ปัญหาข้อเข่า+ข้อสะโพก


 

คำถามจาก **คุณภว สัจกุล** ถามมาว่า

"ผมอายุ 20 ปี แต่มีปัญหาเรื่องหัวเข่า และข้อที่ด้านข้างสะโพกนะครับ เมื่อก่อนเล่นกีฬาบาสเกตบอลเยอะในช่วงเรียนมัธยมตอนปลาย ปัญหาคือ เวลาผมนั่งแบบพับขาเข้ามา หรือนั่งคุกเข่า ขัดสมาธิ สักพักจะเกิดอาการปวดเมื่อยที่หัวเข่า เมื่อเหยียดขาจนสุดจะเกิดเสียง แก๊กๆ ที่ข้อตลอด เป็นอยู่ตลอดเวลาเลยครับ บางครั้งเวลาปั่นจักรยานหากต้องปั่นขึ้นเนินก็จะเกิดอาการปวดได้ง่าย

"และอีกอย่างหนึ่งคือ บริเวณข้อกระดูกด้านข้างสะโพกครับ ผมเคยสังเกตเวลานอนตะแคงอยู่บนเตียง หากผมขยับขาในบางทิศทาง ข้อต่อด้านข้างสะโพกที่อยู่บนสุดของต้นขาผมจะขยับเหมือนไม่ค่อยอยู่กะล็อคของมันนะครับ ที่บริเวณนี้มีครั้งหนึ่งตอนผมออกกำลังกายโดยการวิ่งอย่างหนัก จะเกิดอาการปวดที่บริเวณนี้จนทำให้ลงน้ำหนักที่ขาไม่ได้เลย รวมทั้งเดินแทบไม่ได้เพราะจะไปปวดตรงจุดนี้มาก แต่ไม่มีอาการบวมช้ำแต่อย่างใดเลย อาการนี้ผมไม่ได้เป็นทุกครั้งนะครับ ผมเคยเป็นแค่ครั้งสองครั้งหลังจากวิ่งมาเท่านั้น (เมื่อก่อนผมเคยพลัดตกจากราวโหนสมัยเด็กนะครับ ตอนนั้นเอาก้นกบลง จนจุกหายใจไม่ออกไปพักหนึ่ง) จากปัญหาเหล่านี้จึงอยากเรียนถามคุณหมอว่า จะเป็นอันตรายหรือไม่ครับ ผมควรจะรักษาตัวอย่างไร และสุดท้ายคือ ผมจะสามารถออกกำลังกายด้วยวิธีใดได้บ้างและควรหลีกเลี่ยงอะไรครับ"

ผมขอเชิญ **อ.นพ.ชนินทร์ ล่ำซำ** แพทย์ประจำสาขาเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตอบดังนี้ครับ

จากคำถาม 2 ข้อ เกี่ยวกับอาการปวดบริเวณ **ข้อเข่า** และทางด้าน **ข้างสะโพก** จากข้อมูลที่เขียนเล่ามา ผมไม่คิดว่าเป็นอันตรายร้ายแรง แต่ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดอีกครั้ง และผมขอแยกตอบเป็น 2 กรณี

ในปัญหา **ข้อเข่า** นั้น น่าจะเป็นเนื่องจากกระดูกอ่อนผิวข้อในข้อเข่าได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ในลักษณะเป็นไม่มากนัก แต่สะสมนานวันมากขึ้นทีละน้อย กิจกรรมซึ่งมีการงอพับข้อเข่ามากจะทำให้มีแรงกดที่กระดูกอ่อนผิวข้อปริมาณมากควรหลีกเลี่ยงเช่น การนั่งยองๆ การนั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ ซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บปวดได้มากขึ้น การออกกำลังกายสร้างกำลังความแข็งแรงกล้ามเนื้อต้นขา จะช่วยให้การทำงานของข้อและอาการปวดดีขึ้น รวมทั้งควรระวังไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ถ้าอ้วนอยู่ควรลดน้ำหนักตัวลงประมาณ 3 กก.

ส่วนในกรณีอาการปวดด้านข้างข้อสะโพกนั้น น่าจะเกิดจากปัญหาความตึงตัวของพังผืดด้านข้างต้นขา และการอักเสบของถุงน้ำบริเวณนั้น การเหยียดยืดโดยรอบข้อสะโพก และการบริหารกล้ามเนื้อข้อสะโพกให้แข็งแรงจะช่วยให้อาการดีขึ้น

หวังว่าคงพอเข้าใจนะครับ ถ้ามีข้อสงสัยหรือคำถามประการใดเกี่ยวกับการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา กรุณาส่งไปที่สาขาเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ฯ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ E-mail address sisportsmed@hotmail.com สวัสดีครับ

 

คอลัมน์ หมอสนาม

นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ และคณะ