<% Set FileObject = Server.CreateObject("Scripting.FileSystemObject") Dir = Request.ServerVariables("SCRIPT_NAME") Dir = StrReverse(Dir) Dir = Mid(Dir, InStr(1, Dir, "/")) Dir = StrReverse(Dir) HitsFile = Server.MapPath(Dir) & "\hitcounter\hits_cause_injury.txt" On Error Resume Next Set InStream= FileObject.OpenTextFile (HitsFile, 1, false ) OldHits = Trim(InStream.ReadLine) NewHits = OldHits + 1 Set OutStream= FileObject.CreateTextFile (HitsFile, True) OutStream.WriteLine(NewHits) %> สาเหตุการบาดเจ็บ จากกีฬาและการออกกำลัง

 Since 14/02/45: <% L=Len(NewHits) i = 1 For i = i to L num = Mid(NewHits,i,1) Display = Display & "" Next Response.Write Display %>

 

สาเหตุการบาดเจ็บ จากกีฬาและการออกกำลัง

 

บทความโดย...น.พ.พล หิรัณยศิริ

 

การบาดเจ็บจากกีฬาและการออกกำลังมีสาเหตุได้หลาย ๆ อย่าง พอแบ่งจำแนกให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ดังต่อไปนี้

1. จากตัวผู้เล่นเอง

ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ โดยยังแบ่งย่อยไปอีกเป็นสาเหตุจากทางกาย, จากทางด้านจิตใจ และจากความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งเรื่องทักษะ รายละเอียดมีดังต่อไปนี้

1.1 สาเหตุจากสภาพของร่างกาย ซึ่งแบ่งย่อยไปอีกเป็น

ก. จากวัย, เพศ และรูปร่างไม่เหมาะกับประเภทกีฬา การเล่นกีฬาและออกกำลังโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม แล้วจะเกิดผลร้ายและการบาดเจ็บตามมาได้ง่าย เช่นรูปร่างเตี้ยล่ำไปแข่งขันวิ่งข้ามรั้ว ผู้ที่สูงเพรียวลมไปเล่นยกน้ำหนัก ในเรื่องของวัยนั้นก็เป็นเรื่องต้องคำนึงถึงเสมอ ในวัยสูงอายุถ้าไปเล่นเกมกีฬาที่มีความไวสูง, มีความหนักหรือใช้เวลานานเกินไปก็จะเกิดอันตรายได้ง่าย ในเด็กก็เช่นเดียวกันนอกจากต้องระมัดระวังเกมกีฬาที่มีความหนัก, ความนานที่อาจมากเกินไปแล้ว เด็กยังมีการตัดสินใจไม่ดีพอ จังหวะการเล่นและเทคนิคจึงผิดพลาดได้บ่อย ๆ จึงควรมีผู้ควบคุมดูแลขณะเล่นกีฬาบางอย่าง เช่น ยิมนาสติก, ยกน้ำหนัก, กระโดดค้ำถ่อ, มวย ฯลฯ

ในเรื่องเพศนั้น ฝ่ายสตรีซึ่งมีธรรมชาติของร่างกายบอบบางกว่าฝ่ายชาย การตัดสินใจที่มั่นคงเด็ดเดี่ยวก็มีน้อยกว่า (ทั้งยังมีเรื่องขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมเข้ามาอีก) กีฬาบางชนิดจึงไม่เหมาะกับหญิงนัก เช่น มวย, รักบี้ฟุตบอล เพราะนอกจากจะมีการเสี่ยงต่ออุบัติภัยสูงแล้ว ก็ยังไม่ค่อยน่าดูอีกด้วย

ข. จากสภาพความสมบูรณ์ของร่างกายไม่ดีพอ สาเหตุนี้เป็นเรื่องสำคัญและเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง เพราะการเล่นกีฬาถ้ามีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์พอแล้ว ก็จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากความเหน็ดเหนื่อยเปลี้ยล้าตามเกมไม่ทัน, การทำงานของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากเกินไป ทั้งการโต้ตอบหลบหลีกภยันตรายที่อาจมาถึงได้ก็ช้าลง

