วิ่งอยู่กับที่

linesbar.gif (1687 bytes)

           การวิ่งอยู่กับที่ก็คล้าย ๆ กับการกระโดดเชือก เป็นการกระโดดซอยเท้าอยู่กับที่เดิมนั่นเอง ไม่ไปไหน ต่างกันที่การวิ่งอยู่กับที่ ตามแบบแอโรบิคนั้นต้องจะต้องยกเท้าให้สูงพอสมควร ตามกติกาของ นายแพทย์คูเปอร์ นั้น การวิ่งอยู่กับที่จะต้องยกเท้าแต่ละข้าง ให้สูงพ้นพื้นขึ้นมาไม่น้อยกว่า 20 เซ็นติเมตร หนักและเหนื่อยพอดูทีเดียว ดีกว่ากระโดดเชือกนิดหนึ่งตรงที่ไม่ต้องแกว่งแขนทั้ง 2 ข้างไปด้วย

          เหตุที่บางคนเลือกเอาการวิ่งอยู่กับที่แทนการวิ่งไปตามถนนนั้น อาจเพราะหาถนนหรือสวนสาธารณะที่เหมาะแก่การวิ่งไม่ได้ หรืออาจจะเพราะเป็นคนขี้อายและรู้สึกเขินที่จะวิ่งไปท่ามกลางสายตาผู้อื่น หรือบางคนอาจกลัวอุบัติเหตุถูกรถเฉี่ยว รถชน หรือถูกจี้ ถูกสุนัขไล่กัดก็ได้ คงจะคล้ายกับการถีบจักรยานอยู่กับที่ และการถีบจักรยานนอกบ้านนั่นเอง

          การวิ่งอยู่กับที่นั้นทำได้สะดวกในทุกๆ ที่ อาจทำที่ระเบียงบ้าน ห้องรับแขก (เวลาที่ไม่มีแขก ) ในห้องนอน หรือแม้ในห้องน้ำ ก็ทำได้ ผู้เขียนทราบว่ามีบางคนชอบเปลือยกายวิ่งอยู่กับที่ในห้องน้ำ บอกว่าเบาและสบายตัวดี ซึ่งไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด ขอเพียงแต่ ให้ระวังพื้นห้องน้ำที่เปียก หรือลื่นเพราะฟองสบู่ก็แล้วกัน

          สำหรับคุณผู้หญิงที่กลัวว่าวิ่งแล้วจะถูกแดดถูกลม ทำให้เกิดไฝฝ้าและผิวหมองคล้ำแล้ว การวิ่งอยู่กับที่ในที่ร่ม ย่อมรับรองได้ว่า พ้นแน่แต่ที่จะเกิดไฝฝ้าหรือไม่นั้นยังรับรองไม่ได้ เพราะมีปัจจัยอื่นที่นอกจากแดดลมมาเกี่ยวข้องด้วย

          ข้อเสียเปรียบอีกอย่างหนึ่งของการวิ่งอยู่กับที่ก็คือ มีการเคลื่อนไหวของข้อต่างๆ น้อย คือไม่มีโอกาสที่จะเหยียดหรืองอได้มาก เท่าการวิ่งอย่างธรรมดา กล้ามเนื้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้รับการบริหารน้อยกว่า คือไม่ได้ยืดหรือได้หดอย่างเต็มที่ ประโยชน์ที่ควรจะ ได้รับในแง่ของความยืดหยุ่นจึงน้อยลงด้วย

          สำหรับวิธีวิ่งอยู่กับที่นั้นไม่มีความยุ่งยากอะไร เพียงแต่ให้เริ่มช้า ๆ อย่าหักโหม โดยทั่วไปนิยมที่จะเริ่มด้วยความเร็วประมาณ 70-80 ก้าวต่อ นาที การนับนั้นให้นับเฉพาะเมื่อเท้าข้างซ้ายลงมากระทบพื้นเท่านั้น ข้างขวาไม่ต้องนับ แต่ถ้าใครจะนับแต่ข้างขวา โดยไม่นับข้างซ้ายก็คงไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด ขอแต่ว่าถ้าจะนับข้างไหนก็ให้นับข้างนั้นให้ตลอด ไม่ใช่นับขวาบ้าง ซ้ายบ้าง เดี๋ยวยุ่งตาย

