วิ่งทำไม          

 

   ตอนที่ 1  

 โดย... พิสิษฐ์ จิรภิญโญ

 

นักวิ่งแทบทุกคนมักเจอคำถามนี้ บางทีคนที่ถามมักจะถามด้วยความฉงนที่อยู่ดีๆก็เห็นนักวิ่งคนนี้ สวมใส่ชุดวิ่งออกไป วิ่งจนเหงื่อไหลไคลย้อย บางครั้งถึงกับหอบจนลิ้นห้อย แทบจะขาดใจตาย แทนที่จะนั่งดูโทรทัศน์ หรือนอนเอกเขนกอยู่กับบ้าน มีลมเย็นๆพัดมาสบายๆ เพราะคนที่ถามว่า วิ่งไปทำไมนั้นไม่เข้าใจซาบซึ้งถึงเหตุผลที่นักวิ่งตัดสินใจที่จะวิ่ง

 

ใครจะเปรียบเทียบนักวิ่งเหมือนคนที่ติดยาเสพติด ใครจะอ้างว่านักวิ่งนั้นวิ่งเพื่อรักษาสุขภาพ ใครจะกล่าวหาว่า คนที่วิ่งอยู่ทุกวี่ทุกวันนั้นคือคนบ้า ก็ปล่อยให้คิดไปว่าไป เรามาติดตามแนวคิดของ นักวิ่งทั่วโลกว่าเขาวิ่งกันไปเพื่ออะไรเพราะอะไร

 

นักวิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากหนังสือขายดีชื่อ เดอะ คอมพลีตบุค ออฟ รันนิ่ง เขียนโดย เจมส์ ฟิกส์ ออกสู่ตลาดได้ไม่นาน ข้อความตอนหนึ่งพูดถึง การวิ่งว่า ไม่ใช่เรื่องน่าฉงน ที่คน เราจะมาวิ่งถ้าเรามองย้อนหลังไปสักหมื่นปี บรรพบุรุษของเรา กินแต่ผลไม้และเมล็ดพืช เพื่อยังชีพ และ รักษาปอดและหัวใจให้ทำงานเป็นปรกติด้วยการเคลื่อนไหวอยู่อย่างสม่ำเสมอ นักวิ่งในปัจจุบันจึงไม่ได้ ถือว่าการวิ่งเป็นสิ่งผิดปรกติเพราะเราเพียงแต่รับถ่ายทอดนิสัยการวิ่งมาจากบรรพบุรุษของเราเท่านั้น นั่นคือการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

 

แม้แต่ภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่น ก็ได้เลือกใช้ คำว่า “สิ่งที่เคลื่อนไหวได้” ให้หมายถึง สัตว์ ภาษาอังกฤษ เรียก แอนิมอล ซึ่งแปลตรงๆว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวได้ และในภาษาไทยซึ่งใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็เขียนไว้ว่า สัตว์ เป็นสิ่งมีชีวิต ที่มีความรู้สึกและเคลื่อนไหวย้ายที่ไปได้เอง  แสดงว่าทุกชาติทุกภาษาคิดอย่างเดียวกัน การเคลื่อนไหวคือคุณลักษณะพื้นฐานของ สัตว์ทุกประเภท คนก็เป็นผลของการพัฒนามาจากสัตว์เมื่อหลายหมื่นปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นการ เคลื่อนไหวจึงเป็น สิ่งปรกติของมนุษยชาติ

 

การที่จะกล่าวว่าคนเราต้องเคลื่อนไหวนั้น ไม่ใช่สิ่งผิดปรกติ และการเคลื่อนไหวมักมีจังหวะจะโคน ตาม ธรรมชาติ เช่นในยามที่หนีภัย สัตว์จะต้องเคลื่อนไหวด้วยความเร็ว ในยามที่สัตว์ไล่ล่าเหยื่อก็ต้อง เคลื่อนไหว ด้วยความเร็ว ในยามปรกติสัตว์จะเคลื่อนไหวเพื่อหาอาหารเป็นการยังชีพเป็นต้น จึงถือว่า การเคลื่อนไหว เป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตอยู่

 

