ออกกำลังกายมากเกินไปก็ไม่ดีนะ

 

 

ใครคนหนึ่งเอาสมุดรายงานสุขภาพประจำปีมาอวด (ที่บริษัทเรา นี่จะจัดให้พนักงานทุกคนได้รับการตรวจสุขภาพโดยแพทย์จากโรงพยาบาลมาตรวจกันที่บริษัททุกปี ถือเป็นสวัสดิการ ก็ยังอุตส่าห์มีหลายคนไม่ยอมมาตรวจ “กลัวหมอไง”)

รายงานนี้สรุปและเสนอแนะว่า

“ผลการตรวจร่างกาย, ตรวจเอ็กซเรย์ปอด, ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด, ตรวจการทำงานของไตและตับ, ตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ผลอยู่ในเกณฑ์ปกติ”

“มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ดี”

อ่านจบเหลือบตามองเขาแว้บ ๆ (แบบไม่ให้เจ้าตัวรู้สึก)

แกล้งเปรยเบา ๆ ว่า ดูเขาน่าจะ “สมบูรณ์” มากไปหน่อยมั้ง ก็น้ำหนักตั้ง 78 กิโลกรัม สูง 170 เซนติเมตร (ลำตัวยังกะ ”แชมเปญ” – ต้นปาล์มแชมเปญน่ะนะไม่ใช่ “แชมเปญเอ็กซ์” หรอก) น่าจะมีอะไร ๆ บ้างนา

“จริง ๆ แล้วผมเป็นคนเหนื่อยเร็วนะ เดินไม่ไกลเท่าไหร่ก็หอบ เล่นปิงปองสักเกมก็เหนื่อยแล้ว” นั่นคือคำสารภาพของชายผู้มี “สุขภาพ ร่างกาย แข็งแรง สมบูรณ์ดี” ตามสมุดรายงานสุขภาพ

คุณเห็นด้วยไหม ถ้าปอมอจะวินิจฉัยว่า เป็นเพราะขาดการออกกำลังกายนั่นเอง

“หรือจะใช่มั้ง ก็ผมต้องนั่งทำงานหน้าคอมพ์ทั้งวัน เย็นลงถึงย้ายมานั่งเล่นหน้าขวด หาเวลาออกกำลังไม่ได้เลย”

จึงบอกเขาไปว่า “ไม่ต้องมั้งหรอก มันใช่เลยทีเดียวแหละ”

การออกกำลังกายเป็นความจำเป็นของมนุษย์ทุกคน (ที่อยากมีสุขภาพดี )

จริง ๆ

แต่อ่านเรื่องนี้ก่อน

นายเคน คูเปอร์ นักกายบริหารเจ้าตำรับการออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิค เคยลองศึกษาเรื่องการออกกำลังกาย โดยดูจากสถิติของผู้เข้าร่วมการแข่งขันมาราธอนที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อสองปีก่อน พบว่า ในจำนวนผู้สมัครเข้าวิ่งแข่ง 2,300 คน จะมีถึง 1 ใน 7 ที่จะมีอาการป่วยไข้ ภายหลังการแข่งขันไปแล้วหนึ่งสัปดาห์

เขาลองเทียบตัวเลขดูกับนักวิ่งที่ซ้อมมาบ้างและไม่ได้ลงแข่งด้วย ปรากฎว่ามีจำนวนผู้เจ็บไข้ได้ป่วย (ของพวกหลังนี่) น้อยกว่าถึง 6 เท่า

นายคูเปอร์พบว่า นักวิ่งที่ไหนซ้อมหนัก ในหนึ่งสัปดาห์ซ้อมวิ่งเป็นระยะทางไกลกว่า 100 กิโลเมตร กลับป่วยมากกว่าคนที่ซ้อมวิ่งรวมระยะทางแค่ 32 กิโลเมตรในเวลาเท่ากันเสียอีก

จึงสรุปออกมาได้ว่า การออกกำลังกายมากเกินไปอาจเกิดโทษก็ได้ คือทำให้ภูมิคุ้มกันโรคถูกกด ทำให้แรงต้านทานโรคอ่อนลง

แล้วจะออกกำลังแค่ไหนเล่าจึงจะพอดี

นายเคน คูเปอร์ เจ้าตำรับเต้นแอโรบิคบอกว่า กำหนดตายตัวไม่ได้หรอก ต้องขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน ๆ ไป

มีรายงานผลการศึกษาเรื่องการออกกำลังนี้ฉบับหนึ่งบอกว่า การออกกำลังพอดี ๆ จะช่วยสนับสนุนภูมิกันโรคให้แข็งแรง

มีตัวอย่างว่า การเดินออกกำลังกายวันละ 45 นาที จะลดอัตราการป่วยเป็นไข้หวัดเจ็บคอลงไปได้ถึงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้เดิน

รำกระบองตามท่าที่อาจารย์สาทิสสอนให้เป็นประจำทุกวัน ก็ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงได้จริง ๆ นะ

สรุปของเรากันเองก็คงจะอยู่ที่ว่า การออกกำลังกายนั้นจำเป็น และต้องทำเป็นประจำ แต่ต้องทำให้พอเหมาะพอควรตามสภาพร่างกายของแต่ละคน มากเกินไปก็ไม่ดี น้อยเกินไปก็ไม่เกิดประโยชน์

คล้ายคำพังเพยของไทยไง

“รู้มากยากนาน รู้น้อยพลอยรำคาญ”

(เรื่องเดียวกันไหมเนี่ย)

 

กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเคล็ดลับ 9 ประการเพื่อให้ประชากรไทยมีอายุเกิน 100 ปี ดังนี้

    1. อาบน้ำทุกวัน แปรงฟันสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

    2. กินอาหารสุกและสะอาดวันละ 3 มื้อให้ครบ 5 หมู่อย่างหลากหลาย

    3. ออกกำลังกาย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที

    4. ดื่มน้ำสุก สะอาด อย่าให้ขาด วันละ 6-8 แก้ว

    5. พักผ่อนให้เพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง ปลอดโปร่ง แจ่มใส

    6. งดสิ่งเสพย์ติด คบหาญาติมิตร ใกล้ชิดครอบครัว

    7. ดูแลบ้านเรือน ของใช้ เสื้อผ้า ใหห้สะอาด

    8. ตรวจสุขภาพปีละครั้งเป็นอย่างน้อย

    9. ฝักใฝ่ธรรมะ

 

ถามจริง ๆ เหอะ

คุณอยากอยู่ถึงร้อยปีไหม

 

(จากนิตยสาร…ชีวจิต….ปีที่..1…ฉบับที่..9…..16 ก.พ42.)