ลมแดด |
โดย...รศ.ดร.วิชิต
คนึงสุขเกษม
ฟิตหรือฟุบ
ใกล้หมอ..ปีที่ 18 ฉบับที่ 8 สิงหาคม 2537
โอกาสที่จะเป็นลมอันเนื่องจากการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายในที่ ๆ มีอากาศร้อนจัดเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นกีฬาที่ต้องใช้เวลาในการเล่นติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เช่นวิ่งมาราธอนเป็นต้น อาการที่เกิดจากความร้อนแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ อาการเพลียแดด (HEAT EXHAUSTION) และอาการลมแดด (HEAT STROKE) อาการเพลียแดด (HEAT EXHAUSTION) เป็นอาการที่เกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป แต่ยังไม่ถึงขั้นลมแดด เพราะยังสามารถควบคุมสติสัมปชัญญะอยู่ได้ ผู้ที่เพลียแดดจะมีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลียมากและอาจเป็นติดต่อกันไปหลายวัน โดยทั่วไปอาการเพลียแดดไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน แต่ถ้าเล่นต่อไปอาจทำให้เป็นลมแดดได้ การแก้อาการเพลียแดดคือ ต้องให้นักกีฬาดื่มน้ำมากๆ โดยเฉพาะน้ำที่มีเกลือแร่ เช่น น้ำผลไม้ต่าง ๆ อย่างไรก็ดีมีนักกีฬาบางคนที่ถึงแม้จะสูญเสียน้ำมากในขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา แต่เกือบไม่มีอาการเพลียแดด หรือมีแต่น้อยก็เป็นเพราะว่าร่างกายของนักกีฬาสามารถทำงานได้ในขณะที่ร่างกายมีระดับน้ำต่ำ นอกจากนั้นหัวใจของนักกีฬาแข็งแรง ทำให้สามารถสูบฉีดเลือดได้ดีกว่า ซึ่งทำให้หลอดเลือดต่าง ๆ สามารถนำเลือดไปยังแหล่งที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าคนธรรมดา นอกจากนั้นนักกีฬาที่มีประสบการณ์มาก จะมีการจัดหาน้ำมาทดแทนน้ำที่สูญเสียไปทั้งก่อนระหว่างและภายหลังการเล่นกีฬา บางคนกินเกลือมากเกินไปก็ทำให้เกิดอาการเพลียแดดได้ เพราะการกินเกลือมากเกินไปกว่าระดับปกติที่มีในร่างกายจะทำให้เสียน้ำและโปแตสเซี่ยมมากขึ้น และที่สำคัญคืออาจเกิดอาการเพลียแดดได้ ถ้าร่างกายมีเกลือมากเกินไป อุณหภูมิในร่างกายจะสูง เหนื่อยมากกว่าปกติ กล้ามเนื้อจะอ่อนแอ น้ำหนักจะลด วิธีป้องกันง่าย ๆ ก็คือ ควรชั่งน้ำหนักตัวเป็นประจำทุกวัน ถ้าพบว่าน้ำหนักลดลง ½ -1 กม. แสดงว่าร่างกายไม่สามารถรักษาระดับน้ำไว้ได้ การดื่มน้ำผลไม้จะช่วยชดเชยการสูญเสียน้ำ อันเนื่องขากการออกกำลังกายและเป็นการช่วยเพิ่มเติมโปแตสเซี่ยมซึ่งเซลล์กล้ามเนื้อปล่อยออกมา และถูกขับทางกระแสเลือดได้อีกด้วย บางครั้งที่ร่างกายมีเกลือแร่น้อยเกินไปก็อาจทำให้มีอาการของการเพลียแดดได้ เพราะเหตุว่าโดยทั่วไปการออกกำลังกายในอากาศร้อนต้องสูญเสียเกลือแร่ไปกับเหงื่อ ถ้าการชดเชยน้ำที่สูญเสียไปกับเหงื่อไม่เพียงพอ แต่ไม่ได้รับการชดเชยเกลือแร่จะเกิดอาการขาดเกลือ ซึ่งมีอาการสำคัญคือ อ่อนเพลียมาก การประสานงานของกลุ่มกล้ามเนื้อไม่เป็นไปตามปกติ และอาจเกิดอาการตะคริวในกล้ามเนื้อกลุ่มต่าง ๆ ได้ วิธีแก้คือให้ดื่มน้ำโดยเฉพาะน้ำผลไม้และเติมเกลือแกงเล็กน้อยให้มาก ๆ เพื่อชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียไปและกินอาหารให้มีรสเค็มมากกว่าปกติ ที่กล่าวมาคืออาการของการเพลียแดด แต่อาการที่เกิดจากความร้อนยังแบ่งออกได้อีกลักษณะหนึ่งคืออาการลมแดด อาการลมแดด (HEAT STROKE) เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมความร้อนที่เพิ่มขึ้นในทันทีทันใด ทั้งนี้เพราะศูนย์ควบคุมอุณหภูมิซึ่งอยู่ในสมองไม่สามารถเพิ่มการทำงานเพื่อการระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ ปกติศูนย์ควบคุมอุณหภูมิกายจะทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายให้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ศูนย์นี้มีความไวต่ออุณหภูมิเลือดที่ไหลผ่าน หากอุณหภูมิในเลือดสูงขึ้นศูนย์จะส่งสัญญาณไปตามเส้นใยประสาททั่วร่างกาย ซึ่งก็ทำให้มีการขยายหลอดเลือดบริเวณผิวหนัง เพื่อให้ความร้อนกระจายออกจากร่างกายและมีการลดของขบวนการเมตาบอลิซึ่มภายในร่างกาย เพื่อมิให้มีการผลิตความร้อนมากเกินควร |