สภาพความสมบูรณ์ทางกายที่ไม่ดีอันเกิดจากเคยมีการบาดเจ็บมาก่อน แล้วรักษาตัวไม่ถูกต้องไม่รอให้หายดีก่อนจึงค่อยเล่นใหม่ย่อมทำให้บาดเจ็บช้ำขึ้นมา หรืออาจเจ็บมากกว่าเดิมอีก โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องปะทะกัน การมีความสมบูรณ์ทางกายไม่ดีเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การพักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ, โภชนาการไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง, เสพสุรา, บุหรี่และสิ่งเสพติด, ฟิตซ้อมร่างกายไม่เพียงพอ

ในผู้ที่ร่างกายไม่สมประกอบ, พิการหรือมีโรคประจำตัว (เช่น หืด, ลมบ้าหมู, เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ) ถ้าเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายไม่ถูกต้องเหมาะสม ก็ทำให้เกิดอันตรายได้มากจนถึงกับเสียชีวิตก็มี

ค. ไม่ได้อุ่นร่างกายให้เพียงพอก่อน การเล่นกีฬาโดยไม่ได้อบอุ่นร่างกาย (warm up) ให้เพียงพอก่อนนั้นเกิดโทษและอันตรายได้จากการที่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อของร่างกายยังไม่ได้ถูกกระตุ้นให้พร้อมพอที่จะใช้งาน (ทั้งสภาพจิตใจก็ยังอาจจะไม่ตื่นตัว) จึงทำให้เกิดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อเกิดการอักเสบหรือเคล็ดขัดยอกได้ง่าย รวมทั้งการบาดเจ็บต่าง ๆ อันเกิดจากสติสัมปชัญญะที่ยังไม่พร้อมพอนั้น การเล่นกีฬาจึงไม่ควรเล่นหักโหมทันทีทันใด ควรมีการอบอุ่นร่างกายให้ถูกต้องและนานพอเสียก่อน

ง. การเล่นเกินกำลังของตนเอง การเล่นเกินกำลังของตนเอง โดยฝืนเล่น ทั้ง ๆ ที่เหนื่อยมากแล้วเพราะเกิดความสนุกเพลิดเพลินหรือมีทิฐิจะเอาชนะกันเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายรวมทั้งการป่วยไข้อันเกิดจากการที่หัวใจ, ปอด และร่างกายเหนื่อยมากเกินไป ในผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดอันตรายจนถึงกับเสียชีวิตได้บ่อย ๆ จากหัวใจวาย

สาเหตุทางกายนี้ มักมาจากสาเหตุทางจิตใจและการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมทั้งมีความประมาทร่วมด้วย

1.2 สาเหตุจากสภาพของจิตใจ ซึ่งยังแบ่งย่อยไปอีกเป็น

ก. สภาพทางจิตใจไม่พร้อมที่จะเล่น การจะเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายนั้นสภาพทางจิตใจต้องพร้อมที่จะเล่นหรือปฏิบัติงานจึงจะเล่นได้ดีและเกิดอุบัติเหตุน้อย ที่เห็นง่าย ๆ คือ ต้องมีสติสัมปชัญญะตลอดเวลาที่จะเล่น มีความกล้าและการตัดสินใจที่ดีพอ เรื่องทางจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ มากกว่าทางด้านร่างเสียด้วยซ้ำ สภาพจิตใจที่ไม่ปกติแบ่งเป็น

- ไม่มีกำลังใจจะเล่น, เบื่อหน่าย เช่น ถูกบังคับให้เล่นกีฬาที่ตนเองไม่ชอบ หรือไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะเล่น มีปัญหาทางด้านการเรียนหรือครอบครัว สติสัมปชัญญะจึงไม่สมบูรณ์เพียงพอ

