<% Set FileObject = Server.CreateObject("Scripting.FileSystemObject") Dir = Request.ServerVariables("SCRIPT_NAME") Dir = StrReverse(Dir) Dir = Mid(Dir, InStr(1, Dir, "/")) Dir = StrReverse(Dir) HitsFile = Server.MapPath(Dir) & "\hitcounter\hits_grit_chontawan1_2.txt" On Error Resume Next Set InStream= FileObject.OpenTextFile (HitsFile, 1, false ) OldHits = Trim(InStream.ReadLine) NewHits = OldHits + 1 Set OutStream= FileObject.CreateTextFile (HitsFile, True) OutStream.WriteLine(NewHits) %> ความสัมพันธ์ระหว่างชอนตะวันกับลุงกฤตย์1_2

ผู้เยี่ยมชมตั้งแต่วันที่ 16ก.ค.49<% L=Len(NewHits) i = 1 For i = i to L num = Mid(NewHits,i,1) Display = Display & "" Next Response.Write Display %>

 

ความสัมพันธ์ระหว่าง ชอนตะวัน กับ ลุงกฤตย์

 

 

 

โดย...กฤตย์  ทองคง

 

               ในอดีตเราเคยทำงานอยู่ในโรงพยาบาลปากน้ำโพ  จังหวัดนครสวรรค์ด้วยกัน  รู้จักกันประมาณ  พ.ศ.2532-3  (ตอนนั้นชอนตะวันอยู่ในรุ่นอายุ 25  ส่วนลุง 36)  ตอนนั้นลุงยังไม่ได้เป็นนักวิ่ง  ส่วนชอนตะวันเคยวิ่งมาบ้างแล้ว  นี่คือความจริงสิ่งแรกที่จะบอก คือ ชอนตะวันชวนลุงมาวิ่ง  ไม่ใช่ลุงชวนชอนตะวัน  เขาเป็นนักวิ่งเก่ามานานมาก  แต่ไม่ได้เอาจริง  มาเทิรน์โปรเอาเมื่อมาคบกับลุงภายหลัง  เคยวิ่งซ้อมอยู่ในสวนลุม  ครั้งเมื่อเขาทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

 

               เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกนิด คือ ชอนตะวันเล่าว่าได้แรงบันดาลใจมาจากนักวิ่งในสวนลุมฯคนหนึ่ง  มีอายุแล้ว  แต่วิ่งดีเหลือเกิน  ทั้งสิ่งได้เร็วและวิ่งได้สวย (ตามคำพรรณนาของชอนตะวัน)  ตอนนั้นไม่รู้จักว่าใคร  ต่อมารู้จักว่าเขาชื่อพี่เล็ก (วีระชัย  โกสุมาลย์)

 

               ต่อมาเราสองคนเจอกันที่นครสวรรค์ที่โรงพยาบาลปากน้ำโพอย่างที่เล่า  ตอนนั้นสิ่งที่ลุงไม่อยากคุยด้วยกับชอนตะวันก็คือ  ตอบคำถามเรื่องชวนไปวิ่ง  ที่ลุงตอบปฏิเสธไปทุกครั้ง  ตอบไปว่าขี้เกียจวิ่ง  แต่ชอนตะวันก็ตื้อไม่หยุด  ลุงก็ปฏิเสธทุกครั้ง  เจ้าตัวชวนเพราะอยากหาเพื่อนวิ่งนั่นเอง

 

               ครั้งนั้นจำได้ว่าชอนตะวันเล้าหลือลุงเหลือเกิน  เซ้าซี้ลุงว่า  

   รู้ไหมว่าวิ่งน่ะ  ดีอย่างไร?

รู้...มันดี  มันเป็นยาครอบจักรวาล  ใครเป็นอะไรพอมาวิ่งแล้วหายหมด     ลุงตัดบท  ไม่อยากฟังคำสรรเสริญการวิ่งว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้     ฟังมาเยอะแล้ว.......เบื่อ

               เออ.......แล้วทำไมไม่วิ่ง       ชอนตะวันลุกไล่

               เออน่ะ   ไม่วิ่งก็แล้วกัน       ลุงเบื่อ     แม่งชวนอยู่ได้     เราคิดในใจ

 

รุ่งขึ้น  ชอนตะวันเอาใหม่.........ไปวิ่งกันเถอะ                    ไอ้ซินตึ้งตื้อไม่หยุด

แต่ที่จริงลุงชั่งใจอยู่ลึกๆแล้วเรื่องการออกวิ่ง  เคยจำได้ครั้งวิ่งสมัยแรกๆไม่สำเร็จ  ขี้เกียจตื่นหนึ่ง , กลัวหมาในซอยไล่ฟัดอีกหนึ่ง  ล้มเหลว แล้วจากนั้นก็ไม่เคยพยายามอีก

 