หากศูนย์ควบคุมอุณหภูมิกายได้รับอันตรายเนื่องจากความร้อนจนทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ผลที่ตามมาคือทำให้เกิดลมแดดได้ ยิ่งมีการเสียเหงื่อ (น้ำ) มากเท่าไร โอกาสที่จะเป็นลมแดดก็มีมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเป็นการออกกำลังกายหนักและนาน ก็จะทำให้ความทนทานต่อการขาดน้ำลดน้อยลง การขาดน้ำทำให้ปริมาณเลือดที่หล่อเลี้ยงผิวหนังและอวัยวะภายใน เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ ร่างกายจึงจำเป็นต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ซึ่งตามธรรมชาติก็มักจะเลือกการส่งเลือดไปยังอวัยวะภายในและกล้ามเนื้อ เมื่อเป็นเช่นนี้ปริมาณเลือดที่หล่อเลี้ยงผิวหนังจึงถูกตัดลง ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้นโดยไม่อาจควบคุมได้ อาการของลมแดดในขั้นต้นคือ มีการกระหายน้ำมาก ตัวร้อน หายใจสั้นและถี่ ปากคอแห้ง ต่อมาตัวจะร้อนจัดมีอาการเวียนศรีษะ ตาพร่า การเคลื่อนไหวและสติสัมปชัญญะควบคุมไม่ได้ และมีอาการคลื่นไส้อาเจียรด้วย เมื่อถึงขั้นนี้หากยังออกกำลังกายต่อไปการหลั่งเหงื่อจะหยุดลง ผิวหนังจะแห้ง อุณหภูมิภายในร่างกายจะเพิ่มจนไม่สามารถควบคุมได้ ผลคืออวัยวะต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อาการที่ตามมาคือหมดสติ ซึ่งหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลอย่างทันท่วงทีก็อาจเสียชีวิตได้ ในขณะฝึกซ้อมหรือแข่งขันในอากาศร้อนจัดและมีความชื้นสูง โอกาสที่ผู้เล่นกีฬาจะเป็นลมแดดจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการฝึกหรือแข่งขันที่นานเกิน 1 ชั่วโมงขึ้นไป และผู้เล่นไม่ได้รับการชดเชยด้วยน้ำอย่างเพียงพอในทางปฏิบัติ เมื่อผู้เล่นสังเกตตนเองว่ามีอาการเริ่มต้นของลมแดดให้หยุดพักทันที หากอยู่กลางแดดต้องเข้าพักในที่ร่มใกล้ ๆ ผ่อนคลายเสื้อผ้าออก หรือถอดออกเท่าที่ทำได้ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามตัว การดื่มน้ำในระยะนี้ทำได้โดยการจิบช้า ๆ เป็นระยะ ๆ และทำได้จนความกระหายหมดไป ในวันนั้นห้ามฝึกซ้อมหรือแข่งขันอีก แม้จะรู้สึกสดชื่นขึ้นแล้วก็ตาม ในกรณีที่มีอาการขั้นรุนแรง ต้องปฐมพยาบาลทันที เพื่อช่วยชีวิต สิ่งที่ต้องปฏิบัติควบคู่กันไป คือการเพิ่มการไหลเวียนเลือดของสมองด้วยการให้นอนราบยกเท้าสูง และการลดอุณหภูมิร่างกายด้วยการนำเข้าที่ร่มที่มีอากาศโปร่งสบาย ผ่อนคลายหรือถอดเสื้อผ้าออก ใช้น้ำเย็นชโลมตัวแล้วเช็ดออกติดต่อกัน เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวแล้วจึงเว้นระยะการเช็ดตัวให้ห่างออกไป หากไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนอาจให้จิบน้ำช้า ๆ และให้ผู้ป่วยนอนพักต่อไปไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่ฟื้นสติ แม้มีการยกเท้าสูงขณะนอนแล้วก็ตาม ตลอดจนมีการลดอุณหภูมิกายด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว ถ้านานกว่า 5 นาที ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยต้องมีการปฐมพยาบาลระหว่างทางตลอดจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล การชดเชยเกลือแร่ทันทีในผู้ที่เป็นลมแดดเป็นดาบสองคมเพราะถ้าความเข้มข้นของเกลือแร่ในน้ำที่ให้ดื่มมีมากเกินไปกลับจะเพิ่มอาการ เพราะในขณะนั้นความเข้มข้นของเกลือแร่ในเลือดมีมากอยู่แล้วเนื่องจากเหงื่อที่เสียไมีความเข้มข้นของเกลือแร่ต่ำกว่าในเลือด ในทางปฏิบัติควรให้ดื่มน้ำธรรมดาก่อนจนความกระหายน้ำหมดไป แล้วจึงให้ดื่มน้ำผสมเกลือแร่เมื่อเกิดความกระหายขึ้นมาใหม่
เมืองไทยเรามีสภาพอากาศร้อนอยู่เสมอ
และคนในบ้านเราก็มีความตระหนักถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาเพิ่มมากขึ้นทุกปี
ฉะนั้นเพื่อให้การออกกำลังกายและการเล่นกีฬามีประโยชน์สูงสุดโดยไม่มีโทษจากความร้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง
จึงเป็นหน้าที่ที่ผู้รักการออกกำลังกายทั้งหลายควรศึกษาถึงโทษของการออกกำลังกายในที่ร้อนมากจนเกินไปเพื่อประโยชน์ต่อร่างกายตนเอง
และนอกจากนั้นยังต้องรู้จักวิธีแก้ไขเผื่อเผอิญพบปัญหานี้ขึ้นมา
จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที ....
|