- มีความกลัว, ความแหยง นักกีฬาบางคนเคยเจ็บมาก่อน มีประสบการณ์และเกิดกลไกทางจิตใจจนเกิด “แหยง” หรือ “กลัว” เมื่อต้องแข่งขันกับคู่ต่อสู้บางคน (ที่ตนเองเคยปราชัยหรือขับเคี่ยวกันมาก่อน) หรือเมื่อต้องลงแข่งในกีฬาบางประเภทที่ตนเคยพลาดพลั้งบาดเจ็บ อีกสาเหตุหนึ่งของความกลัว, ความแหยงคือ ร่างกายตนยังไม่พร้อมพอ เช่น เกิดบาดเจ็บกล้ามเนื้อหรือเอ็นบริเวณที่สำคัญและเป็นเรื่องที่แปลกว่ายิ่งกลัวมากยิ่งเจ็บมากโดยเฉพาะกีฬาที่ต้องปะทะกันด้วย

- การมีความตั้งใจมากเกินไป, เครียดมากไป, กล้าหรือบ้าบิ่นมากไป เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บได้ทั้งสิ้นเพราะสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ การตัดสินใจและจังหวะจะผิดพลาดได้ง่าย

ข. มีสภาพจิตใจผิดปกติในขณะเล่น หรือเล่นอย่างประมาท สภาพจิตใจที่ผิดปกติขณะเล่นกีฬาหรือออกกำลัง พบได้บ่อยในเด็กเล็กตลอดถึงวัยรุ่นเพราะได้รับอิทธิพลทางความคิด การยั่วยุที่โลดโผนแหวกแนว และรุนแรงมาจากสิ่งแวดล้อมและสื่อสารมวลชนที่ไร้ความรับผิดชอบ เด็กถึงอาจเล่นกีฬาโดยทำตามแบบอย่างในจอโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ เช่น หกคะเมนตีลังกา, กระโดดสูง, ยูโด, คาราเต้ และอื่น ๆ โดยความสนุกเพลิดเพลินและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนเป็นสาเหตุถึงกับทำให้เสียชีวิตอยู่เรื่อย ๆ เรื่องความประมาทก็เป็นสาเหตุใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของจิตใจที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้มาก ๆ

ส่วนสภาพจิตใจที่ผิดปกติซึ่งเป็นโรคถึงกับต้องห้ามแข่งขัน (ชั่วคราว) และนำไปรักษาพยาบาลตัวระยะหนึ่งก่อนก็เป็นสิ่งที่พบได้ไม่น้อยนัก ซึ่งจิตแพทย์จะสามารถบำบัดเยียวยาและช่วยเหลือได้ มิฉะนั้นแล้วคนเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนเองและผู้อื่นเมื่อเขาลงสนามแข่งขัน

1.3 การขาดความรู้ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์การกีฬา, ขาดทักษะความสามารถของแต่ละประเภทกีฬา

ก. การขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของวิทยาศาสตร์การกีฬา กล่าวคือ

- ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาในขณะอิ่มจัด หิวจัด หรือขาดน้ำ

- ใช้ยากระตุ้นหรือยาโด้ปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนเกิดเป็นอันตรายได้

- การเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายโดยไม่เข้าใจหลักของกลศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว เช่น ไปฝืนส่วนของร่างกายมากเกินไปทั้ง ๆ ที่ควรจะอ่อนผ่อนตามไปก่อน การล้มตัวลงไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ยูโด มวยปล้ำ

- การไม่ใส่เครื่องป้องกันตนในการเล่นกีฬาบางชนิด กีฬาหลายชนิดควรจะใส่เครื่องป้องกันตนเสมอทั้งในขณะฝึกซ้อมและการแข่งขันมิฉะนั้นจะเกิดอันตายได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ยังขาดประสบการณ์ เช่น ใส่เข็มขัดกันกระดูกสันหลังเคลื่อนและพันข้อมือในพวกยกน้ำหนัก ใส่หน้ากากป้องกันในกีฬาดาบสากล ใส่เครื่องป้องกันตามตำแหน่งต่าง ๆ ในพวกรักบี้ฟุตบอล ใส่ฟันยางในพวกนักมวย การไม่ใส่เครื่องป้องกันในตำแหน่งจุดอ่อนต่าง ๆ ที่จะเกิดอันตรายได้ยังพบเสมอ ๆ ในบ้านเรา เพราะติดนิสัย “ชอบสบาย- ง่าย ๆ และไม่เป็นไร”