               อีกประการหนึ่ง   ธรรมชาติคนเรามักเลือกกระทำสิ่งใดตามความเคยชินมากกว่าทำตามเหตุผล  ก็เหมือนพวกเรานั่นแหละ  ทั้งๆรู้ว่าควรปรับปรุงการวิ่งของเราให้ดีขึ้นอย่างไร  ไม่ใช่ไม่รู้  แต่เราก็ไม่ได้ทำ  เพราะมันเคยชินมาตั้งแต่ต้น  ผิดอย่างไรก็จึงผิดต่อไปอย่างนั้น     เมื่อลุงไม่เคยวิ่ง  ก็เลยไม่วิ่งอยู่ต่อไป

 

               แต่ไม่ว่าอย่างไร  ชอนตะวันก็ไม่หยุดชวนให้ลุงไปวิ่งอยู่นั่นแหละ  ที่ได้ผลก็คือ  ทำให้ลุงทบทวนพิจารณาว่า  ถ้าจะวิ่งก็ต้องวิ่งไปเรื่อยๆ  วิ่งไม่นานก็จะไม่เกิดผล  ต้องเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ  ประโยชน์จึงจะบังเกิด

 

               ลุงไตร่ตรองหลายสัปดาห์ทีเดียว  แต่มันคร้านเมื่อคิดว่าเราจะต้องไปสนามทุกเย็น  ก็ให้ท้อและรู้สึกว่าเสียเวลาไปกับมันมากเกินไป  จึงจำกัดให้แคบลงมาว่า  เอาแค่พอวิ่งมาราธอนได้เพียงครั้งเดียวก็จะเลิก  เก็บตำนานไว้เล่าให้ลูกหลานฟังว่า  อย่างมาราธอน  พ่อก็เคยมาแล้ว (กูเก่ง)  โดยวางเงื่อนไขเวลาไว้ด้วยว่า  ได้ไม่ได้  ก็จะเลิกวิ่งภายใน 4 ปี  คิดอย่างนี้หารู้ไม่ว่าได้หลวมตัวแล้วกลับลำเลิกวิ่งไม่ได้ตลอดกาล

 

               วันแรกที่ลุงออกวิ่งคือ 5 มีค. 36  แต่ไม่ใช่วันแรกของชอนตะวันเขาพาลุงวิ่ง 1 รอบอุทยานสวรรค์ ตอนนั้นเหนื่อยแทบตาย  ต่อรองไว้ว่า  แค่ไหนแค่นั้น  ถ้าไม่ไหวก็จะหยุดกลางคัน  สุดท้ายก็เถไถไปจนได้  ยังจำได้ว่าวิ่งด้วยกางเกงยีนส์ตัดขาออกเป็นขาสั้น  ใส่รองเท้าผ้าใบ  Converse  รุ่น  All Star  ลายพรางทหาร

 

               วิ่งอยู่ได้ 2-3 วัน  ชอนตะวันก็ชวนเราไปรอบที่สอง  ลุงโวยวาย  จะบ้าหรือ?  รอบเดียวก็จะตายอยู่แล้ว  แต่ด้วยวิธีเดิมที่ทำมาแล้วสำเร็จคือตื้อ  จนลุงต่อรองเหมือนเดิมว่าได้แค่ไหนแค่นั้น  จะไม่พยายามผลักดันตัวเอง  แล้วเราก็ผ่านมันไปได้  อีก 2-3 วัน ชอนตะวันก็ชวนไปรอบที่สาม  อย่างนี้ไปเรื่อยๆ

 

               จะเห็นได้ว่า  เราทั้งคู่เคยวิ่งควายมาก่อน  การเพิ่มระยะทางวิ่ง 100%  ภายใน ไม่กี่วัน  กับการปราศจากประสบการณ์ที่เป็นฐานเดิม  มันเสี่ยงมากที่จะบาดเจ็บมากอยู่  แต่เราก็ผ่านมันมาได้

 

               ลุงสงสัยตัวเองว่า  เราเกลียดการตื้อเป็นที่สุด  แต่   

   ไฉนเรายอมตามลูกตื้อได้อย่างไรก็ไม่รู้

  

ตอนที่ 2

 

เพื่อให้เรื่องไม่ยาวนัก ขอย่อลงมาว่า เราทั้งคู่ซ้อมกันไปด้วยกันพักหนึ่ง ได้ไม่นาน ชอนตะวันก็ต้องหยุดยาว เพราะเมียคลอดลูก เขาชอบทำตัวเป็นแฟมมิลี่แมน เว่อร์ซะไม่มี แยกเวลาไม่เป็น ต้องโอ๋อุ้มตลอดเวลา ก็ปล่อยเขาไป

ระหว่างนั้นลุงก็ต้องวิ่งไปลำพัง พัฒนาฝีเท้าอยู่คนเดียว งมโง่อยู่ตลอด ลองผิดลองถูก โดยผิดมากกว่าถูกเสมอ มันก็เร็วขึ้นมาบ้างเป็นนักวิ่งอันดับ 6 สร้างความหงุดหงิดให้กับตัวเอง

ไปวิ่งมาที่ไหน ก็เอาประสบการณ์ไปเล่าให้ชอนตะวันฟัง ตอนนั้นลุงออกจากที่ทำงานแห่งนั้นแล้ว ส่วนชอนตะวัน ยังทำอยู่ที่เดิม ลุงปรึกษาว่า

เราจะหาโค้ชได้จากที่ไหน
เราจะวิ่งให้เร็วขึ้นอีกนิดได้อย่างไร
อีกนิดเดียวก็จะได้อันดับแล้ว
หลุดตอนสุดท้ายทุกที
โค้ชอยู่ไหน นายรู้ไหม

สุดท้ายก็หาคนแนะนำไม่ได้ ต้องลองอย่างโง่ๆต่อไป ลุงเคยลองวิ่งวันละ 20-25 โล ทุกวันมาแล้ว เพราะเคยได้ฟังมาว่า จะวิ่งได้ดีหรือไม่อยู่ที่ซ้อมดี แต่หารู้ไม่ว่าที่ว่าซ้อมดีนั้นซ้อมอย่างไร การตะบี้ตะบันยัดทะนานจำนวนกิโลเมตรมหาศาลเข้าไปในแผนฝึก อย่างนี้ลุงเคยมาแล้ว ไม่มีทางสำเร็จหรอกครับ น่าแปลกใจ ทุกวันนี้ยังพอพบพฤติกรรมวิ่งชนิดนี้อยู่ประปราย

พอมีใครถามว่าวิ่งได้กี่โลกี่รอบ พอผู้ฟังร้องโอ้โฮกับที่เราตอบ ก็ให้เป็นปลื้ม หลงดีใจว่า ยิ่งมาก-ยิ่งดีเง่าเสียไม่มี รุ่งขึ้นก็พยายามวิ่งให้มากขึ้นไปอีก ถ้าไม่ไหวก็ตรึงให้เท่าของเดิม ไม่ให้น้อยลง ทำได้ก็ภูมิใจ หลับเป็นตาย รุ่งขึ้นเอาใหม่ ย้อนหลังไปดู นี่เราบ้าชะมัด

พอถึงเพดานขีดจำกัด มันก็ไม่ไหวซิครับ แค่เดินยังโซซัดโซเซ วิ่งได้น้อยลงโดยอัตโนมัติ รายของลุงโชคดีที่มันไม่บาดเจ็บ แต่มันวิ่งไม่ออกไปเอง เกิดความละอาย เดินคอพับ Guilty ตัดพ้อชะตากรรม โอ้อนาถวาสนาชะตาหด น้ำตาหยดไหลรินสิ้นผยอง.........ชีวิตกูหนอได้แค่นี้เองหรือ? เฮอะๆ ลุงเคยวิ่งควายมาก่อนพวกนายนานแล้ว

พอเมียชอนตะวันค่อยยังชั่วชอนตะวันก็มากับข้ออ้างใหม่ที่ไม่วิ่ง ว่าลูกยังละอ่อนอยู่ โธ่จะให้มันเป็นหนุ่มก่อนรึไงวะ? ไอ้หอก

รางวัลวิ่งครั้งแรกๆที่ลุงได้รับ ไม่ใช่เพราะลุงเก่ง แต่เพราะแชมป์ไม่มา สนามชนกันมากมาย มีตั้งสิบอันดับ ตอนนั้นเอาโล่มาอวดชอนตะวันที่ออฟฟิศ ก็ปลาบปลื้มกันทั้งคู่ ราวกับว่าชอนตะวันได้รางวัลเสียเอง

รางวัลคราวต่อไปที่เอาถ้วยมาอวดก็มีเรื่องราวไฮไลท์เหตุการณ์ในสนามแข่ง และความรู้แบบครูพักลักจำ เอามาฝากถึงการวิ่งให้ดีวิ่งอย่างไร ยังผลให้ลุงโหมซ้อมกันอย่างมโหฬารสลับคอพับคออ่อน

แม้จะฝึกอย่างสุ่มเสี่ยง แต่มันก็พัฒนาดีขึ้นบ้าง ก็อย่างที่รู้กัน รุ่น 40 เป็นเขี้ยวลากดินทั้งนั้น ไม่ว่าปีไหนๆ ลุงจึงไม่มีความหวังกับการจัดวิ่งเพียง 5 อันดับ แต่ถ้าสนามไหนจัดถึง 10 อันดับ ต่อให้อยู่ถึงปักษ์ใต้สุดหล้าฟ้าเขียว ลุงก็จะอดทนเพียรนั่งหลังขดหลังแข็งสัปหงกในรถไฟชั้นสามไปจนได้ เพื่อเอาถ้วยกลับบ้าน ก็สำเร็จเป็นบางครั้ง ก็มันตั้งสิบอันดับ ไม่ใช่น้อย มันจึงเหลือให้เรา

แต่สิ่งที่พลิกเปลี่ยนความคิดเรากลับไม่ใช่ความสำเร็จเหล่านั้น มันกลายเป็นสนามที่ล้มเหลวที่ก่อให้เราเกิดความเปลี่ยนแปลง

