<% Set FileObject = Server.CreateObject("Scripting.FileSystemObject") Dir = Request.ServerVariables("SCRIPT_NAME") Dir = StrReverse(Dir) Dir = Mid(Dir, InStr(1, Dir, "/")) Dir = StrReverse(Dir) HitsFile = Server.MapPath(Dir) & "\hitcounter\hits_dead_immediately.txt" On Error Resume Next Set InStream= FileObject.OpenTextFile (HitsFile, 1, false ) OldHits = Trim(InStream.ReadLine) NewHits = OldHits + 1 Set OutStream= FileObject.CreateTextFile (HitsFile, True) OutStream.WriteLine(NewHits) %> การตายฉับพลันในนักกีฬา

ผู้เยี่ยมชมตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 46 : <% L=Len(NewHits) i = 1 For i = i to L num = Mid(NewHits,i,1) Display = Display & "" Next Response.Write Display %>

 

การตายฉับพลันในนักกีฬา

บทความโดย
นายแพทย์ เชิดชัย ตันติศิรินทร์

การตายฉับพลันในนักกีฬาอาจจะเกิดขึ้นทันที หรือภายในหนึ่งชั่วโมงหลังจากมีอาการ โดยทั่วไปแล้วพบได้น้อย เช่น จากรายงานของ Thompson และคณะ (1982) พบอุบัติการณ์นี้ในนักวิ่ง (jogger) 1 ใน 7620 คนต่อปี หรือ 1 รายใน 396,000 ชั่วโมงของการวิ่ง และถ้าดูตามอายุแล้วจะมีข้อแตกต่างกันกล่าวคือ ถ้าอายุต่ำกว่า 30 ปี พบอุบัติการณ์การเสียชีวิตในคนทั่วไป 2-7 ต่อ 100,000 ต่อปี และพบว่ามีเพียงร้อยละ 8 จะเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย แต่ถ้าอายุมากกว่า 30 ปี อุบัติการณ์เสียชีวิตจะเป็น 50-60 ต่อ 100,000 ต่อปี และมีเพียงร้อยละ 2-3 เท่านั้นที่เกิดขึ้นภายหลังการออกกำลังกาย

โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว การออกกำลังกายเป็นเวลาหลาย ๆ ปีอย่างต่อเนื่อง จะทำให้หัวใจปรับตัว จึงสามารถทนออกกำลังกายได้นาน 2-3 เท่าของปกติ เช่น ปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างอาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 และเลือดไปเลี้ยงหัวใจจะเพิ่มขึ้น เลือดสูบฉีดออกจากหัวใจเพิ่มขึ้น และเนื้อเยื่อส่วนปลาย เช่น กล้ามเนื้อ สามารถดึงออกซิเจนมาใช้ได้มากยิ่งขึ้น โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของกระบวนการสันดาป เช่นมีการเพิ่ม myoglobin เพิ่มขนาดของ myocyte เพิ่มขนาดและจำนวนของไมโทคอนเดรีย เพิ่มเอนไซม์เกี่ยวกับการหายใจ (respiratory enzymes) ในระดับเซลล์และมีหลอดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากขึ้นด้วย

สำหรับหัวใจนั้น นอกจากจะมีการเพิ่มจำนวนกล้ามเนื้อหัวใจขึ้นแล้ว ยังมีการเพิ่มของเลือดที่ไหลเวียนกลับเข้าห้องหัวใจถึงร้อยละ 60-80 (ventricular diastolic volume) หลังการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น ว่ายน้ำ หรือวิ่งเป็นระยะเวลานาน 8-9 สัปดาห์ และส่วนใหญ่จะค่อย ๆ กลับสู่ปกติใน 3 สัปดาห์หลังจากหยุดการออกกำลังกาย

นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี โดยเพิ่มความสามารถในการใช้ออกซิเจน (respiratory capacity) ของกล้ามเนื้อหัวใจ เพราะพบว่ามีการทำงานของสารเอนไซม์ lactic dehydrogenase, pyruvate kinase, myosin isoenzyme และเอนไซม์ adenosine triphosphatase เพิ่มขึ้น ทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อ (contractile performance) เพิ่มขึ้นเป็นต้น