- เรื่องการขาดความรู้ในด้านการอบอุ่นร่างกายที่ถูกต้อง, การเล่นโดยไม่ประมาณกำลังตน และเล่นกีฬาโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของวัย, เพศ และรูปร่าง ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬาทั้งสิ้น

ในการแข่งขันระดับโลก (เช่นกีฬาโอลิมปิค) ยิ่งต้องมีความรู้ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์การกีฬามาก เพราะแข่งกันชนิดเอาเป็นเอาตาย สภาพร่างกายจึงอยู่ในจุดอันตรายเหลือเกิน และโอกาสเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บก็เป็นไปได้สูง

ข. การขาดทักษะความสามารถเฉพาะของแต่ละประเภทกีฬา กีฬาแต่ละประเภทก็ต้องการทักษะความสามารถและคุณสมบัติเฉพาะต่าง ๆ แปลกแตกต่างกันออกไป การที่ขาดประสบการณ์มีทักษะและความสามารถไม่พอจะทำให้ตามเกมไม่ทัน, การตัดสินใจและจังหวะการเล่นผิดพลาด ทั้งอาจพลาดท่าเกิดอุบัติเหตุจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้มาก จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่สถิติการบาดเจ็บจากกีฬาพบมากในผู้ที่หัดใหม่, ผู้ที่อ่อนประสบการณ์


2. จากประเภทและลักษณะของกีฬา

ประเภทและลักษณะของกีฬาบางชนิดก็เป็นสาเหตุโดยตรงของการบาดเจ็บ ซึ่งขอแบ่งประเภทกีฬาออกเป็น 2 ประเภท

2.1 ประเภทกีฬาที่ต้องปะทะกัน (CONTACT SPORT) กีฬาประเภทนี้ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้มาก ๆ จนถึงกับทำให้ตายหรือพิการบ่อย ๆ เพราะมีการปะทะกันโดยตรง และกีฬาบางประเภทเองก็มีกติกาให้ทำร้ายคู่ต่อสู้ด้วย (เช่น มวย) กีฬาเหล่านี้จึงต้องใส่เครื่องป้องกันตัวต่าง ๆ ทั้งสภาพความสมบูรณ์ของร่างกายต้องดี ร่วมกับการมีทักษะประสบการณ์และใจที่สู้ ตัวอย่างกีฬาที่ต้องปะทะกันทั้งทางตรงหรือโดยทางอ้อมได้แก่ มวย, รักบี้ฟุตบอล, ยูโด, ฮ๊อกกี้

2.2 ประเภทกีฬาที่ไม่ต้องปะทะกัน (NON-CONTACT SPORT) กีฬาประเภทนี้แม้จะไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการปะทะกันก็ตาม แต่การบาดเจ็บก็มีได้มาก ๆ จนถึงตายได้เช่นกัน โดยเฉพาะกีฬาประเภทซึ่ง

- มีความเร็วมาก ๆ มาเกี่ยวข้อง เช่น จักรยาน, แข่งรถ

- มีความสูงมาเกี่ยวข้อง เช่น กระโดดค้ำถ่อ, ยิมนาสติก

- มีความเร็วและความสูงมาเกี่ยวข้อง เช่น สกี, กระโดดร่มผาดโผน

- มีความหนักมาเกี่ยวข้อง เช่น ขว้างฆ้อน, ยกน้ำหนัก

- มีระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน เช่น วิ่งมาราธอน, แข่งจักรยานทางไกล

- จากความผิดธรรมชาติของบางประเภทกีฬา เช่น กีฬายิมนาสติก มีการเล่นห่วงคู่บางท่าเป็นท่ายาก และฝืนธรรมชาติมาก มีโอกาสเกิดอันตรายได้สูง เช่น ท่ากากบาท, ท่าเรือบิน นอกจากนี้ในกรณีที่เล่นเป็นทีมหรือเล่นประเภทคู่ ก็ยังมีโอกาสบาดเจ็บจากโดนผู้ร่วมเล่นกีฬาเอง (ทั้ง ๆ ที่เป็นฝ่ายเดียวกันโดยไม่มีเจตนา แต่อาจเกิดความเร่งรีบ)