ทุกวันนี้คนเราส่วนใหญ่รักที่จะเคลื่อนไหว แต่ลักษณะการเคลื่อนไหวนั้นแตกต่างกันไปตามสิ่ง แวดล้อม ถ้าจะยกตัวอย่างเปรียบการเคลื่อนไหวของแมลงเต่าทองตัวน้อยๆก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น เจ้าแมลงเต่าทองที่มีชื่อเรียก เป็นภาษาอังกฤษว่า ไทเกอร์บีทเทิล นั้นชอบแสงแดด เต่าทองพันธุ์นี้ มีขายาว จะวิ่งได้เร็วมากในแสงแดดจนเราแทบจะไม่เห็นขาทั้งหกของมันเลยในขณะที่มันวิ่งอยู่ ถ้าสัตรูวิ่งไล่มาทัน เจ้าเต่าทองพันธุ์ไทเกอร์นี้จะ ตีปีกอย่างเร็วแล้วบินหนีไป  แต่ในวันที่คลื้มฟ้าคลื้มฝน เจ้าเต่าทองจะไม่ออกมาเดินเล่น หรือถ้าออกมา ก็วิ่งไม่ได้ความเร็วแถมยังบินหนีสัตรูไม่เป็นอีกต่างหาก

 

นักชีววิทยาได้ศึกษาความมหัศจรรย์ของแมลงนักวิ่งเหล่านี้พบว่า แมลงที่มีขาลีบเรียว มีกล้ามเนื้อที่ยึด ต้นขาไว้อย่างเหนียวแน่น แต่ต้องมีอุณหภูมิที่สูง แมลงเต่าทองที่ว่านี้สามารถวิ่งเพิ่มความเร็วเป็น 4 เท่าตัว เมื่ออุณภูมิเพิ่มจาก 28 องศา เป็น 35 องศา และเมื่อความเร็วเพิ่มขึ้นมาก แมลงนี้ก็จะบินได้ คนเราแตกต่างจากแมลงเต่าทองโดยที่ร่างกายของเรามีอุณหภูมิสูงพอที่จะวิ่งได้เร็วโดยไม่ต้องพึ่งพา แสงอาทิตย์

 

พูดถึงความเร็วแล้วทำให้เรานึกถึงการล่ากวางของอินเดียนแดง กวางเป็นสัตว์วิ่งได้เร็วและแถมยัง กระโดดไกลได้อีกด้วย นับเป็นยอดนักวิ่งที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติทุกประการ แต่อินเดียนแดง ก็สามารถไล่ล่ากวางป่าได้ด้วยความอึด โดยวิ่งไล่ตามอย่าง กระชั้นชิดและไม่ย่อท้อ จนเจ้ากวาง หมดแรงไปเอง ความอึดที่ว่านี้คือคุณสมบัติสำคัญของนักวิ่งระยะยาว

 

เคล็ดลับของนักวิ่งทางไกลคืออะไร ภาพของนักวิ่งที่ลอยตัวอยู่ในอากาศ คือกุญแจดอกสำคัญที่จะ ไขข้อข้องใจและอธิบายถึงความสำเร็จของนักวิ่งทางไกล นักวิ่งทางไกลที่วิ่งได้เร็วมักจะมีรูปร่างเพรียว น้ำหนักตัวไม่มากนัก ทำตัวให้พริ้วลมได้เหมือนนก กล้ามเนื้อของนักวิ่งกำลังเผาผลาญไขมันที่เก็บไว้ แต่ต้องการออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงตลอดเวลาที่วิ่งอยู่ ความสามารถในการลำเลียงออกซิเจนสู่ กล้ามเนื้อ ทุกส่วนในขณะวิ่งระยะทางไกลคือการทดสอบให้รู้ถึงขีดจำกัดของนักวิ่งคนนั้น เลือดในตัวเราเป็น พาหะสำคัญในการลำเลียงออกซิเจน ขณะที่เราวิ่งด้วยความเร็วเม็ดเลือดจะสูบฉีดด้วยความเร็ว เป็นร้อยเท่า ของความเร็วในยามปรกติ เม็ดเลือดแดงในร่างกายคนเรามีจำนวน 25 ล้านล้านเม็ด และในแต่ละเม็ดมีโปรตีนที่มีธาตุเหล็กอยู่ถึงนับล้านโมเลกุล ในแต่ละโมเลกุลจะรับออกซิเจน 4 โมเลกุล จากปอดเพื่อนำส่งไปให้กล้ามเนื้อ