หัวใจของนักกีฬาหรือนักออกกำลังกายจะมีลักษณะต่างจากคนปกติบ้าง เช่น อาจมีอัตราเต้นหัวใจช้าถึง 40-60 ครั้งต่อนาที ความดันเลือดและความดันหลอดเลือดดำมีค่าปกติ หัวใจด้านล่างซ้าย (left ventricle) โตเล็กน้อย แต่ถ้ายอดหัวใจโตกว่าปกติก็ให้คิดว่าอาจมีโรคหัวใจ) เสียงหัวใจ เสียงที่ 1 และที่ 2 ปกติ อาจได้ยินเสียงหัวใจที่ 3 และที่ 4 ถึงร้อยละ 50 อาจฟังได้ยินเสียงฟู่ชนิด short quiet ejection murmur ในจังหวะ mid systole เพราะมีเลือดผ่านหัวใจ (stroke volume) ปริมาณมากขึ้นถ้าได้ยินเสียง diastolic murmur ก็ถือว่าผิดปกติ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiography, EKG) อาจพบหัวใจเต้นช้า (sinus bradycardia) หรือมีจังหวะการเต้นผิดปกติ (sinus arrhythmia) บางรายอาจพบหัวใจห้องล่างซ้ายและขวาโตได้ร้อยละ 50

ภาพเอกซเรย์ทรวงอก อาจพบมีหัวใจโตทั่ว ๆ ไปเป็นรูปทรงกลม (globular shape) อัตราส่วนหัวใจต่อทรวงอกประมาณ 0.5-0.6:1

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียง echocardiography พบว่าร้อยละ 20 มีผนังหัวใจหนาขึ้น เส้นผ่าศูนย์กลางของห้องหัวใจระยะคลายตัวจะเพิ่มขึ้น แต่เส้นผ่าศูนย์กลางของหัวใจระยะบีบตัวอาจเพิ่มขึ้นหรือปกติ ถ้าพบว่าผนังหัวใจหนาไม่เท่ากันต้องนึกถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา (hypertrophic cardiomyopathy)

สาเหตุการตายฉับพลัน

การตายฉับพลันส่วนใหญ่จะมีสาเหตุจากโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างอื่นมักเป็นอุบัติเหตุที่ได้รับระหว่างการเล่นกีฬา เช่น กระดูกสันหลังส่วนคอหัก บาดเจ็บที่ศีรษะ และในนักกีฬากอล์ฟอาจมีการเป็นลมจากความร้อน แล้วเสียชีวิต (heat stroke) เป็นต้น

สาเหตุการตายในนักกีฬาเท่าที่รายงานพอรวบรวมได้ดังนี้

1. ภยันตรายต่อทรวงอกจากสิ่งไร้คม (ร่วมกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน)

2. intramural coronary artery (ร่วมกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน)

3. หลอดเลือดหัวใจแข็ง (conventional artherosclerotic coronary artery disease)

4. หลอดเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด

5. ภาวะเอออร์ตาฉีก (aorta dissection)

6. กล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (myopericarditis)

7. ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา (hypertrophic cardiomyopathy)

8. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiomyopathy)

9. เนื้องอกหัวใจ (cardiac tumor)

10. โรคลิ้นหัวใจ (valvular heart disease)

11. โรคระบบการนำกระแสไฟฟ้าหัวใจ (cardiac conduction system disease)

12. หัวใจเต้นผิดปกติ (primary dysrhythmias)

13. ตกเลือดใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (subarachnoid haemorrhage)

14. เป็นลมแพ้ร้อน (heat stroke)

15. โรคเลือดซิกเคิล เซลล์ (sickle cell trait)

ถ้าพิจารณาสาเหตุการตายโดยดูที่อายุของนักกีฬา อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มดังนี้