ด้วยความที่อ่อนหัดเรื่องความรู้เรื่องวิ่ง การถ่อสังขารที่งอมพระรามจากการแข่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังไม่ฟื้นดี แต่ทนความเย้ายวนถ้วยรางวัลสิบอันดับไม่ไหวที่พัทลุง เดินทางไปวิ่งต่อถึงริมทะเลสาบลำปำ คราวนี้เป็นสนามฮาล์ฟ ไปได้แค่สิบกว่าโล ก็ยางแตก ควันโขมง โขยกร่างขลุกขลักๆแค่สิบห้าโลน้ำตาแทบร่วง หมดสภาพ โดนเสียบแซงเป็นสิบๆ ตัดสินใจเดิน (ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจที่ถูก) มาให้คำอธิบายเพื่อนๆที่เส้นชัยว่า ทุกคนต้องมีวันนี้” (วันที่ปราชัย)

นี่เป็นบทเรียนแรกที่ลุงไตร่ตรอง อย่างไม่ต้องสืบค้นลึกล้ำอะไรเลย แค่ขานั่งรถไฟมา ยังให้เมื่อยล้าไม่หายดี ทั้งๆที่น่าจะเป็นเวลาที่สดที่สุด

คราวนั้นเจ็บไม่ร้ายแรงนัก เพราะเรารีบตัดสินใจเดินตั้งแต่เริ่มอาการ ไม่ถ่อฝืนร่าง ชอนตะวันก็ยังไม่สามารถให้คำปรึกษาเราได้ว่า เราเป็นอะไร และต้องฝึกอย่างไร

กลับมาไม่กี่วันก็ลงซ้อม ทั้งๆที่ยังไม่หายเจ็บ เพื่อชดเชยกับการที่ตกถ้วยรางวัลไป มีเป้าหมายให้กลับมาสมบูรณ์และเร็วอีก แต่วิ่งไปก็เจ็บ พยายามอำพรางฝืนไม่ให้มีท่าทางกระเผลก แต่ปิดไม่มิด เพื่อนๆทักเราขณะวิ่งตามหลังว่า นายเจ็บหรือ?” เขาทัก นายรู้ได้ไงเราสงสัยก็กระเผลกชัดเจนเลยน่ะ เขากล่าวอย่างตรงไปตรงมา ลุงฟังแล้วหมดกำลังใจ ขนาดฝืนไว้ยังฝืนไม่ได้ ใครเห็นเรากระเผลกแล้วอายเขา อย่าวิ่งดีกว่า หยุดวิ่งอย่างละอายและท้อถอย กลับบ้านหนีอายไปหลายวัน (เป็นการตัดสินใจที่ถูกอีกครั้ง)


 

 

ตอนที่ 3



ณ เวลานั้น เนื่องจากชอนตะวันหยุดวิ่งไปนาน กลับมาเลยจ๋อยสนิท ที่เขาเคยวิ่งแซงลุงได้ เพราะหนุ่มกว่าราวสิบปี กลายเป็นว่าวิ่งไม่ทันลุง

ระยะนั้น เราพอมีความรู้เรื่องวิ่งมากขึ้นมาบ้างจากเวลาที่ผ่านไป ที่หาใครช่วยให้เรารู้ไม่ได้ ก็ต้องช่วยตัวเอง หาอ่านเอา ภาษาไทยหาไม่ได้ ก็ต้องไปช่องต่างด้าวต่างดาว เปิดพจนานุกรมกันหน้าตั้ง เกิดมาเกลียดเปิดดิกฯเป็นที่สุด แต่เพราะรักการวิ่ง อยากรู้มากเหลือเกิน จนความอยากรู้กลบความรังเกียจนั้นได้ ขยันเปิดดิกฯต่อไป มันก็ได้ความรู้มาทีละน้อย บทความวิ่งมันก็เริ่มสะสมมาตั้งแต่นั้น

การอภิปรายกันในเรื่องที่รู้มาเข้ากับประสบการณ์ที่เราลองฝึกว่ามันสอดคล้องกันหรือไม่ ได้ผ่านการพูดคุยที่เป็นจริงเริ่มจากในห้องทำงานของชอนตะวัน เป็นแรมปี ณ ห้องทำงานนี้เองที่เนื้อหาบทความหลายร้อยเรื่องของลุงกฤตย์ถูกกะเทาะเปลือก และคลี่คลายออกมา ไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า บทความทั้งหลายของลุงจำนวนมากเกิดจากการถ่ายทอดความหรือข้อวิพากย์วิจารณ์เหล่านั้นของชอนตะวันกับกฤตย์ออกมาเป็นตัวหนังสือ

เรื่องวิ่งที่เราคุยกันเริ่มเข้มข้นขึ้นทีละน้อย จากเรื่องธรรมดาๆอย่างที่นักวิ่งคุยกัน เข้าขอบข่ายวิชาการเวชศาสตร์กีฬาไปไม่น้อย เราวิพากษ์วิจารณ์และไล่ความกันตั้งแต่ MaxVo2 กับความหมายของมัน ไปจนถึง Lactate Threshold และ Negative Split เราติดตามความคืบหน้าของวงการวิ่งสากลจากบอสตันไปจนบิ๊กเซอร์ จากฟิดิปปิดีสฉบับเต็มไปจนบริสเตอร์ที่นิ้วเท้าของเราเอง ที่เราไม่สามารถเอาเรื่องที่เราคุยนี้ไปคุยต่อนอกห้องที่ลานม้าหินชุมนุมเพื่อนนักวิ่งเราได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้น เราจะกลายเป็นนักวิ่งเอเลี่ยนจากต่างดาวในสายตาเพื่อนๆทันที