กล่าวโดยสรุปแล้ว ทั้งกีฬาชิดต้องปะทะกันและไม่ต้องปะทะกันหากเป็นการเล่นเพื่อการแข่งขันแล้ว อาจจะทำให้บาดเจ็บจนถึงกับพิการหรือเสียชีวิตได้ แต่ถ้าเล่นกันเพื่อสุขภาพแล้ว โอกาสบาดเจ็บจะพบได้น้อยลง หรือพบก็มักไม่รุนแรงนัก (ยกเว้นกรณีอุบัติเหตุ หรือเล่นอย่างประมาท)

3. เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ และสนามแข่งขัน

3.1 เครื่องแต่งกายสำหรับเล่นกีฬา ควรให้รัดกุม สั้นหรือยาวถูกต้องกับประเภทกีฬา เครื่องแต่งกายที่รุ่มร่ามนอกจากทำให้เล่นกีฬาและออกกำลังกายไม่สะดวกแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายโดยเฉพาะประเภทกีฬาที่ต้องใช้ความเร็วและความไวสูง

เครื่องแต่งกายที่ดีถูกต้องจะช่วยในการเล่นกีฬามากกล่าวคือ ควรต้องเบา ทำด้วยวัสดุโปร่ง สามารถถ่ายเทอากาศและความร้อนได้เป็นอย่างดี (เสื้อผ้าที่ไม่สามารถทำให้เหงื่อระบายออกได้ดีแล้วจะทำให้เกิดความอึดอัดขณะเล่น , เหนื่อยเร็ว และเกิดอันตรายจากความร้อนเกินในร่างกายได้)

ถุงเท้าและรองเท้า ถุงเท้าช่วยลดความเสียดสีระหว่างขอบหรือพื้นรองเท้ากับตัวเท้า ทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น จึงควรเลือกใช้ให้ถูกต้องกับงาน

รองเท้าเป็นเรื่องสำคัญมากในการเล่นกีฬาเกือบทุกประเภท การใช้รองเท้าไม่ถูกกับประเภทกีฬา ทำให้ร่างกายขาดความมั่นคงในการทรงตัวและการเคลื่อนไหวของเท้าไม่คล่องแคล่วเท่าที่ควร รองเท้าที่ไม่ถูกต้องจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุง่าย ก่อนลงเล่นหรือก่อนแข่งขัน จึงควรตรวจดูรองเท้า พื้นรองเท้า, ปุ่มหรือตะปูของรองเท้าให้เรียบร้อยก่อน การใช้รองเท้าใหม่ที่ยังไม่เคยชินต้องระวังมากเพราะนอกจากจะโดนรองเท้ากัดจนไม่สบายเท้าแล้ว การเกิดอุบัติเหตุก็ยังมีได้มากขึ้นกว่าเดิม

3.2 อุปกรณ์การเล่นกีฬา ต้องมีขนาดและน้ำหนักเหมาะสมกับสภาพและวัยของผู้เล่น มิฉะนั้นจะเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บได้ไม่น้อยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในเด็กที่ยังเล็กอยู่แต่ใช้ลูกบอลขนาดและน้ำหนักมากเกินไป บาณเดี่ยวและบาร์คู่ก็ต้องมีส่วนสูงและช่วงกว้างระหว่างตัวบาร์ตามขนาดของเด็กมิฉะนั้นจะเกิดการพลาดหลุดมือได้บ่อย อุปกรณ์การเล่นกีฬาของเด็กก็ต้องเหมาะกับตัวด้วยเช่น ขนาดด้ามของไม้แรคเก็ต ควรมีกริฟ (GRIP) ให้เหมาะกับมือ

อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์กีฬาก็ก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้เสมอ ๆ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาที่ต้องปะทะกันหรือไม่ปะทะกันก็ดี เช่น กรณีถูกลูกเทนนิส, ลูกขนไก่ หรือลูกฟุตบอลอัดเข้าที่บริเวณใบหน้าหรือลำตัว ซึ่งอุปกรณ์การเล่นกีฬาเกือบทุกชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ทั้งสิ้น ถ้าใช้อย่างไม่ระมัดระวังและอาจเป็นอันตรายถึงกับทำให้เสียชีวิตหรือพิการได้เพราะอุปกรณ์กีฬาบางอย่างก็ร้ายแรงหรือมีความหนัก เช่น ลูกปืน , ลูกธนู, ตุ้มน้ำหนัก ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวลดน้อยลงเพราะมาตรการการป้องกันต่าง ๆ รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจเป็นไปอย่างถูกต้องรัดกุมมากขึ้น ส่วนเรื่องอุปกรณ์เครื่องป้องกันไม่ให้บาดเจ็บนั้นได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้ว