 

กล้ามเนื้อของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขาเมื่อวิ่งระยะทางไกลจะเผาผลาญไขมันและต้องการออกซิเจน มิฉะนั้นแล้วภายในเซลล์ของกล้ามเนื้อจะเกิดกรดแลคติคซึ่งเป็นตัวการให้เกิดความเมื่อยล้า อย่างไรก็ ตาม การลำเลียงออกซิเจนของแต่ละคนมิได้มีอัตราความเร็วที่เท่ากัน การขาดออกซิเจน เปรียบเสมือน รถยนต์ที่ขาดเชื้อเพลิง ย่อมวิ่งต่อไปไม่ได้ แต่คนเราเก่งกว่ารถยนต์ตรงที่ เมื่อออกซิเจนลดน้อยลง ร่างกายจะส่งสัญญาณด้วยการแสดงอาการอ่อนปวกเปียกลง เป็นเหตุให้เราวิ่งช้าลงโดยอัตโนมัติ โดยที่ออกซิเจนในกล้ามเนื้อยังมีเหลืออยู่บ้าง นักวิ่งที่สะสมพลังไว้ก็จะเรียกพลังที่จัดเก็บไว้มาใช้ ทดแทนการขาดส่งของท่อลำเลียงของเชื้อเพลิงที่ป้อนมา

 

นักวิ่งยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านจิตวิทยา หลังจากวิ่งไปเป็นระยะทางไกล ร่างกายจะขับความร้อน ออกมาพร้อมกับน้ำในรูปของเหงื่อเพื่อระบายความร้อน อาการเหล่านี้มีผลกับการควบคุมอัตราส่วน ของน้ำและเกลือแร่ภายในร่างกาย มีผลกระทบกับการหมุนเวียนของเลือดภายใต้ผิวหนัง  ตับและไต ยังต้องควบคุมกรรมวิธีการย่อยกากอาหารในขณะวิ่ง ไม่มีส่วนไหนของร่างกายต้องหยุดทำงานอันสืบ เนื่องมาจากการวิ่ง  ความมหัศจรรย์ของร่างการในขณะที่วิ่งระยะทางไกลคือการการควบคุมการทำงาน ของร่างกายให้เข้าสู่กระบวนการ “วิกฤติ” โดยให้จังหวะการขับเคลื่อนของเท้าทั้งสอง แขนทั้งสอง ให้สมดุลย์กับจังหวะการหายใจ และการเต้นของหัวใจได้อย่างน่าอัศจรรย์

 

เรายังไม่ได้คำตอบว่า คนเราทำไมต้องวิ่ง หลังจากอารัมภบทมาอย่างยาวยืด ก่อนจะค้นหาคำตอบเรา ลองมาศึกษาความอึดของสัตว์และแมลงต่างๆเพื่อเป็นข้อสังเกต แล้วโยงมาหาวัตถุประสงค์ของเราใน การค้นหาคำตอบว่า เราวิ่งทำไม หรือทำไมเราต้องวิ่ง (ยังมีต่อ)

 

หมายเหตุ ผู้เขียนเป็นนักวิ่งมาหลายสิบปีและพยายามค้นหาคำตอบว่า ทำไมจึงมาวิ่ง และมีโอกาสอ่าน หนังสือของนักเขียนมากมายหลายเล่มเกี่ยวกับการวิ่งมาราธอน (ได้ทำรายชื่อหนังสือที่ใช้อ้างอิงไว้ ตอนท้ายของตอนจบของบทความนี้) จึงรวบรวมมาเรียบเรียงให้เพื่อน นักวิ่งได้อ่าน โดยหวังว่าจะเป็น ประโยชน์กับเพื่อนนักวิ่งที่กำลังฝึกซ้อมร่างกายเพื่อเตรียมจะลงแข่ง กรุงเทพฯมาราธอน 2002 ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2545 นี้