การออกกำลังกายในผู้หญิง

 

 

           ในการออกกำลังกายโดยทั่ว ๆ ไปนั้น ไม่มีความแตกต่างกันมากนักระหว่างชาย และ หญิง หรือจะพูดว่า การออกกำลังกาย อะไรที่ผู้ชายทำได้ผู้หญิงก็จะทำได้ด้วย แต่อาจมีข้อยกเว้นบางประการ เพราะมีบางเรื่องที่เกิดกับผู้หญิง แต่ไม่เกิดในผู้ชาย เช่น เรื่อง ของการมีรอบเดือน หรือการตั้งครรภ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นภาวะที่อาจมีผลต่อการออกกำลังกายได้

            ถ้าเปรียบเทียบลักษณะโดยทั่ว ๆไปของชายและหญิงแล้วจะพบว่า ในวัยเด็กก่อนที่จะมีอายุ 10-12 ปีนั้น เด็กชายและหญิง จะมีความสามารถทางกายพอ ๆ กัน รวมทั้งรูปกายก็ไม่แตกต่างกันมากด้วย

          เรื่องที่น่าสนใจในการออกกำลังกายของผู้หญิงคือเรื่องประจำเดือน เพราะมีผู้สงสัยกันมากว่า ในขณะที่กำลังมีประจำเดือน นั้นจะออกกำลังกายได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเรื่องนี้นักเรียนหรือนักกีฬาหญิงเคยใช้อ้างเพื่อยกเว้นการเล่นกีฬาหรือ ออกกำลังกาย มานานแล้ว

            นักสรีรวิทยาเกี่ยวกับการออกกำลังกายส่วนใหญ่จะถือว่า เรื่องการมีประจำเดือนนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติของผู้หญิง หาใช่สิ่งที่ ผิดปกติแต่อย่างใดไม่ ดังนั้นหากไม่มีอาการที่ผิดปกติร่วมด้วยแล้ว การมีประจำเดือนก็ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อ การออกกำลังกาย แต่อย่างใด นอกจากว่าจะมีปัญหาอื่น เช่น การลงว่ายน้ำในสระ อาจเกรงว่าจะทำให้สกปรกได้ เรื่องนี้ ดร.เอ.ไรอัน เคยกล่าวไว้ว่า ผู้ที่กำลังมีประจำเดือน หากใช้ผ้าอนามัยชนิดสอดเข้าในช่องคลอดได้กระชับดีแล้ว ก็ไม่น่ามีปัญหาที่จะลงว่ายน้ำในสระแต่อย่างใด

            การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่หนักมาก ๆ นั้นมีผลต่อประจำเดือนของสตรีได้ เช่น ผู้ที่วิ่งมาก ๆ อาจทำให้ประจำเดือน ลดน้อยลง หรือถึงกับขาดประจำเดือนไปเลยก็ได้ เคยมีผู้ทำการวิจัยพบว่า

            นักวิ่งระยะไกลที่วิ่งมากกว่าสัปดาห์ละ 30 ไมล์ หรือ 48 ก.ม. จะมีประจำเดือนขาดหายไปถึงร้อยละ 35 เทียบกับผู้หญิงที่ ไม่ได้วิ่งซึ่งจะมีอัตราที่ประจำเดือนผิดปกติขาดหายไปเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น

            การขาดหายไปของประจำเดือนในนักวิ่งนั้น ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน แต่เกี่ยวกับระยะที่วิ่งแน่นอน ถ้ายิ่งวิ่งมากโอกาส ที่ประจำเดือนจะขาดก็มีมาก

            นอกจากนี้ยังเชื่อว่า การที่ปริมาณของไขมันลดลงในนักวิ่งหญิงนั้นอาจเป็นเหตุเสริมที่ทำให้ประจำเดือนน้อยลงด้วย ทั้งนี้ รวมถึงความเครียดที่เกิดขึ้นในนักวิ่งที่ทำการวิ่งแข่งขันด้วย

            การขาดหายไปของประจำเดือนในนักวิ่งหรือนักกีฬานั้น เป็นการขาดที่ไม่ถาวร เมื่อใดที่หยุดออกกำลังอย่างหนัก ประจำเดือนก็จะกลับคืนมาเป็นปกติ

            นายแพทย์คูเปอร์ ซึ่งเชียร์การวิ่งอยู่มาก ยังเขียนไว้ในหนังสือของเขาที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 ว่า "ผู้หญิงที่ตรวจพบว่า มีครรภ์แน่แล้ว ไม่ควร ออกกำลังกายที่รุนแรง เช่น การวิ่ง "

ผู้เขียนเองเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า

            "ถ้าท่าน ไม่ได้ติดการวิ่ง จนหยุดไม่ได้เลยแล้ว ระหว่างที่ตั้งครรภ์น่าจะเปลี่ยนไปออกกำลังกายอย่างอื่นที่เบากว่า และเสี่ยงต่อ อันตรายน้อยกว่า เช่น เดิน หรือว่ายน้ำอย่างสบายๆ หรือทำกายบริหารจะดีกว่า ยิ่งถ้าเป็นผู้ที่มีประวัติการแท้งมาก่อนแล้ว ยิ่งต้องระวัง เป็นพิเศษ "

            การออกกำลังกายที่หนัก ๆ นั้นย่อมทำให้ความร้อนในร่างกายสูงขึ้นอันเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ของทารกในครรภ์ นอกจาก นี้การที่เลือดต้องถูกส่งไปยังกล้ามเนื้อมาก ๆ ย่อมทำให้เลือดที่ไปยังมดลูกน้อยลงได้ และไม่เป็นผลดีต่อทารกเช่นกัน

            สรุปว่า การออกกำลังกายในระหว่างที่ตั้งครรภ์อยู่นั้น จะต้องทำด้วยความระวัง และควรเลือกออกกำลังกายที่พอเหมาะพอดี จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของทั้งแม่และเด็กในท้อง รวมทั้งช่วยให้คลอดได้ง่ายขึ้นด้วย การปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลอยู่เป็น วิธีที่ดี และปลอดภัยที่สุด

            สำหรับผู้หญิงที่มีปัญหาเรื่องอารมณ์ที่แปรปรวนในวัยที่เลือดจะไป และลมจะมา คือในระยะที่จะหมดประจำเดือนนั้น ลองมาออกกำลังกายดูซิครับ อาจทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องใช้ยาเลยก็ได้ และที่เกิดประโยชน์อย่างแน่ ๆ ก็คือการบางลง ของกระดูกที่จะต้องเกิดขึ้นในวัยนี้ จะเกิดช้าลงมากทีเดียว

( หนังสือ คู่มือออกกำลังกาย ศ.น.พ.ดำรง กิจกุศล )