ผู้เยี่ยมชมตั้งแต่วันที่ 16ก.ค.50
มีเวลาวิ่งทั้งชีวิต จะรีบร้อนไปไย?
โดย กฤตย์ ทองคง
เมื่อครั้งผู้เขียน อ่านงานของนายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เรื่อง วิ่งสู่วิถีชีวิตใหม่ เมื่อหลายปีก่อน ที่ภายในหนังสือนั้นได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการวิ่งมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ตั้งใจจะหัดวิ่งน่าสนใจอยู่ และบอกหนทางที่จะเริ่มออกกำลังกาย จากเริ่มที่เดินก่อน แสดงเป็นขั้นตอน ผ่านการค่อยๆเขยิบจากปริมาณที่น้อยไปสู่จำนวนที่มากขึ้น และผ่านจากการออกกำลังที่มีความเข้มข้นน้อยไปสู่ความเข้มข้นมากคือ วิ่งเหยาะ ในคาบระยะเวลาที่นานหลายเดือน
ตอนนั้นผู้เขียนมีความเห็นว่า แผนที่คุณหมออุดมศิลป์ให้ไว้ เป็นแบบแผนฝึกวิ่งที่เบาเกินไปแม้จะกระทั่งนักวิ่งหน้าใหม่โดยทั่วไป ที่จากประสบการณ์ของตัวเองในการวิ่งครั้งแรกก็วิ่งเลยและเข้าสู่จิตใจที่กระหายทำความเร็วภายในไม่กี่วัน จึงเห็นว่าสมควรจะวิ่งให้เข้มข้นกว่าที่คุณหมอให้ไว้
แต่หลายปีผ่านมา กับประสบการณ์ที่มากขึ้น ทั้งจากของตนเองและของผู้อื่น และยังได้รับความรู้เพิ่มเติมจากหนังสืออีกหลายเล่ม จึงต้องสรุปความรู้ตัวเองใหม่ว่า
แผนเตรียมตัวเพื่อให้ผู้ที่ไม่เคยวิ่งหรือออกกำลังกายมากก่อนของนายแพทย์อุดมศิลป์เป็นแผนชั้นยอด ที่ปูพื้นกิจกรรมทางร่างกายที่มีเป้าหมายมิให้ผู้ฝึกได้รับแรงเครียดจากกระดูกที่กระแทก และกล้ามเนื้อที่ใช้งานหนักอย่างดีมาก
ความเป็นจริง ร่างกายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ตรงที่ เป็นองคาพยพที่มีความสามารถปรับตัวได้สูงมากเพื่อให้เข้าได้กับสิ่งแวดล้อมจากโลกภายนอกที่ไม่แน่นอน การที่ร่างกายรับงานหนักที่เกินสภาพไปบ้าง ร่างกายก็ยังไม่ถึงกับแตกดับไปเสียก่อน งานหนักที่มากขึ้นอีก ก็อาจยังรับได้อยู่ ไม่ใช่จะเดี้ยงลงไปในทันที ต้องให้หนักจริงๆอย่างเกินระดับและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มันจึงเข้าสู่โซนอันตราย และเดี้ยงในที่สุด
การที่คนเราเริ่มออกกำลังกายที่หนัก อย่างผู้เขียนที่วิ่งครั้งแรกในชีวิตก็วิ่งเลย ไม่มีเดิน ไม่มียืดเส้น ไม่มีวอร์ม ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้อ่านหนังสือหรือมีความรู้เกี่ยวกับการวิ่งใดๆ และยังไปไกลตั้ง 3 กิโล แล้วเพียง 2 3 วันก็ไถลพรืดไป 2 เท่า เป็น 6 โล เดี๋ยวนี้นึกแล้วตกใจ เราไม่เดี้ยงไปตั้งแต่คราวนั้นก็บุญแล้ว กับการวิ่งเมื่ออายุใกล้ 40 ปี (ขณะนั้น) และแต่ไหนแต่ไรก็มีวิถีชีวิตแบบ Quite Sedentarian มาตลอด
ทุกวันนี้มาวิเคราะห์ย้อนหลัง จึงตระหนักว่า ณ โมงยามแรกๆของชีวิตวิ่งตัวเอง หารู้ไม่ถึงความเสี่ยงบาดเจ็บที่เพิ่มมากอย่างไม่รู้ตัว ความรู้สึกเมื่อยล้าในการวิ่งออกกำลังกายของตัวเองจนตึงเปรี้ยะที่ขาของเรานั้น มันอาจจะทำให้เกิดอะไรขึ้นได้ทุกเมื่อ และความโง่เขลาที่ผสมปนเปกับจิตใจที่หาญกล้า แม้เรียกเสียสวยหรู อันที่จริงต้องเรียกมันว่า บ้าบิ่น ต่างหาก อาจทำให้เราหมดอนาคตไปเมื่อไรก็ได้ทุกวันนี้ผ่านตรงนั้นมาได้อย่างไร ต้องเรียกว่า โชคดีไม่น้อย