3.3 สนามกีฬา โรงยิม และอุปกรณ์ของสนาม สนามกีฬาถ้าไม่ถูกต้องตามที่ควรเป็นแล้วทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ เช่น สนามไม่เรียบ ขรุขระ มีหลุมบ่อ หรือมีวัสดุที่เป็นอันตรายอยู่ พื้นของสนามหรือลู่แข่งไม่เหมาะกับประเภทของกีฬา

โรงยิมฯ หรือห้องเล่นกีฬา พื้นถ้าลื่นเกินไป, มีแสงสว่างไม่เพียงพอ, ลักษณะของห้องและการถ่ายเทอากาศไม่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ล้วนทำให้มีอุบัติเหตุตามมาทั้งสิ้น

สระว่ายน้ำ ถ้ามีความลึกไม่ได้มาตรฐานในสระโดดจะเกิดอันตรายได้ง่าย สระว่ายน้ำที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ๆ ต้องมีมาตรการต่าง ๆ ในเรื่องความปลอดภัยถูกต้องด้วย

อุปกรณ์ของสนามหรือโรงยิมเป็นเรื่องจุกจิกและมักถูกมองข้ามไป เช่น เบาะหรือฟูกมีความหนาไม่พอ เบาะไม่เรียบ มีรอยฉีกขาด มีช่องว่างระหว่างรอยต่อของเบาะ (ทำให้เท้าตกหรือพลิกล้มได้ง่าย) การเล่นยิมนาสติกก็ต้องมีแป้งโรยมือเพื่อกันลื่น, พวกขว้างฆ้อนก็ต้องมีตาข่ายเหล็กป้องกันตามแนวที่กำหนดไว้ อุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ในสนามหรือโรงยิมก็ควรมีการตรวจเช็คเสมอ ๆ

ในบริเวณบางแห่ง อาจจำเป็นต้องมีการปิดล็อคสถานที่เพื่อป้องกันการแอบไปเล่นเอง อันอาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุได้ง่าย สถานที่ดังกล่าวเช่น สระว่ายน้ำ, โรงยิมฯ ซึ่งมีอุปกรณ์ทางยิมนาสติก, เตียงสปริง (TRAMPOLINE)

4. สาเหตุการบาดเจ็บจากปัจจัยอื่น ๆ

สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้บาดเจ็บจากกีฬายังมีอีกมากมาย เช่น

4.1 ตารางการฝึกซ้อมไม่เหมาะสม การฝึกซ้อมที่ไม่เหมาะสมเช่นซ้อมไม่สม่ำเสมอ ทำบ้างหยุดบ้าง ทำไม่ได้ผล การฝึกไม่ดีพอ, การฝึกซ้อมที่หักโหมมุ่งที่จะให้ผลสมใจเร็ว ๆ โดยเฉพาะเมื่ออยากให้ได้ชนะแต่มีช่วงเวลาเก็บตัวน้อย

ตารางฝึกซ้อมที่ไม่ดี ขาดความรู้ จะทำให้นักกีฬางุนงงเบื่อหน่ายจนถึงอาจเกิดอันตรายได้ ตารางการฝึกซ้อมจึงควรทำโดยอาศัยหลักของวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยเพื่อจัดให้เหมาะสม อันไหน ก่อน-หลัง ซึ่งการฝึกซ้อมด้านกำลังและความอดทนกับฝึกเรื่องทักษะเฉพาะของกีฬานั้นต้องจัดให้ไปด้วยกันได้จึงจะทำให้การฝึกเกิดประสิทธิภาพผลมากที่สุด การฝึกซ้อมน้อยเกินไปมากเกินไปหรือฝึกซ้อมไม่ถูกต้องล้วนก่อให้เกิดโทษทั้งสิ้น (การฝึกซ้อมมากเกินไปทำให้เกิด Over training Syndrome, Exertional injuries)

