ภาวะที่ไม่พึงปรารถนา
ยังไม่เคยเห็นใครที่ขันอาสาออกหน้ารับกับความอ้วน โดยยินดีสักครั้ง ทั้งนี้เพราะภาวะดังกล่าวเป็นภาวะล้นเกินของโภชนาการ หรืออาจมีเหตุจากความบกพร่องทางด้านความสมดุลของร่างกาย แถมยังก่อให้เกิดโรคร้ายตามมาอีกเป็นระลอก ที่แน่ ๆ สภาพของ คนอ้วน ไม่ค่อยน่าดูนักในสายตาของใครต่อใคร เว้นไว้แต่เป็นตัวตลกให้เพื่อนขำขันก็เท่านั้น
ดร.แกรมม์ คลักสตัน ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายโภชนาการ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก แสดงความเป็นห่วงว่าปัจจุบัน โรคอ้วน (Obesity) กำลังคุกคามสุขภาพของประชาชนเกือบทั่วโลก (ปัจจุบันมีประชากรราว 1,500 ล้านคน) หนึ่งในสี่ของปัญหาอยู่ในประเทศแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
โดยโรคอ้วนจะเพิ่มปริมาณผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ได้พยายามรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงโรคภัยที่จะตามมากับภาวะอ้วน (FAT) ขณะเดียวกันประเทศที่เริ่มประสบปัญหากับโรคอ้วนควรต้องผลักดันปัญหาล้นเกินทางโภชนาการให้เป็นประเด็นสำคัญระดับชาติ
โรคอ้วนในหมู่คนไทย
ข้อมูลจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ระบุว่า ภาวะอ้วนเป็นโรคอย่างหนึ่งซึ่งมีปริมาณไขมันในร่างกายมากกว่าปกติ โดยลักษณะการกระจายตัวของไขมันในร่างกายที่มีผลร้ายต่อสุขภาพนั้นแยกออกเป็น อ้วนทั้งตัว กับ อ้วนลงพุง
อ้วนทั้งตัว จะพบว่าผู้ป่วยมีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติ และไขมันที่มาก ๆ นั้นไม่ได้จำกัดอยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของร่างกายโดยเฉพาะ
อ้วนลงพุง จะพบว่าผู้ป่วยมีไขมันของอวัยวะในช่องท้องมากกว่าปกติ รวมทั้งอาจมีไขมันใต้ชั้นผิวหนังบริเวณหน้าท้องเพิ่มขึ้นด้วย
บางรายเป็นโรคอ้วนทั้งสองลักษณะแต่พบไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นแค่เพียงลักษณะใดลักษณะหนึ่งเท่านั้น
การวัดปริมาณไขมันในช่องท้องและไขมันใต้ชั้นผิวหนังบริเวณหน้าท้องจะบอกได้ว่าเราเป็นโรคอ้วนลงพุงหรือไม่ แต่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วนทั้งตัวหรือเปล่านั้น หากต้องการคำตอบที่แน่นอน ต้องทำการวัดดูปริมาณไขมันในร่างกายว่ามีมากน้อยขนาดไหน โดยใช้เครื่องมือพิเศษ ซึ่งสิ้นเปลืองและยุ่งยาก
ทั่วไปจึงใช้ดัชนีความหนาของร่างกายเป็นหลักในการวินิจฉัย ประกอบกับอัตราส่วนของเส้นรอบเอวต่อเส้นรอบสะโพก มาตรฐานนี้ใช้สำหรับการประเมินภาวะการสะสมไขมันในกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
ค่าความหนาของร่างกาย
คำนวณได้โดยใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง
น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หาร ส่วนสูง (เมตร)2
ค่าปกติจะอยู่ระหว่าง 20.0-24.9 กก./ม2 คนผอมจะมีความหนาน้อยกว่า 20.0 กก./ม2 คนอ้วนจะมีความหนามากกว่า 24.9 กก./ม2 หากค่าความหนาสูงกว่ามาตรฐานสามารถสรุปได้ว่าคุณเป็นโรคอ้วนแบบอ้วนทั้งตัวส่วนอัตราส่วนระหว่างเส้นรอบเอวต่อเส้นรอบสะโพก คำนวณจากสูตร
