ผู้เยี่ยมชมตั้งแต่ 12 พ.ย 49

ความยากและง่ายของมาราธอน

โดย   กฤตย์  ทองคง

 

“มาราธอนน่ะ  ใครๆก็วิ่งได้

แต่จะวิ่งให้ดีนั้น  มันไม่ง่ายเลย”

 

               กล่าวไปอย่างนี้   บรรดาขามาราธอนทั้งหลายอาจชำเลืองมายังผู้เขียนอย่างคลางแคลงใจว่า

“พูดอย่างนี้   ตกลงเธอว่า  มันง่ายหรือยากกันแน่”

 

               ใช่ครับ..........ผู้เขียนยืนยันว่าใครๆก็วิ่งมาราธอนกันได้ทั้งนั้น   แทบจะไม่มียกเว้นเลย   เพียงแต่จะเป็นไปได้ในสภาพไหนเท่านั้นเอง   อย่างสภาพที่สดชื่น  หรือกระปรกกระเปรี้ย  หรือกว่านั้น   อย่างปางตายจำไม่ลืม   แต่รับรองไปได้ทั้งนั้น

 

               ขอย้อนไปสมัยกรุงพนมเปญ   ประเทศกัมพูชา   แตกใหม่ๆ   เมื่อฝ่ายเขมรแดงมีชัย   มีนโยบายโยกย้ายประชากรเมืองออกไปชนบทให้หมดสิ้นเป็นเมืองร้างอย่างกระทันหัน   ตามนโยบายล้างบางของผู้นำเผด็จการ   ที่มีคำสั่งให้ทุกคนไม่มีเว้น   มุ่งหน้าออกไปชนบทด้วยเท้าเป็นแถวยาวเหยียด   ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ , คนท้อง , ผู้ป่วย  หรือ  เด็กอ่อน   ใครไปไม่ไหวหรือไม่ยอมไป  ก็ประหารชีวิตด้วยการใช้โคนจอบฟาดศีรษะ   (ไม่เปลืองกระสุน)

 

               ผู้คนมีแรงจูงใจมหาศาลจากความปรารถนาอยู่รอด   ที่จำต้องเคลื่อนย้ายร่างกายเป็นระยะทางร้อยๆกิโลภายในวันเดียวหรือสองสามวันติดกัน    อย่างปราศจากเหรียญ   ปราศจากถ้วย   และปราศจากเตรียมตัวซ้อมมาก่อน   อย่างไม่ต้องเขียนใบสมัคร   ที่มีรางวัลอยู่เพียงอย่างเดียวคือ   “ไว้ชีวิต”

 

               แล้วก็พบว่า   มวลชนมหาศาล  เรือนล้าน   ไม่เพียงแต่เดินอพยพไปได้เป็นร้อยๆโล   แต่ไปในสภาพถือข้าวของพะรุงพะรัง  อุ้มลูกจูงหลาน   เข็นรถลากจูงทรัพย์สมบัติชิ้นที่คิดว่าจำเป็นมากที่สุดไปด้วย   ไม่ใช่ไปตัวเปล่า

 

               ที่ตายกันมาก  เพราะถูกเขมรแดงปลิดชีพ   ตายเพราะป่วยไข้ไม่มีการรักษา   ตายเพราะความหวาดระแวง  ตายเพราะต่อต้านคำสั่ง  และตายเพราะมีความเชื่อไม่เหมือนมัน  ตายเพราะไม่ยอมแบ่งทรัพย์ให้เขมรแดง   แต่ไม่พบว่ามีใครตายเพราะระยะทางในตัวของมันเองเลย

 

            เพราะอย่างนี้ไงครับ   ผู้เขียนถึงได้กล่าวว่า   ระยะทางที่ยาวไกลกะอีแค่สี่สิบสองโล   ใครก็วิ่งได้ทั้งนั้น (เคลื่อนย้ายร่างกาย)   แต่จะเป็นไปในลักษณะไหน   เป็นไปกับความสดแข็งแรง   หรืออย่างเจ็บล้าอ่อนเปลี้ยต่างกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละคน

 

               กลับมาดูสถานการณ์ในสนามมาราธอน   นักวิ่งมาราธอนที่เราเห็นเป็นพันเป็นหมื่นนั้น   ประเมินกันว่า   ที่ซ้อมมาดีมีเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น   แต่ที่ท่วมท้นก็คือ   ถ้าไม่  Undertrain  ก็  Overtrain  อย่างใดอย่างหนึ่ง   ที่เขียนอย่างนี้   เพราะเมื่อเราไปถามนักวิ่งที่เข้าเส้นสตาร์ทให้เขาประเมินแผนซ้อมของตัวเองที่ผ่านมาว่า   คุณซ้อมมาดีหรือไม่   การซ้อมที่ผ่านมามีความสมบูรณ์หรือขาดตกบกพร่อง   เกือบทั้งหมดกล่าวว่า   เขายังทำได้ไม่สมบูรณ์ดีนัก   และน่าจะซ้อมดีกว่านี้

 