กลุ่มอายุน้อย (ต่ำกว่า 35 ปี) มีสาเหตุเรียงจากมากไปน้อยตามลำดับคือ

1. หลอดเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด (congenital anatomic abnormalities of the coronary arteries)

2. กล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ (hypertrophic obstructive cardiomyopathy) ทำให้สูบฉีดเลือดออกจากหัวใจลำบาก

3. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (coronary artery disease) ทำให้เลือดไปเลื้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลง

4. ลิ้นหัวใจผิดปกติ (valvular heart disease) ชนิดลิ้นหัวใจไมตรัลปลิ้น (mitral valve prolapse)

5. หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาฉีก (aorta dissection) แล้วมีเลือดเซาะเข้าไปในผนังหลอดเลือด

6. หัวใจโตจากโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ (dilated cardiomyopathy)และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis)

กลุ่มอายุมาก (สูงกว่า 35 ปี) มีสาเหตุเรียงจากมากไปน้อยตามลำดับคือ

1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แข็ง (atherosclerosis) ซึ่งมีประวัติของอาการเจ็บหน้าอก (angina pectoris) หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดตาย (myocardial infraction)

2. โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiomyopathy)

3. โรคของลิ้นหัวใจ (valvular heart disease)

4. โรคของหลอดเลือดเอออร์ตา

5. โรคของระบบนำกระแสไฟฟ้าในหัวใจ (cardiac conduction system disease)

6. โรคหัวใจเต้นผิดปกติเอง (primary dysrhythmias)

การป้องกัน

เนื่องจากการตายฉับพลันในนักกีฬาพบได้น้อย และส่วนใหญ่ก็มีสาเหตุจากการมีโรคของหัวใจ และหลอดเลือด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแนะนำและทำการศึกษา นักกีฬาที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่

1. ผู้สูงอายุที่มีประวัติเจ็บหน้าอก หรือเคยมีกล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อน หรือกลุ่มที่มีระดับไขมันในเลือดสูง ควรจะผ่านการทดสอบการออกกำลังกาย (exercise test) ก่อนที่จะออกกำลังกายหนัก

2. นักกีฬาที่เคยตรวจพบว่ามีลิ้นหัวใจผิดปกติ ซึ่งอาจจะเป็นลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบหรือหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด ควรจะได้รับการดูแลเป็นกรณีพิเศษ

3. นักกีฬาที่มีจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ เช่น มีหัวใจห้องล่างเต้นก่อนกำหนด (premature ventricular contraction)

4. ในกรณีที่มีรายการแข่งขันชิงรางวัลควรจะมีการตรวจร่างกายของนักกีฬาเป็นพิเศษ อาจรวมถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือถ้าผิดปกติมากอาจต้องทำการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงเป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการเตรียมบุคลากร อุปกรณ์ในการช่วยเหลือก่อนเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้น

สรุป

เนื่องจากผลของการออกกำลังกายจะทำให้มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมากกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย อีกทั้งกล้ามเนื้อหัวใจยังมีความต้องการออกซิเจนลดลงเมื่อเทียบกับน้ำหนักของหัวใจ เม็ดเลือดแดงมีการเรียงตัวและปรับรูปได้ดีขึ้น เกล็ดเลือดจับตัวได้น้อยลง และมีระดับไขมันในเลือดชนิด HDL (high density lipoprotein) เพิ่มขึ้น จึงทำให้หลอดเลือดหัวใจเกิดการแข็งและตีบช้าลง และทำให้อัตราตายจากโรคนี้ลดลง ดังนั้น การออกกำลังกายจึงมีประโยชน์ แม้ในผู้ป่วยที่มีโรคทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความเสี่ยง ลักษณะการออกกำลังกาย ตลอดจนระยะและช่วงเวลาการออกกำลังกายร่วมด้วย โดยต้องดูแลไม่ออกกำลังกายมากจนเกินไป มิฉะนั้นอาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตฉับพลันได้