุ่น   จึงได้ทำการแนะนำ  และรักษาจนอาการดีขึ้นเกือบหายเป็นปกติ   แล้วก็ไม่ได้พบอีกเลย    ไม่ทราบว่าน่องกลับมาโตอีกหรือเปล่า  หรืออาาาาาาจหยุดวิ่งไปแล้วก็ได้  การบาดเจ็บบริเวณขา
( ตั้งแต่ใต้เข่าลงมาจนถึงข้อเท้า )    ยังมีแบบอื่น ๆ อีกมาก  ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

 

1. สันหน้าแข้งอักเสบ  (Shin splint syndrome )

           มีความเจ็บปวดบริเวณหน้าแข้งด้านในตอนล่าง  เป็นโรคที่เกิดจากการใช้งานมากเกินไป จนบริเวณนั้นทนไม่ได้  เช่น  ไม่นึกถึงสังขารซึ่งฟิตไม่พอสำหรับการวิ่งนั้น ๆ มักพบในพวกที่เริ่มหัดวิ่งใหม่ ๆ นักวิ่งที่วิ่งบนพื้นที่แข็งหรือใส่รองเท้าที่พื้นรองรับเท้าแข็ง   และพบในนักวิ่งที่โครงสร้างของเท้าแบบคว่ำบิดออกนอก  จะทำให้เกิดแรงกระแทก หรือบิดที่บริเวณหน้าแข็ง   มีผลต่อกล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มกระดูกบริเวณนั้น  ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น   ถ้ายังฝืนวิ่งต่อไปอีก  ทั้งที่มีอาการแล้ว  จะด้วยสาเหตุใดก็ตามจะมีอาการรุนแรงถึงกับมีการร้าวแตกของกระดูกบริเวณนั้นได้  อาการที่เกิดขึ้นนี้  จะค่อยเป็นค่อยไป  เพิ่มมากขึ้นเร ื่อย  ๆ อาจจะเกิดภายหลังการหยุดพักวิ่งแล้วก็ได้  ฉะนั้นเมื่อทราบอาการเช่นนี้แล้ว  จึงควรพักรักษาตัว  อย่าฝืนวิ่งหรือฝึกต่อไปอีก

การปฐมพยาบาลและการักษา

          ในเบื้องต้นก็เหมือนกันทั่ว ๆ ไป คือ  พัก  ประคบน้ำแข็ง  ให้ยาต้านการอักเสบชนิดกิน    การให้การรักษาทางกายภาพบำบัดในแง่ความร้อน  หรือใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์  เช่นคลื่นเหนือเสียง  สามารถช่วยให้การหาาายเร็วขึ้น  จากนั้นเมื่อกลับมาวิ่ง  หรือฝึกซ้อมอีก  ก็ต้องค่อย ๆ เพิ่มความเร็วหรือระยะทางทีละน้อย  หร้อมกับบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง  และหลีกเลี่ยง สิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บนั้น

การป้องกัน

          1.ดูโครงสร้างของเท้าเพื่อปรับปรุงเสริมแต่งให้ปกติก่อนวิ่ง

          2.เรียนรู้เทคนิคการวิ่งที่ถูกต้อง

          3.หลีกเลี่ยงพื้นวิ่งที่แข็งมากจนเกินไป

          4.พื้นรองเท้าวิ่งจะต้องนิ่มพอสมควรไม่ให้แข็ง

          5.รู้จักพอ  อย่าฝืนวิ่งเมื่อเริ่มมีอาการแล้ว  มิฉะนั้นจะต้องพักไปอีกนาน

 

2.การเจ็บปวดกล้ามเนื้อหน้าแข้งด้านหน้าติดหน้าแข้ง  ( Anterior compartment syndrome )

            เกิดจากการที่กล้ามเนื้อกลุ่มด้านนี้ขาดเลือดไปเลี้ยง  ทำให้กล้ามเนื้อบวม  เกิดแรงดันในช่องว่างที่กำจัด  เกิดการเจ็บปวดขึ้น    เมื่อยังไม่ยอมหยุดวิ่ง จะมีอาการเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ  จนทำให้การบวมของกล้ามเนื้อนั้นกดทับเส้นประสาท  เกิดเป็นอัมพาตขึ้นได้  ผู้เขียนพบคนไข้ 2 ราย  ที่เป็นอัมพาตของข้อเท้าจากการวิ่ง  คือกระดกข้อเท้าไม่ขึ้น  ชา    ที่เกิดขึ้นนี้เพราะการที่ต้องการที่จะเอาชนะตัวเองในการวิ่ง  โดยลืมนึกถีงสังขาร  ทั้ง ๆ ที่มีอาการดังกล่าวแล้ว  ถ้ามีอาการถึงขั้นนี้แล้วยังไม่ยอมหยุดวิ่งอีก  อาจทำให้กับสูญเสียขาไปเลย  หมดโอกาสวิ่งอีกต่อไป  เพราะไม่มีเท้าจะวิ่ง ( ในต่างประเทศถึงกับถูกตัดขาไปเลยก็มี )   อาการเจ็บปวดดังกล่าวนี้จะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นทีละน้อย ๆ ถ้าเราทราบ  เมื่อเริ่มมีอาการในระยะแรกได้หยุดพัก  อาการจะหายไป  แต่ถ้ามีอาการปวดมากขึ้นจนถึงกับกล้ามเนื้อบวมเต็มที่แล้ว  อาการเจ็บปวดจะมีลักษณะเฉพาะตัวดังนี้  คือ ปวดอยู่ตลอดเวลา  กินยาแก้ปวดก็ไม่หายหรือบรรเทาลงเลย    แต่กลับปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ และที่สำคัญถ้าลองจับนิ้วเท้าเหยียด หรืองอไปมา  จะมีอาการเจ็บปวดรุนแรงมาก  ถึงกับร้องหรือแสดงสีหน้าเจ็บปวดมาก  เมื่อมีอาการถึงขั้นนี้แล้ว ต้องรีบพบแพทย์ทันทีทันใด  ไม่มีการรีรออีกต่อไป เพราะอันตรายมาก

 

(จากหนังสือ บาดเจ็บจากกการวิ่ง  โดย รศ.นพ.ธีรวัฒน์  กุลทนันทน์ )