สำหรับลุง ใช้งานเขียนเป็นส่วนหนึ่งที่บันทึกความทรงจำและความเข้าใจในเรื่องนั้น งานเขียนจึงไปพร้อมๆกับการรับรู้ บทความของลุง ชอนตะวันเป็นคนอ่านคนแรกทุกเรื่อง แม้จนทุกวันนี้พวกเรานักวิ่งสาธารณะยังอ่านงานของลุงที่ผ่านสายตาชอนตะวันมาก่อนไม่หมดเลย งานลุงที่สต็อกไว้มีมากกว่าที่พิมพ์ไปแล้ว

การรับรู้ของชอนตะวันเริ่มเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านไล่ตามลุงมาติดๆ นั่นถือเป็นบทบาท การบอกต่อเป็นครั้งแรกของลุงเอง

ทุกครั้งที่พบบทความที่น่าสนใจ หรือวิจัยใหม่ๆที่เฉลยสิ่งสงสัยคาใจ เนื้อหายังแจ่มชัดในมโนนึก ก็รีบเขียนรีบแปลเก็บสต็อกไว้ เคยไม่ทำอย่างนี้ แล้วผ่านไปไม่นาน การกลับมา recall อีกก็เลือนหมด ต้องรีบๆเขียนไว้ทันที่อ่านขณะยังชัดอยู่ ความกระหายรู้เรื่องวิ่งของเรามันเยอะเกินไป จนหายหกตกหล่นไปไม่น้อย

บทความเก็บไว้รอส่งไปลงหนังสือรันนิ่งของลุงอำนวย (ที่ตอนนี้ปิดไปนานแล้ว) ชอนตะวันตามไปอ่านเรื่องที่สต็อกไว้หมด ส่งไปลงพิมพ์ไม่ทัน เพราะหนังสือเป็นรายเดือน แต่เขียนเป็นรายสัปดาห์ และอ่านมันทุกวัน ลุงรู้ถึงไหน ไม่มีอำพราง ขยายให้ชอนตะวันหมด

เราจึงอยู่ในสถานะที่รู้ไปพร้อมๆกัน แต่เนื่องจากภาษาอังกฤษของชอนตะวันไม่สันทัด เขาจึงฝากความหวังไว้กับลุง

เป็นการกล่าวได้อีกอย่างว่า เนื้อหาบทความจากลุงไม่ได้มีรากฐานสืบเค้ามาจากความรู้จากโค้ชไทยคนใดเลยแม้แต่นิดเดียวด้วย หากแต่รับความรู้นี้มาจากนอกล้วนๆ บุญมายังเคยฝึกกับอาจารย์เชือน แชมป์คนอื่นก็ของวิธีฝึกต่างๆจากเกจิทั้งหลายที่เกือบทั้งหมดเป็นอดีตนักวิ่งระยะยาวของบ้านเรา แต่ความรู้จากลุงมาจากโค้ช Daniels , Galloway, Higdon , Kadong , Liberman , Henderson , Anderson , Bean , Durden ฯลฯ แน่นอนที่มันยังต้องอาศัยการปรับเข้ากับเรือนร่างความเป็นไทยๆอีกไม่น้อย เราได้เพียงอาศัยความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกันเท่านั้นเอง

ข้อได้เปรียบที่เรามี จึงอยู่ที่ไม่ต้องเสียเวลาจากความรู้ผิดที่คลาดเคลื่อนเหล่านั้นอย่างที่เพื่อนนักวิ่งมักสืบเอามาจากเพื่อนๆแบบแต่ก่อน แต่เป็นความรู้ที่ผ่านการตรวจสอบจากบรรณาธิการวิ่งและโค้ชใหญ่มาแล้วทั้งสิ้น

ชอนตะวันจึงไปทางลัด ไม่ได้ผ่านการลองถูกลองผิดมากจนเนื้อตัวมอมแมมและชอกช้ำมากเหมือนหลายคนกำลังพยายามทำ เอาที่เขาว่าไว้ลงมาลองทำดูเลย จึงถูกมากกว่าผิด ประหยัดเวลามากกว่าเสียเวลา จึงบาดเจ็บน้อยมากกว่าบาดเจ็บมาก (ครั้งเดียว) เราไม่กินยา ไม่ว่ายาโดปหรือยาบำรุงหรือวิตามินเสริม เราไม่พันผ้า ไม่ทายา เดินผ่านชอนตะวันจะไม่ได้กลิ่นยาหลอด ทั้งหมดคือ เนื้อตัวชอนตะวันล้วนๆ ที่มาจากตัวของเขาเอง ลุงพิจารณาว่าชอนตะวันเป็นผู้ที่ไม่มีพรสวรรค์วิ่ง แต่มีความมุมานะพรแสวงที่น่าสนใจกว่า