เส้นรอบวงเอว หาร เส้นรอบสะโพกในผู้ชายหากมีค่ามากกว่า 1 ในผู้หญิงหากมีค่ามากกว่า 0.8 ถือว่าเป็นโรคอ้วนลงพุง
ปัจจุบันชายไทยที่มีช่วงอายุระหว่าง 20-60 ปี มีความชุกของโรคอ้วนทั้งตัวร้อยละ 18.2 และโรคอ้วนลงพุงร้อยละ 1.5 ขณะที่ผู้หญิงไทยช่วงอายุระหว่าง 20-60 ปี เป็นโรคอ้วนทั้งตัวร้อยละ 27 และโรคอ้วนลงพุงร้อยละ 54.5 สาเหตุของโรคอ้วน
น้องสาวของผมเชื่อว่าเขาอ้วนเพราะกรรมพันธุ์ หรือไม่อย่างนั้นก็อาจเป็นได้ว่าฮอร์โมนในตัวไม่สมดุลเป็นไปได้ไหมครับเรื่องของกรรมพันธ์เป็นเรื่องน่าคิด หลายคนปักใจว่าตัวเองรูปร่างสูงใหญ่อวบอ้วนเพราะกรรมพันธุ์เป็นเหตุ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนนักในเรื่องนี้ แต่จากการศึกษาพบว่า แนวโน้มของความอ้วนที่เกิดขึ้นกับคนทั้งครอบครัว มักเกิดจากรูปแบบการใช้ชีวิตและนิสัยการกินที่คล้ายคลึงกัน เพราะถูกปลูกฝัง เลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเดียวกัน นั่นคือ ชอบรับประทานอาหารที่มากเกินความจำเป็น กับขี้เกียจออกกำลังกาย
หากเรื่องของกรรมพันธุ์จะมีผลบ้างก็อยู่ระหว่าง 25-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะยีนทางพันธุกรรมบางตัวจะกำหนดการควบคุมการใช้และการสะสมพลังงานของร่างกาย กำหนดความจุของเซลไขมันและการกระจายของไขมันทั่วร่างกาย ซึ่งก็ไม่สามารถทำให้ใครอ้วนได้โดยที่ไม่มีการรับเอาอาหารเข้าสู่ร่างกาย
ส่วนเรื่องฮอร์โมนที่บกพร่องนั้นมีความสำคัญต่อความอ้วนของคนบางคนเท่านั้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ ทำให้อัตราการเผาผลาญอาหารในตัวลดลง ต่อมพิทูอิทารี่ (Pituitary Gland) และต่อมหมวกไต (Adrenal Gland) ทำงานผิดปกติ หรือป่วยด้วยโรคคุชิง (Cushings Syndrome) ซึ่งสาเหตุจากความบกพร่องของฮอร์โมนที่ส่งผลถึงภาวะอ้วนนี้มีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์
ส่วนมากเกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมการกินอยู่ที่ไม่สมดุล นั่นคือรับประทานอาหารเข้าไปมาก ขณะที่มีกิจกรรมประจำวันน้อย ทำให้พลังงานที่ได้รับจากอาหารถูกสะสมอยู่ในตัว
เรื่องของเพศก็มีส่วนกำหนดความอ้วนผอมต่างกันได้ เพศชายทีกล้ามเนื้อมากกว่าเพศหญิง ทำให้เขาอ้วนยาก เพราะกล้ามเนื้อเป็นอวัยวะที่ต้องใช้พลังงานมาก แม้ในขณะหลับหรือพักผ่อน จึงมีการใช้พลังงานในขณะพักในเพศชายมากกว่าเพศหญิงราว 10-20 เปอร์เซ็นต์
หากอายุมากขึ้น ปริมาณกล้ามเนื้อที่มีอยู่จะลดน้อยลง กิจกรรมต่าง ๆ ก็ลดน้อยลง หากพฤติกรรมการกินยังไม่เปลี่ยน จะทำให้คนในวัย 35 ปีขึ้นไปเกิดภาวะอ้วนได้ง่าย
ผลจากความอ้วน
ความสุขจากการกิน ร่วมกับภาวะอื่น ๆ ที่ส่งผลให้คนเราอ้วน สักพักจะก่อความทุกข์อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะผลร้ายที่จะมีต่อสุขภาพ
เริ่มต้นจาก หายใจไม่อิ่ม เกิดจากการสะสมของไขมันบริเวณผนังหน้าท้อง หากอยู่ในอิริยาบทที่ไม่เอื้อต่อการขยายตัวของปอด การหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปเปลี่ยนถ่ายก็ทำได้เพียงเล็กน้อยหรือกล่าวได้ว่า หายใจได้เพียงตื้น ๆ เท่านั้น