4.2 สภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดบาดเจ็บได้เช่นกัน เพราะทำให้ร่างกายและจิตใจไม่พร้อมที่จะเล่น เช่นหนาวเกินไป หรือฝนตกหนัก กีฬาซึ่งต้องเล่นกลางแจ้งเช่นฟุตบอล รักบี้ฟุตบอล กรีฑา จึงได้รับผลโดยตรงจากสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม บางครั้งการมีหมอกควันมากก็ทำให้เกิดปัญหาบ่อย ๆ และเล่นพลาดจนเกิดอันตรายได้

กีฬาในร่มเอง สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมก็สำคัญเช่นกัน เช่น สภาพของโรงยิม ที่เล่นกีฬาในร่ม ซึ่งไม่มีอากาศถ่ายเทเลยเพราะไม่สามารถทำให้มีกระแสลมพัดผ่านก็ทำให้ร้อนอบอ้าวได้มาก ๆ เช่น สถานที่เล่นแบดมินตัน, เทเบิลเทนนิส (ทั้งนี้ยกเว้นสถานที่ซึ่งมีเครื่องปรับอากาศ อันตรายอาจเกิดจาก ความหงุดหงิดจากการเหนื่อยหรือจากความร้อนมากเกินไปที่สะสมในร่างกายจนทำให้เป็นลมหรือเป็นอันตรายได้

นอกจากนี้ ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ผิดแปลกแตกต่างไปจากบ้านเมืองของเรา เช่น แมกซิโกซึ่งอยู่ในที่สูงกว่าระดับทะเลมาก ๆ ก็ล้วนแต่เป็นปัญหาต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบหายใจและไหลเวียน การฝึกซ้อมมาก ๆ หรือแข่งขันในขณะที่ร่างกายยังไม่เคยชินหรือปรับตัวได้ยังไม่ดีย่อมทำให้เกิดอันตรายได้ตั้งแต่น้อย ๆ จนถึงมาก ผู้ที่จะไปแข่งขัน ณ ต่างประเทศจึงต้องไปก่อนวันแข่งสักระยะหนึ่ง (ที่ดีควรไปก่อน 1 สัปดาห์ก่อนวันแข่ง) เพื่อให้ร่างกายสามารถฝึกซ้อมและปรับสภาพได้เหมือนเดิม

4.3 จากผู้ร่วมแข่งขัน, ผู้ตัดสิน-ผู้กำกับเส้น, ผู้ฝึกสอนและโค้ช

ก. ผู้ร่วมแข่งขัน ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้มาก ๆ ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องของบาดเจ็บจากประเภทกีฬา

ข. ผู้ตัดสิน-ผู้กำกับเส้น การเล่นกีฬานั้นทุกคนก็ล้วนแล้วแต่ต้องการชัยชนะทั้งสิ้น จนบางครั้งถึงกับเล่นตุกติก จงใจฝ่าฝืนกฏกติกา ถึงขนาดเข้าทำร้ายกันก็มี ซึ่งถ้าผู้ตัดสินตามเกมไม่ทัน ผู้ตัดสินที่อ่อนในการตัดสินใจหรือขาดความเคร่งครัดในกฏระเบียบ ขาดประสบการณ์ หรือลำเอียงแล้วย่อมทำให้อีกฝ่ายเกิดความคับแค้นจนเกิดการต่อสู้ปะทะกันรุนแรงขึ้นได้ ผู้ตัดสินกีฬาและผู้กำกับเส้นจึงมีส่วนสำคัญยิ่งเสมอในกีฬาทุกประเภท โดยเฉพาะกีฬาประเภทปะทะกัน เช่น มวย, ฮ็อกกี้ รักบี้ฟุตบอล