ต่อมาโลกภายนอกก็เริ่มอ่านบทความของลุง เช่นเดียวกับชอนตะวันในที่สุด ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่ชอนตะวันเชื่อ และฝึกตัวเอง ก็คือสูตรเดียวกับลุงนี่เอง

แม้ในชั้นหลังๆความรู้ใหม่ที่ชอนตะวันได้มาจากแหล่งอื่นหรือแม้จากการลองด้วยตัวเอง ก็เป็นชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่สามารถสอดรับกับชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่มาจากลุงและบทความได้อย่างสนิท

ปรากฏการณ์ที่สอดรับกันดีนี้ มีผลให้ชอนตะวันมีความปักใจเชื่อมั่นว่า ได้มาถูกทางแล้ว แน่ใจมากขึ้น พร้อมๆกันเราทั้งคู่ก็มีเพื่อนนักวิ่งต่างๆเริ่มเข้ามาหาและขอความรู้มากขึ้น รวมทั้งขอมาฝึกด้วยกันอยู่ตลอด

แต่งานเขียนของลุงก็ไม่มีท่าทางว่าจะยุติลงง่ายๆ อย่าว่าแต่พวกเราเลย ลุงเองกับชอนตะวันก็ยังแปลกใจไม่วายว่า เรื่องวิ่ง ไฉนจึงมีแง่มุมที่หลากหลายให้เขียนได้ไม่รู้จบเช่นนี้ ทั้งๆที่การวิ่งก็เป็นแค่การก้าวเท้าหนึ่งล่วงหน้าไป และอีกข้างก้าวรับสลับกัน เพื่อเคลื่อนตัวเองไปข้างหน้าเท่านั้น

ลุงเตือนชอนตะวันให้สำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า หากเปรียบเทียบความสำเร็จที่เราได้รับทุกวันนี้เป็นเสมือนถ้วยรางวัล ถ้วยรางวัลมันตั้งอยู่บนฐาน หากปราศจากฐานถ้วยก็จะหล่นมาแตก ฐานนั้นคือการเตรียมตัวที่ดีที่ถูกต้องและอย่างพอเพียงของการยืดเส้น การวอร์ม-อัพ และการคูล-ดาว์น ที่ไม่ว่าจะแสนขี้เกียจขนาดไหน จะเสียเวลานานในแต่ละวัน ก็ยังเป็นพฤติกรรมที่จำเป็น ขาดเสียมิได้ ไม่ว่าเราจะก้าวหน้าตามเคนย่า หรือเป็นละอ่อนหน้าใหม่ ต้องการการเตรียมการ 3 อย่างนี้อย่างเต็มที่ไม่มีย่อหย่อนตลอดการฝึกซ้อม

ชอนตะวันจึงเป็นผู้ที่เคร่งครัดการยืดเส้นเตรียมการที่ดีที่สุดที่เคยเห็นมาทีเดียว และ ณ จุดเดียวกันนี้เอง เป็นจุดที่ยากเหลือเกินที่จะบอกให้พวกเราทุกๆคนว่าเบื้องหลังการวิ่งที่ดีจะได้ดีหรือไม่อยู่ตรงนี้เอง

ชอนตะวันจึงนับเป็นศิษย์รุ่นแรก (คนเดียว) ที่เอาดีได้ ที่ต่อๆมา ผู้ฝึกรายอื่นๆก็ยังไม่สามารถแสดงออกถึงความมุ่งมั่นเท่า สุดท้ายผลกรรมดีก็ตกอยู่กับตัวของเขาเอง

เมื่อพัฒนาขึ้นมาลุงบอกชอนตะวันนายไม่ต้องดูใครอีกแล้ว ดูผมนี่ แซงผมให้ได้ ตอนนั้นชอนตะวันตกใจ กลัวหัวใจวายตายก่อนทำได้ หรือการบอกให้ชอนตะวันตระหนักในความหนักหน่วงของความคาดหวัง และกลวิธีหลีกเลี่ยง เราไม่เคยหลบหนีกับ Mental Toughness ทั้งหลาย ตรงข้าม เราแสวงหามันในสนามซ้อมเสมอ เพื่อความเชื่อมั่นว่า วันจริงเราจะสามารถจัดการมันได้ เราเป็นผู้ฝึกที่เลือกที่จะคลิกเวลาเสมอทุกชนิดการวิ่ง ไม่ว่าวิ่งวอร์ม ไม่ว่าคอร์ท หรือไม่ว่ายาว จนเราไม่รู้สึกเครียดอะไรเลยกับ ติ๊กต่อกๆๆๆลุงพูดเสมอว่า จัดการให้มันบ่อยๆๆๆ มันก็หายความพิเศษไปเอง ประหม่าปอดแหกดีนัก จึงต้อง จัดให้วันแล้ววันเล่า มันหายไปเอง

เช่นเดียวกันกับจุดอ่อน ที่ใครๆก็ต่างมีกัน เราอย่าหลีกหนีมัน จงวิ่งเข้าใส่ มีจุดหมายเพื่ออุดช่องโหว่นั้นให้เป็นจุดแข็งให้หมด พยายามรักษาทัศนคติเช่นนี้ตลอดไปให้เป็นเนื้อเป็นตัวของเราให้ได้