ขั้นถัดมา น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้ข้อต่อต่าง ๆ ทั่วร่างกายต้องแบกรับภาระด้านน้ำหนักเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหัวเข่า คนอ้วนส่วนใหญ่มักเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนเวลาสมควรเสมอ
ความอ้วนทำให้การตอบสนองของอินซูลินในร่างกายลดต่ำลง อินซูลินนั้นเป็นฮอร์โมนที่สำคัญในร่างกกาย มีหน้าที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้นคนยิ่งอ้วนมากเท่าใด โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
หากจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือมีบาดแผลฉกรรจ์ คนอ้วนมีโอกาสติดเชื้อหรือเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ และโอกาสหายของแผลก็ช้ากว่าคนอื่น ๆ ด้วย
คนอ้วนจะคอยยุยงให้ตับผลิตคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีสูง และหากคอเลสเตอรอลที่มีอยู่ยกขบวนไปสะสมตามผนังเส้นเลือด ขวางการไหลเวียนของเลือดซึ่งจะต้องไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญ ๆ ทั่วร่างกาย จะมีผลทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคเส้นเลือดในสมองตีบทำให้เสียชีวิตได้อย่างกระทันหันและก่อนวัยอันควร
ความอ้วนยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับมะเร็งบางชนิด เช่นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งปอด โดยเชื่อกันว่ามีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครโมโซมของเซลล์ จนเซลล์ปกติกลายเป็นเนื้อร้าย
ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ๆ มักมีความเครียด หงุดหงิด โมโหง่าย รู้สึกตัวเองมีปมด้อย บางคนเมื่ออ้วนและต้องการที่จะลดน้ำหนัก แต่ก็ทำไม่สำเร็จ ยิ่งทำให้เกิดความเครียด และสุขภาพก็ทรุดโทรมลง เพราะผลทั้งจากความเครียดและความอ้วน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐอเมริกา พบความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนและโรคหอบหืด โดยศึกษาในแง่สุขภาพและสภาพการดำเนินชีวิต จากกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงจำนวน 89,061 คน อายุระหว่าง 27-41 ปี พบว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ปกติมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืดสูงกว่ารายที่มีน้ำหนักตัวตามเกณฑ์ปกติถถึง 3 เท่า และยังพบว่า ความสัมพันธ์ของโรคทั้งสองแปรผันตามซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ยิ่งมีน้ำหนักมาก ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืดมากขึ้น โดยสันนิษฐานว่าเกิดจากการที่ปอดถูกกดทับโดยไขมันส่วนเกิน ทำให้ไวต่อการถูกกระตุ้น
อ้วนแล้วจะทำอย่างไร
ข้อมูลจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่าปัจจุบันคนจำนวนมากนิยมลดความอ้วนโดยการใช้ยา เพราะหลงเชื่อว่าจะช่วยควบคุมน้ำหนักได้เร็วและวิธีการก็ไม่ยุ่งยาก ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ผิดและอันตรายอย่างยิ่ง เพราะการลดความอ้วนด้วยวิธีนี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์
