ฝ่าเท้าอักเสบจากการวิ่ง
คอลัมน์ หมอสนาม
*นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ และคณะ*
สัปดาห์นี้มีคำถามมานักวิ่งชื่อว่า **คุณวิศาล** ถามมาว่า
"ผมอายุ 38 ปี สูง 177 ซม. หนัก 72 กก. ออกกำลังกายด้วยการวิ่งเป็นประจำ 3-4
ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 5-6 กม. (ใช้เวลาในการวิ่งแต่ละครั้งราว 35-40 นาที)
เป็นเวลา 5 ปีมาแล้ว แต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เริ่มมีการเจ็บที่ฝ่าเท้า
ค่อนไปทางส้นเท้าซ้าย โดยเฉพาะตอนตื่นนอนใหม่ๆ
ได้ไปพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นอาการของเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ
ได้ยามารับประทานพร้อมวิธีปฏิบัติตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนรองเท้าวิ่ง,
บริหารเอ็นร้อยหวาย ฯลฯ แต่จนถึงวันนี้อาการที่ว่าก็ยังคงเป็นอยู่
คำถามที่อยากถามมากๆ เลยคือ ช่วงที่ทานยาอยู่ (ยาประเภทคลายกล้ามเนื้อนอร์จีสิค)
อาการปวดน้อยลงมาก ถ้าซื้อยาประเภทนี้มารับประทานเองจะเป็นอันตรายหรือไม่
และเคยรู้มาว่ามีการฉีดยาประเภทสเตียรอยด์ไปที่บริเวณที่ปวดโดยตรงเลย
มันจะทำให้หายเร็วกว่ามากมั้ยครับ และอันตรายแค่ไหน"
ผมขอเชิญ **อ.นพ.บวรรัฐ วนดุรงค์วรรณ** แพทย์ประจำสาขาเวชศาสตร์การกีฬา
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ตอบดังนี้ครับ
อาการที่กล่าวมา คุณวิศาลน่าจะเป็นโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบครับ
จุดมุ่งหมายของการรักษาโรคนี้คือ 1.ลดแรงที่กระทำต่อพังผืดใต้ฝ่าเท้า 2.การบริหารกล้ามเนื้อน่องโดยการยืดเหยียดและเสริมความแข็งแรง
และ 3.การลดการอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้า
การลดแรงที่กระทำต่อพังผืดใต้ฝ่าเท้าอาจทำได้โดย การลดน้ำหนักตัว
ลดกิจกรรมที่มีการกระแทกพื้นของเท้า เช่น
การเดินหรือวิ่งในช่วงแรกที่มีอาการเจ็บปวด
ตลอดจนการใช้อุปกรณ์เสริมพื้นด้านในของรองเท้า เช่น แผ่นเสริมอุ้งเท้า
หรือแผ่นกันการกระแทกของส้นเท้า
การบริหารกล้ามเนื้อน่องโดยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
การนวดฝ่าเท้าโดยใช้เท้ากลิ้งไปบนขวดน้ำที่วางนอนบนพื้นราบ
ในตำแหน่งส้นเท้าที่เจ็บในตอนเช้าก็อาจช่วยทุเลาอาการลงได้
สำหรับการบริหารเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน่อง
อาจทำได้โดยให้วางเท้าบนพื้นราบ บนผ้า พยายามใช้ปลายนิ้วเท้าดึงผ้าเข้ามาหาตนเอง
โดยที่ส้นเท้ายังสัมผัสอยู่กับพื้น
หรืออาจบริหารโดยใช้นิ้วเท้าคีบลูกหินหรือเหรียญบนพื้น ในขณะที่ส้นเท้าสัมผัสพื้น
หลังจากนั้นนำลูกหินหรือเหรียญใส่ถ้วย
เหล่านี้ก็จะเป็นการช่วยบริหารกล้ามเนื้อน่องให้แข็งแรง
การลดการอักเสบที่พังผืดใต้ฝ่าเท้า
อาจทำได้โดยให้ยาทานด้านการอักเสบหรือฉีดยาประเภทสเตียรอยด์เฉพาะที่เข้าไปที่ตำแหน่งที่มีการอักเสบ
สำหรับคำถามของคุณวิศาลเรื่อง **ยานอร์จีสิค** นั้น
ยานอร์จีสิคจัดเป็นยาประเภทคลายกล้ามเนื้อ
ซึ่งมีส่วนผสมของยาแก้ปวดพาราเซตามอลอยู่ด้วย
ยานี้ค่อนข้างปลอดภัยแต่ควรจะใช้ในความควบคุมของแพทย์ครับ
ส่วนคำถามเรื่องการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่
การฉีดยาเพียงแค่ลดอาการอักเสบลงได้ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
ตราบใดที่ยังไม่ได้แก้ไขที่สาเหตุ โดยทั่วไปจะลดอาการปวดได้ประมาณ 3-6 เดือน
ผลแทรกซ้อนจากการฉีด มีการรายงานถึงการฉีกขาดของพังผืดใต้ฝ่าเท้า
และการฝ่อของไขมันที่รองส้นเท้าครับ
หวังว่าคุณวิศาลคงจะพอเข้าใจนะครับ
ถ้ามีข้อสงสัยหรือคำถามประการใดเกี่ยวกับการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬากรุณาส่งไปที่สาขาเวชศาสตร์การกีฬา
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ฯ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ
Email address sisportsmed@hotmail.com สวัสดีครับ