นับตั้งแต่ชอนตะวันได้ถ้วยใบแรกมา ชอนตะวันก็ไม่ตกถ้วยอีกเลย เสียดายที่ผู้มีจิตใจแน่นหนาเช่นนี้มาเริ่มฝึกจริงจังเมื่อชีวิตผ่านไปสามสิบสี่สิบปี เวลาที่มีเหลือมันโรยลง มิเช่นนั้นแล้ว ชะตากรรมชอนตะวันไม่น่าจะเป็นแค่นักวิ่งถนนธรรมดา แต่จะเป็นอะไรที่น่าดูมากกว่านี้

 

ตอนที่ 4 (จบแค่นี้ก่อน)

ความสัมพันธ์ระหว่างชอนตะวันกับลุงกฤตย์

 

โดย   กฤตย์  ทองคง

 

               เช่นเดียวกับเรื่องวิ่ง  ที่ชอนตะวันเข้าเน็ตเป็นก่อนลุง  อาจเป็นเพราะความจำเป็นเกี่ยวกับด้านคอมพิวเตอร์ในสำนักงานเป็นพื้นฐานก็ได้

                ลุงเป็นเน็ตภายหลังจากที่ลูกชายสอน  อย่างที่เล่าให้พวกเรารู้ไปแล้ว  แต่ลุงเข้าเน็ตปุ๊บก็ฝึกหัดโยนบทความลงไปทันที  เรื่องแรกคือ  มาราธอนในอีกมุมหนึ่ง  ใน  www.thairunning.com  นี้เอง  เมื่อครึ่งปีที่ผ่านมา  ในขณะที่ชอนตะวันเป็นผู้แอบอ่าน  ไม่เคยและตั้งใจจะไม่โพสเข้ามาด้วย

                จนกระทั่งต่อมา  มีผู้ขอความรู้กับลุงเข้ามามากมาย  ตั้งแต่ลุงออกไปสู่โลกภายนอก  ยังสงสัยไม่รู้วายว่า  หากลุงยังไม่เข้าเน็ต  ลุงยังอยู่ในโลกอนาล็อค  คงยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างนี้

                แฟนเดิมลุงเป็นนักวิ่งนักอ่านที่มักจะมีอายุหน่อย  เด็กส่วนใหญ่อ่านน้อยเน็ตมาก  เมื่อเป็นดังนี้จึงเท่ากับลุงขยายฐานแฟนออกเป็นนักวิ่งหัวใจเน็ตวัยอ่อนเข้ามาสมทบเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง

                แล้วบทบาทลุงก็สาละวนตอบคำถามที่ถามเข้ามาที่มักจะเกี่ยวกับน้องใหม่รักความเร็ว  ที่ลุงเป็นห่วงมาก  เห็นตัวอย่างล้มเหลวมาจากอดีตนักวิ่งอื่น ก็หมดสภาพไปเยอะอย่างน่าเสียดาย 

 ดังนั้นพวกเราจึงอาจสังเกตได้ว่า  บทบาทลุงหนักไปทางยับยั้งมากกว่าจะเขียนให้กำลังใจพุ่งทะยาน  ทั้งๆที่ยังมีบริบทอื่นให้เขียนถึงอีกไม่น้อย  ก็ต้องมาคอยตอบคำถามรายวันต่อนักวิ่งหน้าใหม่ลงคอร์ทกันโครมๆ  ไม่ก็วิ่งอุลตร้ากันอย่างไม่กลัวตายทั้งๆที่เรือนร่างยังไม่เข้าฝักพอ  ถ้าไม่เตือนก็อดใจเป็นห่วงไม่ได้  นักวิ่งยิ่งมีกันอยู่ไม่มาก  เดี๋ยวหายหมด  วันเวลาหมดไปกับการเขียนแนวทางฝึกพัฒนาและดูแลพักฟื้นให้กับผู้ที่โทรเข้ามา และจากคำถามเรื่องทำนองเดียวกันจากกระดานบอร์ดไม่น้อย

 ชอนตะวันจึงถือกำเนิดจากเหตุการณ์นี้

 

               ลุงจึงขอความช่วยเหลือจากเขาให้ออกมาช่วยตอบคำถามรายวันเหล่านั้นแทนลุงบ้าง  เชื่อว่าเขาน่าจะมีภูมิรู้สต็อกไว้เพียงพอที่จะเอื้อเฟื้อคนอื่นได้     ลุงจะได้มีเวลาทำงานเขียนชิ้นใหญ่  ที่ประกอบด้วยความคิดหลากหลายมุมที่เต็มไปหมดในบริบทวิ่งให้ลึกเข้าไปอีก  ถ้ามัวแต่มาตอบคำถามประเภทพัฒนาความเร็วอยู่  คงไม่มีงานเขียนนามธรรมชิ้นใหญ่ออกมาให้พวกเราได้อ่านเสียที