ยาลดความอ้วนที่ซื้อหามาใช้กันเองส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาควบคุมพิเศษ และยาอันตรายที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีผลต่อความอยากอาหาร ช่วยให้ไม่ก่อให้เกิดความอยาก แต่ก็ก่ออาการไม่พึงประสงค์ขึ้นหลายข้อ เช่น ทำให้มีอาการตื่นเต้นสับสน หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ทรงตัวลำบาก ม่านตาขยาย พูดรัว ปวดศรีษะ อาจมีอาการทางจิต เห็นภาพหลอนหรือได้ยินเสียง ในรายที่รุนแรงพบว่ามีไข้สูง เจ็บหน้าอก การไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ชัก อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้การใช้ยาลดความอ้วนอาจทำให้เกิดการแท้งในหญิงมีครรภ์ และถึงแม้จะได้ผลในช่วง 4-6 สัปดาห์แรก แต่ในระยะยาวร่างกายจะเกิดอาการทนต่อยา หากใช้ติดต่อกันนานเกินไปจะมีอาการติดยาได้ และเมื่อหยุดยา น้ำหนักตัวจะกลับมาเพิ่มตามปกติ
ยาหรือผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน บางชนิดมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ เมื่อกระตุ้นให้ร่างกายขับน้ำออก น้ำหนักตัวจะลดลงเล็กน้อย แต่ก็มีผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย เพราะสูญเสียน้ำและเกลือแร่บางส่วน ซึ่งปัญหาที่สำคัญของความอ้วนอยู่ที่ไขมัน ไม่ใช่น้ำ
ยาลดความอ้วนหรือผลิตภัณฑ์ที่มีรำข้าวกับกากใยอื่น ๆ เป็นส่วนผสม ส่วนใหญ่จะพองตัวเมื่อรับประทานเข้าไป ช่วยให้รู้สึกอิ่ม แต่ไม่เกี่ยวกับการช่วยเผาผลาญไขมันส่วนเกิน บางครั้งยังพบว่าเป็นต้นเหตุของการอุดตันในระบบทางเดินอาหาร หากรับประทานเข้าไปแล้วดื่มน้ำตามไม่เพียงพอ
หัวใจของการลดความอ้วนจึงอยู่ที่การใช้พลังงานส่วนเกินที่สะสมไว้ กับลดพลังงานชุดใหม่ที่จะเพิ่มเติมเข้าสู่ร่างกาย สิ่งที่ต้องทำสองประการคือ ควบคุมการรับประทานอาหารตามธรรมชาติ และเพิ่มกิจวัตรประจำวันกับการออกกำลังกายเข้าไปอย่างต่อเนื่อง
อดอาหารดีไหม
ไม่ดีแน่ เพราะมีผลงานการวิจัยยืนยันแล้วว่า คนที่พยายามลดน้ำหนักตัวด้วยการอดอาหารจนได้ระดับที่พึงพอใจ สักระยะเมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาใหม่ก็ทำการอดอีก การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวแบบขึ้น ๆ ลง ๆ เช่นนี้ มีผลทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น อายุสั้นลง และมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้การอดอาหหารยังทำให้ปริมาณของไขมันและกล้ามเนื้อในตัวคุณลดลง มีผลให้อัตราการเผาผลาญพลังงานในร่างกายลดน้อยลงด้วย เมื่อคุณเลิกอดอาหารและกลับมารับประทานอาหารใหม่ มักพบว่ารับประทานได้มากกว่าเก่า น้ำหนักตัวจะเพิ่มเหมือนเดิม หรือบางทีก็มากกว่าเดิมเสียด้วย