         เมื่อได้วิ่งจนรู้สึกแข็งแรงขึ้นแล้ว เหนื่อยน้อยลงแล้ว ก็ให้เพิ่มความเร็วของการวิ่งให้มากขึ้นเป็น 90-100 ก้าวต่อนาที ได้ โปรดสังเกตว่าความเร็วนี้น้อยกว่าการกระโดดเชือก ทั้งนี้เพราะการวิ่งอยู่กับที่นั้นต้องยกเท้าสูงกว่าคือประมาณ 20 เซ็นติเมตร ส่วนการกระโดดเชือกนั้นจะยกเท้าสูงเพียงให้เชือกรอดผ่านไปได้เท่านั้น

          ผู้เขียน (ศ.นพ.ดำรง กิจกุศล) มีความเห็นว่า การวิ่งอยู่กับที่นี้ก็คล้ายการกระโดดเชือก คือไม่ควรใช้เป็นการออกกำลัง แบบแอโรบิคเพียงชนิดเดียว เพราะหากทำติดต่อกันเป็นเวลานานอาจบาดเจ็บได้ง่าย นอกจากนี้ประโยชน์ที่จะเกิดกับกล้ามเนื้อ และข้อต่าง ๆ ก็น้อยกว่าการวิ่งธรรมดาเราจึงควรใช้การวิ่งอยู่กับที่เป็นการออกกำลังกายร่วมหรือเสริมกับการออกกำลังกายชนิดอื่น หรือใช้เป็นการสลับเพื่อป้องกันการเบื่อหรือจำเจ เว้นเสียแต่ท่านจะลงมือซื้อเครื่องมือที่มีพื้นเลื่อนได้ (tread mill ) หรืที่บางคนเรียกว่า " สายพาน " ซึ่งมีอยู่มากมายหลายแบบ ราคาแตกต่างกัน เครื่องนี้จะช่วยให้เดินหรือวิ่งไปได้คล้ายธรรมชาติ แม้การเดินหรือวิ่งนั้น จะทำให้ตัวอยู่ที่เดิมก็ตาม

          ปัจจุบันมีการนำเอาแผงสปริงขนาดเล็ก ( minitrampoline ) มาใช้ในการออกกำลังกายกันมากขึ้น แผงนี้มีลักษณะกลม ๆ สูงจาก พื้นเล็กน้อย ปูหรือขึงไว้ด้วยวัสดุที่ยืดหยุ่นได้ (มีขายตามร้านเครื่องกีฬาใหญ่ ๆ ในบ้านเรา ) ความยืดหยุ่นของวัสดุที่ขึงอยู่จะช่วยลด หรือดูดซับแรงกระแทกที่จะเกิดกับเท้าได้เป็นอย่างดี

          เป็นที่ยอมรับกันว่า การวิ่งหรือกระโดดบนแผงมินิแทรมโปลีนนี้ช่วยลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและข้อลงได้ แต่การกระโดด ก็ต้องระวังให้ดีอย่าเผลอกระโดดจนตัวลอยหลุดออกจากขอบ หรือออกนอกวงไปได้

          อย่างไรก็ตาม การโฆษณาที่ว่า การวิ่งบนมินิแทรมโปลีนจะใช้พลังงานมากว่าการวิ่งอย่างธรรมดามากมายนั้นไม่เป็นความจริง เพราะ จากการศึกษาของหลาย ๆ สถาบันในสหรัฐอเมริกาพบว่า ไม่ได้เป็นไปอย่างที่โฆษณาเลย ตรงกันข้าม การวิ่งบนมินิ แทรมโปลีนนั้นร่างกายจะใช้พลังงานน้อยกว่าการวิ่งอยู่กับที่บนพื้นธรรมดาด้วยซ้ำไป

จากหนังสือ คู่มือออกกำลังกาย โดย ศ.นพ.ดำรง กิจกุศล