                เมื่อชวนแรกๆชอนตะวันก็เขินไม่ยอมออกมา  ชะรอยเชื่อว่าไม่สามารถใช้วรรณศิลป์ได้เหมือนลุง  ที่ก็ให้กำลังใจไปว่า  ให้เขียนตอบไปแบบเขียนจดหมายบอกน้อง บอกเพื่อน  เอาเนื้อๆ  ไม่ต้องไปเสียเวลากลั่นกรองคำพูด  มันจะเกร็งเขียนไม่ออก  ให้เล่าเหมือนเล่าเรื่องธรรมดาที่เราไปเจอมา  แบบเดียวกับยืนคุยกับเพื่อน  ได้แค่ไหนแค่นั้น  ชอนตะวันรับว่าจะลองดู

                จากนั้นมา  โลกก็ได้รู้จัก  ไอ้หนุ่มซินตึ๊งภายใต้หน้ากาก    ชอนตะวัน

 

               ที่เราเล่นซ่อนหากันพักนึงก็เป็นไปด้วยความนึกสนุกคึกคะนองแบบเดียวกับเด็กๆเล่นซ่อนแอบ  ไม่มีอะไรมากกว่านั้น  ด้วยความตระหนักดีในธรรมชาติของมนุษย์ว่า  ยิ่งปิดยิ่งสนใจ  ยิ่งลึกลับยิ่งทวีความอยากรู้  ทั้งๆที่มันก็ไม่มีอะไรภายใต้หน้ากาก  ก็มีตาปากจมูกเหมือนกับพวกเรานี่แหละ

                เช่นเดียงกับลุง  ชอนตะวันเข้ามาในโลกดิจิตอล  มิใช่มาด้วยตัวเปล่าๆ  แต่มาพร้อมกับคลังความรู้เรื่องวิ่งที่หนาแน่นพอตัว  สามารถให้คำปรึกษาและแสดงความคิดเห็นต่อปรากฏการณ์ต่างๆได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป้าหมายพัฒนาความเร็ว  ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้เท่านั้น  ชอนตะวันเคนละเลงเหงื่อด้วยตนเองมาแล้วทั้งสิ้น

                เริ่มมาตั้งแต่คอร์ทหน่อมแน้ม  4X400  เมตรจนปากเป็นสีม่วงหน้าซีดขาว  ผ่านการเรียนรู้ให้ปรับช้าลง  ปรับเที่ยวให้มากขึ้น  ปรับคุมจ็อกแน่ชัด  ปรับผิดเข้าถูก  ด้วยคำปรึกษาจากลุงตลอดหลายปี

 

               จนลุงกล้ารับประกันว่าคำแนะนำที่ชอนตะวันจะให้พวกเราภายหน้าไม่ใช่    นั่งเทียน    เขียนบนเบาะนิ่มในหอคอยงาช้าง  เราคลุกเหนื่อยเคล้าเหงื่อมาด้วยกัน  ต่างกันที่ลุงเคยลองผิดเยอะกว่า  ชอนตะวันมาถึงหยิบชิ้นปลามันไปกินเลย  เขารู้ว่าอะไรควรเชื่อ และอะไรที่ควรลองเพื่อให้รู้เป็นสิ่งแรกๆ  ทั้งๆที่โดยธาตุแท้  ชอนตะวันเป็นคนดื้อหัวชนฝา  อย่างที่พวกเราจินตนาการไปไม่ถึงหากรู้ตัวตนจริงของเขา

 

               เพราะอย่างนี้เอง  ลุงจึงมีโอกาสผลิตงานที่ลงลึกเข้าปริมณฑลปรัชญาวิ่ง  เช่นเรื่อง  ยิ่งมาก-ยิ่งดี  ฯลฯ  หรือบทความที่เกี่ยวกับผลสรุปการวิจัยใหม่ๆที่มีผลต่อการฝึกวิ่ง , เพิ่มความฟิต , ความบาดเจ็บ  หรืออะไรต่างๆออกมา

                ดังนั้นไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า 

 ชอนตะวันเป็นผู้อยู่เบื้องหลังให้ความช่วยเหลือการทำงานและบทความของลุงเสมอ

                ทุกวันนี้หากชอนตะวันมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องวิ่งประการใด  เราก็ยังได้ปรึกษากันอยู่เนืองๆ

                ถือว่า  เราอยู่กันมาอย่างยังประโยชน์  อย่างสหายวิ่งที่รักเอื้อเฟื้อต่อกัน  ชอนตะวันเปิดโลกวิ่งให้ลุงได้เริ่มต้นออกมา  และลุงเกื้อหนุนความรู้วิ่งให้ชอนตะวันจนก้าวมาถึงทุกวันนี้

  

ลุงกฤตย์เขียนบันทึกเมื่อ เวลา 12:25  น.

8  กรกฏาคม  2549

 

หนังสือวิ่งกับกฤตย์ ทองคง
http://www.thairunning.com/krit_runbook.asp

คลิกอ่านบทความอีกมากมายของลุงกฤตย์ได้ที่นี่
http://www.thairunning.com/krit_thongkong.asp