               แต่จะเชื่อกันหรือไม่ว่า   ปริมาณนักวิ่ง  DNF.  (Did not finish)  วิ่งไม่ได้เหรียญมีน้อยมากจนไม่อาจจัดเป็นค่าสถิติที่เทียบเคียงกับผู้วิ่งทั้งหมดได้เลย   ไปได้ทั้งนั้น  ทั้งๆที่ซ้อมไม่เอาอ่าว

 

               ในพวก  DNF.  ก็จะประกอบด้วยอุบัติเหตุเสียบ้าง , มีอันเป็นไปเพราะต้นเหตุจากพยาธิสภาพของแต่ละคนบ้างเกือบทั้งนั้น  ไม่ใช่  Beginner  เลยพวกขาใหม่เอี่ยมล้วนไปถึงกันหมด

 

               พวกที่เพิ่งลงวิ่งมาราธอนใหม่เอี่ยมนี้   อาจตั้งเป้าหมายว่า  “ขอแค่ถึง”  จริง   เรื่องของเรื่องคือ มันน่าตื่นเต้นตรงที่  ความสามารถจริงๆกับความคิดที่ว่าตัวเองสามารถนั้นมันต่างกันอย่างมากมาย   ต่อเมื่อผ่านการเปิดบริสุทธิ์ไปเรียบร้อยแล้ว   ครั้งต่อไป   แม้จะกล่าวกับคนรอบข้างว่า   “ขอแค่ถึงอีกเหมือนเดิม”  แต่ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าในใจลึกๆมันจะมีความสุขมากขนาดไหนหนอหากตัวเองทำผลงานให้ดีขึ้นกว่าเก่า   ความคาดหวังนี้  เกิด , เป็นไป  และพัฒนาอย่างไม่รู้ตัว   และที่สำคัญ  ไม่กล้าที่จะยอมสารภาพกันออกมาตรงๆว่า  “ขอเพียงดีขึ้นกว่าเดิม”   ไม่ว่าจะเป็นเวลารวมที่ลดลง  หรือ  ด้วยร่างกายรู้สึกบอบช้ำน้อยลงกว่าก็ตาม   คิดฝันแล้วมันจั๊กกะจี้

 

               ความรู้สึกและความต้องการที่คลี่คลายมาในระยะหลังนี้เอง   มันคือประโยคที่ว่า    “แต่จะวิ่งให้ดีนั้น   มันไม่ง่ายเลย”

 

               ในสนามที่สองและสนามถัดไป   เขาก็ยังอาจไปได้ดีและดีขึ้นในทุกลักษณะ   เป็นเพราะเจ้าตัวเรียนรู้จัดการจากประสบการณ์เพียงเล็กน้อยนั้น   ยิ่งประกอบเข้ากับลักษณะไม่ขาดซ้อม   แม้จะไม่ได้เพิ่มเติมการฝึกฝนอะไรเลย   คนเราก็ยังอาจได้ผลลัพธ์ดีขึ้นๆอยู่เรื่อยๆได้

 

               แต่ความสัมฤทธิ์นี้   มันจะมีเพดานอยู่ระดับหนึ่งของแต่ละคน   ที่ธรรมชาติเอื้อให้ เป็นโปรโมชั่นแถมมาจากการเป็นลูกค้ามาราธอน   คล้ายกับเทวดาหลอกให้ดีใจกับความสำเร็จอยู่สักระยะแค่นั้น   ครั้งต่อๆไปถ้าจะได้ผลที่ดีกว่าเก่าเหมือนอย่างเดิมคงต้อง   “เบ่ง”  กำลังงานมากขึ้น   บางที ถ้าไม่เบ่ง  ประสิทธิภาพอาจตกกว่าเก่าก็เป็นได้   ซึ่งจะมีผลทำให้เหนื่อยมากขึ้น   ล้าลงมากกว่าเก่า

 

               ความเหนื่อยและความล้าที่แลกเปลี่ยนกับเวลารวมที่ลดลงนั้น   ตัวของความเหนื่อยล้ามันจะเท่ากับไปลดทอนแต้มคะแนนของการประเมินผลงานว่า  “ดีขึ้น”   ให้ลดลงในอีกด้านหนึ่ง   อย่างอัตโนมัติ

 

ครับนี่แหละที่ว่า   “มันไม่ง่าย”   แล้ว

 

               จำต้องมีเครื่องมืออะไรบางอย่างเข้ามาช่วย   เครื่องมือใหม่ที่แต่เดิมไม่มีอยู่  และต้องไปหามาใหม่นี้คือ  ”แผนฝึก”   ไงครับ

 

               หน้าตาของเครื่องมือนี้จะเป็นอย่างไรย่อมไม่เหมือนกันในแต่ละคนอย่างแน่นอน   ขึ้นอยู่กับเป้าหมายวิ่งมาราธอนเพื่ออะไร   เหมือนกับขึ้นชื่อว่า  “รถยนต์”  แต่ยังแยกย่อยไปได้ตั้งแต่  รถเก๋งหรู , รถปิ๊กอัพขนของ , รถแข่งเอารางวัล , กระทั่งแทรคเตอร์ไถดิน   ที่เซลล์แมนขายรถจะถามคุณว่า   “คุณจะเอามันไปทำอะไรหรือครับ”