ค. ผู้ฝึกสอน, โค้ชหรือครูทางพละศึกษา การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาบางอย่างจำเป็นต้องมีผู้ฝึกสอนหรือผู้ควบคุมดูแลคอยสอนและช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดเพราะอาจเกิดอันตรายได้ง่ายในเกือบทุกขณะ เช่น การฝึกสอนด้านยิมนาสติก, มวย, มวยปล้ำ, ว่ายน้ำ ถ้าผู้ฝึกสอนหรือครูพลศึกษาไม่เอาใจใส่เท่าที่ควรแล้วอุบัติเหตุก็เกิดตามได้ง่าย ทั้งผู้ฝึกสอนและครูพละศึกษาไม่ควรปล่อยให้เด็กว่ายน้ำตามลำพังเพราะเกิดเหตุร้ายถึงจมน้ำตายได้บ่อย ๆ

4.4 ผู้ดู-ผู้ชมกีฬา ผู้ดูก็มีส่วนทำให้นักกีฬาเกิดการบาดเจ็บได้เช่นกันโดยเฉพาะกลุ่มผู้เดือดร้อนหรือผู้ดู-ผู้ชม ซึ่งยังเด็กหรือวัยรุ่นอยู่ยิ่งเป็นแข่งขันที่ดุเดือดตื่นเต้น เช่น ชิงแชมป์โลก การแข่งขันระดับชาติด้วยแล้วยิ่งทำให้เกิดการกระตุ้นเร้าได้มาก

สาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ดูก่อเหตุร้ายได้นั้น กล่าวคือ

- ไม่พอใจที่ฝ่ายตนตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบโดยเฉพาะถ้ามีผลประโยชน์หรือการพนันบางอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งบางทีเกิดจากสภาวะทางการเมืองร่วมด้วย เช่น เป็นประเทศคู่อาฆาตหรือคู่แข่ง

- เห็นว่านักกีฬาฝ่ายตนได้รับความอยุติธรรมจากการเล่น เช่น เห็นว่ากรรมการเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่งหรือเห็นอีกฝ่ายหนึ่งเล่นเอาเปรียบฝ่ายตนแล้วกรรมการตามเกมไม่ทัน

- โกรธแค้นนักกีฬา (ฝ่ายตน) ว่าเล่นไม่สมศักดิ์ศรีหรือเล่นเหมือนมีอะไรที่สกปรกซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ เช่น ต้องการล้มบอล, ล้มมวย เป็นต้น

การบาดเจ็บจากผู้ดู-ผู้ชมในปัจจุบันพบได้บ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นจนบางท่านถึงกับพกระเบิดขวดขว้างปาเข้าไปในสนามเลยก็มี ทั้งนี้เพราะจากสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมที่เน้นความรุนแรงมากขึ้น (โดยเฉพาะสื่อสารมวลชน) ความเป็นอยู่ที่รีบเร่งขึ้นและศีลธรรมจรรยาที่นับวันจะหดหายลงทุกทีจนแม้กระทั้งคำว่า “รู้แพ้-รู้ชนะ-รู้อภัย” ซึ่งผู้ดูกีฬาที่ดีก็ควรจะมีด้วยแต่ก็ไม่มีหรือมีน้อยลงไป เราจึงได้ยินคำแสลงหูบ่อย ๆ ขณะไปชมกีฬา เช่น คำว่า “ราวี-ราวี”

4.5 ผู้ปกครอง พ่อแม่ หรือญาติของนักกีฬาก็มีส่วนหรือเป็นสาเหตุให้นักกีฬาบาดเจ็บได้โดยตรงหรือโดยทางอ้อม โดยเฉพาะในรายที่ยังเป็นเด็กเล็ก หรือวัยรุ่นอยู่ เช่น ยั่วยุให้เด็กเล่นหรือฝ฿กซ้อมมากเกินกำลังเนื่องจากหวังในตำแหน่งชนะเลิศ ความอยากมีหน้ามีตา อยากให้ลูกของตนเด่น เหล่านี้เป็นต้น

จะเห็นว่าสาเหตุของการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาและออกกำลังกายนั้นมีได้หลาย ๆ ทาง จึงอยากให้คำขวัญสั้น ๆ อันหนึ่งไว้เตือนใจเสมอว่า

“เล่นกีฬาอย่าประมาท ถ้าพลาดพลั้งจะเสียใจ”

จาก…วารสารสุขภาพสำหรับประชาชน
ของแพทยสมาคมและแพทยสภา

ปีที11 ฉบับที่ 5 มีนาคม 2526