ผู้เขียนมองมายังพวกเรา ที่อาจเพิ่งเข้ามาวิ่ง หรือเพิ่งมาฝึก อยากจะบอกเตือนให้เห็นความสำคัญกับการค่อยๆประจงเขยิบเพิ่มความเข้มข้น ความหนักของแผนฝึกอย่างระมัดระวัง (Gradually increase) ด้วยการหลบหนีแรง Stress กับร่างกายให้เจอน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นการเซฟร่างกายไว้ มาวิ่งเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่ทำลายสุขภาพ
ต้องเข้าใจว่า การวิ่งนี้ มันเป็นชนิดการออกกำลังกายที่ยังประโยชน์ในการเผาผลาญแคลลอรี่สูงมาก เป็นการฝึกสร้างมวลกระดูกให้หนาแน่นอย่างดีเยี่ยม เมื่อเทียบกับกีฬาอื่นๆชนิดที่ใกล้เคียงกัน และเพราะเป็นอย่างนี้เองมันจึงถูกนับเนื่องว่าเป็นกีฬาที่มีความเสี่ยงมากขึ้นด้วย ไม่ใช่เสี่ยงแบบมวยที่ถูกต่อยหัวบ่อยจนพิการแบบอาลี ไม่ใช่เสี่ยงจักรยานล้มคว่ำถลอกปอกเปิกแบบเด็กวัยรุ่น แต่เป็นความเสี่ยงที่ร่างกายจะเผชิญความเครียดล้าที่สะสมจนกระทั่งพัฒนาเป็นความบาดเจ็บในรูปแบบหนึ่งใดเสมอ
ดังนั้น เพราะเจอมาก่อนเอง และเห็นเพื่อนๆม้วนเสื่อเลิกวิ่งไปแล้วไม่รู้กี่ราย จึงขอบอกว่าไม่ว่าเราจะมีพื้นทางกีฬามาแต่เด็กก็ตาม ตราบที่ยังมีอายุราชการวิ่งไม่มากนัก ให้ระวังการปรับเพิ่มปริมาณความเข้ม ด้วยการใช้เวลาที่มีอยู่ให้เต็มที่ ก็เรามีเวลาวิ่งทั้งชีวิต (ถ้าคุณเลือกที่จะวิ่งตลอดไป) จะไปรีบเร่งรัดอะไรหนักหนา จะรีบไปไหนกัน การเติบโตอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป มันมิได้เป็นการเสียเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ แต่เวลาที่เสียไปนั้นกลับแลกเปลี่ยนมาเป็นความแน่นหนาขององคาพยพทุกภาคส่วนที่จะเป็นพื้นฐานปกป้องบาดเจ็บที่เผลอหนักไปโดยไม่รู้ตัว และเข้าสู่ปริมณฑลการฝึกชั้นสูงในอนาคตได้อย่างน่าไว้วางใจ
กระทั่งนักวิ่งผู้มีประสบการณ์ วิ่งมานานก็หลายปีแล้ว ก็จะยังได้ประโยชน์จากการหมั่นกลับมาทบทวนเบสิคของสรีระวิทยาการออกกำลังกายในเรื่อง Gradually increase ย่อมเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง ตราบใดที่คุณยังปรารถนาการฝึกให้ฝีเท้าพัฒนาขึ้น เราจำต้องย้ำเน้นหลักการนี้ให้ขึ้นใจเสมอ
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนนักวิ่งหน้าใหม่หรือสหายวงการหน้าเก่า ตราบใดที่อยู่ในวงการวิ่ง เราย่อมต้องตระหนักในระดับของตนเองที่จะรับความเข้มข้นได้ที่เพดานขนาดไหน และพัฒนาจากตรงนั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นประจำ
นอกจากจะใช้องค์ความรู้กับตัวเองแล้ว ยังอาจจะได้ไปแนะนำให้ผู้มาใหม่ เข้าใจในหลักการเหล่านี้ อย่างรวดเร็ว ก่อนที่พวกเขาจะก้าวพลาดพลั้งบาดเจ็บเสียก่อนด้วยความรู้ไม่ถึงการณ์ ถือว่าเราได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อวงการ วิ่งมานาน สมควรที่จะรู้ประสาบ้าง ไม่ใช่ยุน้องๆให้อัดคอร์ทตาม เพื่อเปรอปรนอัตตาให้เห็นความเก่งกาจของตัว
ประสบการณ์ขับรถมานานหลายปี ไม่ใช่เพียงแค่ยืนยันจากยอดอุบัติเหตุในประวัติการขับขี่เท่านั้น แต่จากความรู้ความชำนาญที่มี และประกอบกับบุคลิกใจคอกว้างขวางแบ่งปันความรู้นั้น จนมีผลให้ผู้อื่นยังประโยชน์ได้อีกโสตหนึ่ง ถึงน่าจะได้ชื่อว่านักขับมือทองตัวจริง
เช่นเดียวกับ การวิ่งได้เร็ว วิ่งเก่ง ย่อมจะทรงความหมายที่แตกต่างจากสุภาพบุรุษนักวิ่งก็ตรงนี้เอง
11:40 น.
21 กันยายน 2549