 

               รายที่ล่าจำนวนสนามมาราธอน  หรือล่าปริมาณกิโลเมตร   สะสมในพอร์ตโฟลิโอเกียรติประวัติ  ดูเผินๆจะเป็นคนละอย่างกับนักวิ่งแข่งความเร็ว   แต่ถ้าในบริบทที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้   ผู้เขียนประเมินไม่ได้แตกต่างกันเท่าใดหรอกครับ   ตรงที่มันต้องการแผนฝึกหรือวิธีปฏิบัติเตรียมตัวที่จำเพาะเจาะจงเหมือนกันทั้งนั้น

 

               จะให้พี่ปั้นไปแข่งความเร็ว   ก็เหมือนกับ   เอารถปิ๊กอัพดีเซลไปลงฟอร์มูล่าวัน   หรือกลับกัน  เอาเฟอร์รารี่ไปบรรทุกมะพร้าวไปส่งชายแดน   มันเป็นไปไม่ได้

 

               แผนฝึกเตรียมตัวอย่างไรสำหรับการวิ่งปริมาณระยะทางมากๆ   ย่อมแตกต่างจากแผนฝึกเตรียมตัวเพื่อถ้วยรางวัลบนโพเดี้ยมแน่นอน

 

               กำลังจะบอกว่า   แผนฝึกแต่ละคนจะต้องแตกต่างกัน   อันเป็นไปตามเป้าหมายการวิ่งของตัวเอง   ที่ยังมีย่อยลงไปได้อีก  เป็นอายุ  เป็นเพศ  เป็นระดับความฟิต และรูปแบบชีวกลของแต่ละร่างกาย   เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด   เจ้าตัวย่อมจะต้องลงแรงพากเพียร , เกาะติดสม่ำเสมอ , ยืดเยื้อยาวนาน , ใส่ใจสังเกตอาการด้วยความตั้งใจทั้งสิ้น     แผนฝึกที่หมูๆ  มันจะหล่อหลอมตัวเราให้กลายเป็นหมูตัวจริงในสายตานักวิ่งอื่น

 

               ถ้าเช่นนั้น   จะให้กล่าวว่า   แผนฝึกที่ดี  คือแผนฝึกที่ยาก , ที่หนัก  ก็ยังกล่าวได้ไม่เต็มปาก     ลักษณะที่ยากและหนัก   มันต้องถูกเรียกเสียใหม่ว่า   “แผนฝึกที่เหมาะสม”   ต่างหาก

 

ที่ว่า   “เหมาะสม”   เหมาะสมอย่างไร?

 

               ก็เหมาะสมกับความเป็นตัวของเราเอง  เข้มอ่อนกำลังพอดี   ที่ผ่านการจัดหาทยอยเพิ่มความเข้มข้นขึ้นทีละน้อยในคาบระยะเวลาที่ยาวนานด้วยความสม่ำเสมอ  ในความกำหนดควบคุมของจิตใจที่พากเพียรไม่ท้อถอย  ชนิดที่กาะติดอย่างนิ่มนวล

 

               ถ้าเรามองว่า   คำบรรยายในลักษณะที่ขีดเส้นใต้ข้างบนนี้   เป็นความยากล่ะก็   เราก็ต้องเรียกว่า   “ยาก”   ยากเพราะมันไม่ง่าย

 

               สำหรับบางคนยากไม่ว่า   เข้มข้นแค่ไหนสู้เผชิญได้ไม่ยั่น   แต่ความที่ยืดเยื้อยาวนาน  มันทำไม่ค่อยได้   นี่แหละเรื่องมันอยู่ตรงนี้!!!

 

               ใช่แล้วครับ   คนเรารู้สึกยากง่ายต่างกัน   ไม่ใช่เรื่องแปลก   เป็นเรื่องธรรมชาติมนุษย์   ขนาดเรื่องประเมินคุณค่าความดี  เรายังให้ค่าต่างกันราวกับฟ้าดิน

 

               ดังนั้น   จะวิ่งมาราธอนให้มันดีขึ้น   มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ง่ายๆเลย   เหตุนี้มาราธอนจึงสามารถเป็นเครื่องทดสอบคนได้ตลอดชีวิตก็เพราะเหตุที่มันประมาทไม่ได้   มาราธอนฆ่าคนที่ประมาทมาเสียนักแล้ว   โดยเฉพาะขาเก่า   ที่มั่นใจในความเก๋าของตัวเอง   ประเภทเห็นมันเป็นหมูในอวยและของตาย   พวกนี้ล้นเกิน  ระวังให้จงหนัก   ต่อให้นายวิ่งมานานแล้วก็เถอะ   ต่อให้มีอายุราชการเป็นพี่เอื้อยขนาดไหน   ลองประมาทดูซิ   เป็นอันเสร็จทุกราย

 

อย่างนี้ไงครับที่ผู้เขียนกล่าว

“มาราธอนน่ะ   ใครๆก็วิ่งได้

แต่จะวิ่งให้ดี   ไม่ง่ายแน่นอน”

 

 

09:00  น.

9  พฤศจิกายน  2549