ปกติร่างกายของคนเราจะสะสมพลังงานไว้ในรูปของไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ ซึ่งกระบวนนี้ต้องใช้น้ำ 3 กรัมต่อไกลโคเจน 1 กรัม หากเราไม่รับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ก็ไม่มีการสะสมไกลโคเจน ซึ่งหมายถึงไม่มีการสะสมน้ำด้วยเช่นกัน ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำหนักตัวลดลงในทันที นอกจากนี้การกำจัดอาหารให้ได้พลังงานไม่เกิน 1,200 แคลอรีต่อวัน ทำให้ร่างกายคิดว่ากำลังอยู่ในภาวะขาดอาหาร ร่างกายจะตอบสนองโดยการลดการเผาผลาญพลังงานขณะปกติลง ยิ่งเรากำจัดพลังงานลงนานเท่าไร ร่างกายก็ยิ่งลดการใช้พลังงานลงเรื่อย ๆ แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครอดได้ชั่วชีวิต เมื่อกลับมารับประทานอาหารใหม่ กระบวนการสะสมไกลโคเจนก็จะกลับมาเหมือนเดิม น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากอัตราการใช้พลังงานของเราต่ำลง ก็ยิ่งมีพลังงานเหลือและเกิดการสะสมต่าง ๆ นี่จึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมคนอดอาหารจึงกลับมาอ้วนมากกว่าเก่า
ดังนั้นวิธีลดความอ้วนที่ถูกต้องคือ การควบคุมการรับประทานอาหาร และควบคุมน้ำหนักตัวให้สม่ำเสมอ ไม่เพิ่มหรือลดจนเร็วเกินไป โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีแป้ง ไขมัน และน้ำตาลต่ำนั่นเอง ไม่ใช่วิธีการอดอาหารอย่างที่เข้าใจ
กิจกรรมเผาผลาญพลังงาน
นอกจากแนะนำให้ควบคุมการรับประทานแป้ง ไขมัน และน้ำตาล มากเกินขนาด แต่ให้หันมารับประทานผักและผลไม้ให้เพิ่มมากขึ้น หรือดีที่สุดคือ รับประทานอาหารตามสัดส่วนที่ชีวจิตแนะนำแล้ว ยังแนะนำให้เสริมกิจกรรมประจำวันเพื่อช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกินที่สะสมไว้ออกไปด้วย มาดูกันซิว่า กิจกรรมหลัก ๆ แต่ละอย่างในช่วงเวลา 1 ชั่วโมงใช้พลังงานเท่าใด
กิจกรรม พลังงานที่ใช้ (แคลอรี)
นั่งดูโทรทัศน์ 100
ปูที่นอน 135
ยืน 140
ทำงานบ้าน 150-250
เดินเล่น 210
กวาดพื้น 225
ทำสวน 300-450
เดินขึ้นบันได 600-1,030
แต่ถ้าเป็นรูปแบบของการออกกำลังกายละก็ จำนวนพลังงานที่ร่างกายเผาผลาญในเวลา 1 ชั่วโมงคือ
ชนิดของการออกกำลังกาย พลังงานที่ใช้ (แคลอรี)
เดินช้า ๆ 150
เดินลงเนิน 240
เดินธรรมดา 300
เดินเร็ว 420-480
เดินขึ้นเนิน 480-900
ขี่จักรยาน 250-600
ว่ายน้ำ 260-750
ตีกอล์ฟ 300
เล่นแบดมินตัน 350
เต้น 350
เล่นเทนนิสคู่ 360
เล่นบาสเกตบอล 360-660
เล่นโบว์ลิ่ง 400
เล่นเทนนิสเดี่ยว 480
วิ่งเหยาะ ๆ
600-750วิ่งเร็ว 900-1,200
ข้อคำนึงเรื่องอาหาร
การควบคุมอาหารในช่วงลดความอ้วนมีข้อพึงปฏิบัติ 3 ประการคือ
จัดสัดส่วนอาหารให้เหมาะสม
อาหารแต่ละกลุ่มนอกจากมีคุณประโยชน์ทางโภชนาการทั่วไปแล้ว ยังให้พลังงานแก่ร่างกายด้วย ในจำนวน 1 กรัม โปรตีนกับคาร์โบไฮเดรตให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี ไขมัน 9 กิโลแคลอรี จึงต้องควบคุมอาหารกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ เพราะแคลอรีส่วนเกินก็คือไขมันส่วนเกิน ในความอ้วนของคุณนั่นเอง
ควบคุมปริมาณพลังงานที่จะได้รับจากอาหาร
ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอและมีความสุขที่จะทำ
อ้วน แม้เป็นโรคไม่ร้ายแรง แต่ความเรื้อรังและโรคแทรกซ้อนของมัน ก็คุกคามชีวิตได้น่าสะพรึงกลัว หากไม่ตระหนักและสร้างนิสัยในการควบคุมที่ดีพอ อนาคตเห็นทีชีวิตจะต้องลำบากแน่ ๆ
ชีวจิต ปีที่ 1 ฉบับที่ 20 สิงหาคม 2542